นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่าอ่างเก็บน้ำคือแหล่งสำคัญของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

เขื่อนและอ่างเก็บน้ำที่เราใช้ในการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำและการชลประทานเป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก ในแต่ละปีอ่างเก็บน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้นทั่วโลกได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 1 พันล้านตัน ซึ่งมากกว่าทั้งหมดของประเทศแคนาดา

นักวิทยาศาสตร์ให้ความสนใจและติดตามเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2000 งานวิจัยส่วนใหญ่จะมุ่งไปที่อ่างเก็บน้ำที่ใช้ผลิตไฟฟ้า นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอชิงตันสเตตได้รวบรวมงานวิจัยก่อนหน้านี้เพื่อตรวจสอบอ่างเก็บน้ำและก๊าซเรือนกระจกหลายๆชนิด

พวกเขาพบว่าอ่างเก็บน้ำทุกชนิดทั้งเพื่อผลิตไฟฟ้า ป้องกันน้ำท่วม และการชลประทาน ที่อยู่ด้านหลังเขื่อนนับล้านเขื่อนทั่วโลกได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกันราว 1.3 เปอร์เซ็นต์ของทั้งโลก มากกว่าที่เคยประมาณการไว้มาก และตัวหลักคือก๊าซมีเทน (CH4)

“เรารู้สึกว่าก๊าซมีเทนอาจจะมีส่วนสำคัญไม่น้อย แต่เราต้องประหลาดใจที่พบว่ามันสำคัญมากที่สุด” Bridget Deemer หัวหน้าทีมวิจัยกล่าว “มันมีส่วนช่วยให้เกิดภาวะโลกร้อนถึงราว 80 เปอร์เซ็นต์จากทั้งหมดของก๊าซที่มาจากอ่างเก็บน้ำ”

ก๊าซมีเทนเป็นก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลต่อภาวะโลกร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ถึง 84 เท่า เหตุผลที่อ่างเก็บน้ำปล่อยก๊าซมีเทนมากคือ เมื่อดินที่อุดมด้ายคาร์บอนจมน้ำพวกมันจะคายก๊าซออกซิเจน ซึ่งช่วยให้จุลินทรีย์เจริญเติบโต จุลินทรีย์หายใจเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไป แต่จะผลิตก๊าซมีเทนออกมา นี่คือเหตุผลเดียวกับที่หนองน้ำมักจะมีกลิ่นเหมือนตด

“เราพบว่าการปล่อยก๊าซมีเทนต่อพื้นที่ของอ่างเก็บน้ำสูงกว่าที่คิดไว้ก่อนหน้านี้ราว 25 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเราคิดว่าเป็นผลมาจากความนิยมสร้างเขื่อนทั่วโลกที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน” Deemer กล่าว

ต้องนับว่าโชคดีที่การค้นพบนี้อยู่ในช่วงที่ผู้นำของโลกกำลังจะทำข้อตกลงที่จะเริ่มขั้นตอนในการทำระบบเศรษฐกิจที่ไม่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เราจะตัดสินใจได้ดีขึ้นว่าควรจะลดก๊าซเรือนกระจกอย่างไร

การแก้ไขปัญหาแน่นอนว่าไม่ใช่การเลิกใช้อ่างเก็บน้ำ แต่เป็นการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและหาทางให้ลดลงเท่าที่เราทำได้ งานข้างหน้าจึงท้าทายพวกเรามากกว่าที่คิด

 

ข้อมูลและภาพจาก gizmodo, washingtonpost

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *