CubeSat ดาวเทียมพลังน้ำขนาดจิ๋วกับเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่…ไปให้ถึงดวงจันทร์

ทีมนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลที่นำโดยอดีตหัวหน้าผู้เชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีของนาซา Mason Peck กำลังพัฒนาดาวเทียมต้นทุนต่ำ ขนาดเล็กเท่ากล่องซีเรียลที่ชื่อ CubeSat ซึ่งมีระบบขับเคลื่อนที่ใช้พลังงานจากน้ำ เพื่อส่งออกไปสำรวจอวกาศและโคจรรอบดวงจันทร์

โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของ Cube Quest Challenge ขององค์การอวกาศนาซา ซึ่งเป็นการแข่งขันออกแบบและสร้างดาวเทียมขนาดเล็กที่สามารถปฏิบัติงานสำรวจอวกาศได้ทั้งบริเวณใกล้และไกลถึงดวงจันทร์ โดยมีรางวัลทั้งหมดถึง 5.5 ล้านเหรียญดอลลาร์

“เรามีเป้าหมายที่สำคัญมาก นั่นคือการแสดงให้เห็นว่าคุณสามารถใช้น้ำเป็นเชื้อเพลิงจรวดได้” Peck กล่าว

ดาวเทียมทั้งหมดจะทำจากวัสดุที่หาได้ง่าย รวมทั้งเชื้อเพลิงที่มีราคาถูกที่สุดคือน้ำ CubeSat ประกอบด้วยชิ้นส่วนแบ่งครึ่งเป็นคู่แฝดรูปตัว L สองชิ้น ซึ่งจะแยกออกจากกันและค่อยๆแยกกันมุ่งหน้าไปสู่ชั้นบรรยากาศของดวงจันทร์ คู่แฝดทั้งสองส่วนจะหมุนไปในขณะที่แยกตัวออกจากกันเพื่อให้มีความมั่นคงและรักษาความสมดุล

cubesat-2

ด้วยพลังงานจากแสงอาทิตย์ น้ำที่เก็บไว้ในถังด้านล่างของตัว L จะถูกทำให้สลายตัวกลายเป็นก๊าซไฮโดรเจนและก๊าซออกซิเจนเพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิง และเชื้อเพลิงจะขับเคลื่อนดาวเทียมแฝดรูปตัว L เข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์

นอกเหนือจากการใช้น้ำเป็นพลังงานแล้ว ทีมงานยังกำลังทำงานในเรื่องเทคโนโลยีหลักอื่นอีกคือ เครื่องมือสำรวจ กล้องบนยานจะถ่ายภาพของโลก ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ เพื่อติดตามตำแหน่งของพวกมันในอวกาศ

นักวิจัยบอกว่ายานอวกาศพลังน้ำไม่ต้องพึ่งพาทรัพยากรของโลกมากนัก เพราะสามารถเติมเชื้อเพลิงโดยใช้น้ำแข็งที่พบบนดาวเคราะห์น้อย

“ปัจจุบันนี้เราใช้จรวดในการส่งทุกอย่างขึ้นสู่วงโคจร มันเป็นวิธีเดียวที่เราจะส่งอะไรก็ตามขึ้นสู่อวกาศ” Peck กล่าว “ถ้าเราสามารถเติมเชื้อเพลิงยานอวกาศในขณะที่กำลังอยู่ในอวกาศ มันจะหมายถึงว่าเราสามารถไปได้ไกลกว่า อาจจะเร็วขึ้น อาจจะประสบความสำเร็จมากขึ้น และเราจะไม่ต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงจากโลก”

ทีมของ Peck ที่ใช้ชื่อว่า Cislunar Explorers กำลังแข่งขันภาคพื้นดิน (Ground Tournament) ครั้งที่สามจากทั้งหมดสี่ครั้ง ถ้าหาก CubeSat สามารถติดหนึ่งในสามจากการแข่งขันภาคพื้นดิน มันจะถูกนำไปทดสอบในอวกาศโดยนาซาในปี 2018

 

ข้อมูลและภาพจาก  iflscience, natureworldnews

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *