อ็องรี รูโซ จิตรกรไร้ครูผู้สร้างศิลปะไร้เดียงสาที่โดดเด่นเหนือจินตนาการ

อ็องรี รูโซ (Henri Rousseau) เป็นจิตรกรผู้เขียนภาพในแนวศิลปะไร้เดียงสา (Naive Art) ที่มีสไตล์เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัวไม่มีใครเหมือน รูโซเขียนภาพในสไตล์ที่เขาพัฒนาขึ้นด้วยตัวเอง มีความเรียบง่าย จริงใจ ไร้เดียงสา คล้ายภาพวาดของเด็ก สัดส่วน การจัดองค์ประกอบ และการใช้สีในภาพแปลกประหลาดแตกต่างจากศิลปินอื่นอย่างมาก เขานิยมเขียนภาพป่าดงดิบที่มีต้นไม้ ใบไม้ ดอกไม้ที่โดดเด่นด้วยรูปร่างและสีสันอันแปลกตา ผลงานสำคัญของเขาส่วนใหญ่จึงเป็นภาพที่มีป่าแปลกประหลาดในจินตนาการเป็นองค์ประกอบสำคัญ แต่ภาพที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากที่สุดของเขากลับเป็นภาพ The Sleeping Gypsy ซึ่งไม่มีป่าเป็นส่วนประกอบอยู่เลย ยามมีชีวิตรูโซเป็นตัวตลกของวงการในสายตานักวิจารณ์ แต่หลังจากเสียชีวิตเขากลับมีชื่อเสียงอย่างมาก รวมทั้งยังมีอิทธิพลอย่างสูงต่อศิลปินสมัยใหม่อีกหลายรุ่น

 
เรียนเขียนภาพจากธรรมชาติด้วยใจรัก

henri-rousseau-early-works-02

 
อ็องรี รูโซ เป็นชาวฝรั่งเศส เกิดเมื่อปี 1844 ที่เมือง Laval ทางตะวันตกของประเทศฝรั่งเศสในครอบครัวของช่างบัดกรีฐานะไม่สู้ดี รูโซเรียนหนังสือจนถึงระดับมัธยมที่เมืองบ้านเกิด ผลการเรียนอยู่ในระดับปานกลางแต่มีความสามารถทางด้านการวาดรูปและเล่นดนตรีได้อย่างยอดเยี่ยมอยู่ในระดับแนวหน้าของโรงเรียน หลังจบชั้นมัธยมปลายรูโซทำงานกับทนายความพร้อมกับเรียนวิชากฎหมายไปด้วยอยู่ระยะหนึ่งจนถึงปี 1863 จึงเข้ารับราชการทหารในกองทัพนาน 4 ปี ในระหว่างนั้นเขามีโอกาสได้พบกับทหารที่รอดชีวิตจากการไปทำสงครามที่ประเทศเม็กซิโกซึ่งได้เล่าให้เขาฟังเกี่ยวกับภูมิประเทศและป่าไม้ที่แปลกใหม่ของดินแดนในเขตกึ่งร้อนชื้น เขารับฟังอย่างหลงใหลและสิ่งนี้ได้ฝังอยู่ในความทรงจำเรื่อยมาจนนำไปสู่องค์ประกอบสำคัญของผลงานในอนาคตของเขา

ปี 1868 พ่อของเขาเสียชีวิตรูโซที่ต้องเลี้ยงดูแม่ชราจึงออกจากกองทัพไปทำงานที่กรุงปารีส เริ่มจากการเป็นผู้ช่วยผู้บังคับการเรือจนถึงปี 1871 เขาจึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าหน้าที่เก็บภาษีสินค้าที่นำเข้ากรุงปารีสอันเป็นตำแหน่งงานประจำที่เขาทำนานกว่า 20 ปี ในยามว่างจากงานประจำเขาก็เริ่มกลับมาเขียนภาพที่เขาชอบมาตั้งแต่เด็ก รูโซไม่เคยเรียนที่โรงเรียนศิลปะใดเลย เขาศึกษาด้วยตัวเองโดยการไปคัดลอกภาพเขียนในพิพิธภัณฑ์ที่มีดาษดื่นในกรุงปารีสและเขียนภาพภายในสวนพฤกษศาสตร์ของเมืองหลวง แม้ไม่มีครูสอนแต่ด้วยพรสวรรค์อันเป็นเลิศจิตรกรสมัครเล่นอย่างเขาก็มีฝีมือก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ปี 1866 รูโซเข้าร่วมแสดงผลงานในนิทรรศการ Salon des Indépendants (แน่นอนว่าไม่ใช่นิทรรศการ Paris Salon อยู่แล้วเพราะที่นั่นไม่เคยเปิดโอกาสให้ศิลปินหัวก้าวหน้า) ด้วยภาพ Carnival Evening ที่แม้ไม่ได้ถูกจัดวางในตำแหน่งที่โดดเด่นแต่สำหรับศิลปินหน้าใหม่นี่เป็นผลงานชิ้นเยี่ยมเลยทีเดียว

 
ยึดมั่นในสไตล์ไม่สนใจเสียงเยาะเย้ย

henri-rousseau-early-works-01

 
รูโซเขียนภาพในสไตล์ที่เขาพัฒนาขึ้นด้วยตัวเอง มีความเรียบง่าย จริงใจ ไร้เดียงสา คล้ายภาพวาดของเด็ก สัดส่วน การจัดองค์ประกอบ และการใช้สีในภาพแปลกประหลาดแตกต่างจากศิลปินที่ได้รับการฝึกฝนตามหลักวิชาอย่างมาก สไตล์การเขียนภาพของรูโซนี้ต่อมาเรียกว่าศิลปะไร้เดียงสาหรือศิลปะไร้มายา (Naive Art) ซึ่งเป็นศิลปะที่มีมนต์เสน่ห์เฉพาะตัวอีกแบบหนึ่งเพียงแต่กว่าจะได้รับการยอมรับในวงการก็ต้องใช้เวลาอยู่นานโขทีเดียว รูโซที่เป็นต้นแบบของการเขียนภาพในสไตล์นี้ต้องเจอกับเสียงเยาะเย้ยและคำพูดดูถูกเหยียดหยามจากนักวิจารณ์ศิลปะแทบตลอดชีวิต โดยเฉพาะผลงานของเขาที่ปรากฏในนิทรรศการศิลปะครั้งแรกนั้นมีนักวิจารณ์คนหนึ่งถึงกับพูดว่า “นายรูโซเขียนภาพด้วยเท้าของเขาโดยเอาผ้าปิดตาไว้ด้วย” แต่นั่นไม่ได้ทำให้รูโซหมดกำลังใจในการเขียนภาพ เขายังคงสร้างผลงานในสไตล์ของตัวเองและเข้าร่วมนิทรรศการเป็นประจำแทบทุกปี

ปี 1890 กรุงปารีสเป็นเจ้าภาพจัดงานใหญ่ World’s fair รูโซอาศัยโอกาสนี้เขียนภาพแนวใหม่ที่เขาเรียกว่า Portrait-Landscape Style ในภาพชื่อ Self Portrait, from L’ile Saint-Louis ด้านหน้าเป็นภาพเหมือนตัวเองในชุดจิตรกรยืนถือจานสีและพู่กัน ฉากหลังเป็นทิวทัศน์กรุงปารีสในบรรยากาศงาน World’s fair ที่มีการประดับธงนานาชาติที่เรือและบอลลูนใหญ่บนท้องฟ้ามองเห็นหอไอเฟลที่เพิ่งสร้างเสร็จอยู่ด้านหลัง ปี 1891 รูโซเขียนภาพ Tiger in a Tropical Storm อันเป็นฉากในป่าดงดิบเขตร้อนภาพแรกของเขา ภาพนี้จัดแสดงในนิทรรศการ Salon des Indépendants ปีเดียวกันและก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์เหยียดหยามแบบไม่ให้ราคากันเลยทำเอารูโซต้องหยุดตั้งหลักนานหลายปีถึงจะกลับมาเขียนภาพแนวนี้อีกครั้ง

 
นายด่านกับสาวยิปซีใต้แสงจันทร์นวล

henri-rousseau-professional-period-01

 
แม้ว่าตลอดหลายปีที่เป็นจิตรกรสมัครเล่นไม่ได้มีวี่แววว่าเขาจะประสบความสำเร็จกับการเขียนภาพ แต่ด้วยใจรักการเขียนภาพเป็นชีวิตจิตใจในปี 1893 รูโซได้ลาออกจากงานประจำเพื่อมาเขียนภาพแบบเต็มเวลาหวังจะเอาดีทางด้านนี้ให้ได้ ช่วงสองสามปีแรกของการเป็นจิตรกรมืออาชีพรูโซสร้างผลงานภาพเขียนในแบบฉบับของตัวเองออกมาได้น่าสนใจไม่น้อย มีผลงานเด่นได้แก่ภาพ War, Boy on the Rocks และ Portrait of a Woman เป็นต้น แต่ด้วยสไตล์ที่ก้าวล้ำเกินยุคสมัยภาพเขียนของเขาจึงขายไม่ออก เขาต้องอาศัยเงินบำนาญน้อยนิดกับฝีมือการเล่นดนตรีเป็นอาชีพเสริมในการยังชีพ เพื่อนฝูงในวงการต่างเรียกขานเขาว่า “นายด่าน” (Le Douanier) ตามอาชีพเดิมของเขา

ปี 1897 รูโซสร้างผลงานชิ้นเอกชื่อ The Sleeping Gypsy เป็นภาพสาวยิปซีนักแมนโดลินในชุดแบบตะวันออกผู้หลงทางระหกระเหินเร่รอนจนอ่อนแรงมานอนหลับลึกอยู่บนทะเลทรายเวิ้งว้างใต้แสงจันทร์ส่องสกาวขาวนวล มีสิงโตใหญ่ตาดุตามกลิ่นของเธอเข้ามายืนใกล้เมียงมองครุ่นคิดใคร่ครวญอย่างสงสัยใคร่รู้มากกว่าจะมีเจตนาเขมือบเธอเป็นอาหาร รูโซเขียนภาพนี้ด้วยรูปทรงเรียบง่ายกับใช้สีพื้นฐานแบนราบแต่กลับสร้างบรรยากาศที่แปลกใหม่ดุจอยู่ในความฝันหรือเป็นเรื่องราวแบบเหนือจริง ภาพนี้ได้ก้าวข้ามยุคสมัยสู่การเป็นศิลปะสมัยใหม่อีกแบบหนึ่งที่โดดเด่นด้วยสไตล์อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และต่อมาภาพนี้ก็กลายเป็นผลงานชิ้นเอกที่สร้างชื่อเสียงให้กับเขามากที่สุด แต่ตอนที่เขาเขียนภาพนี้เสร็จไม่นานเขาได้พยายามขายมันให้กับนายกเทศมนตรีของเมืองบ้านเกิดแต่กลับไม่ได้รับความสนใจ ปัจจุบันภาพนี้เป็นหนึ่งในภาพเขียนที่ได้รับการสนใจเข้าชมมากที่สุดของพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ (MoMA) ที่กรุงนิวยอร์ก

 
งานเลี้ยงประวัติศาสตร์แด่จิตรกรอัจฉริยะ

henri-rousseau-later-years-05

 
ราวปี 1904 รูโซเริ่มกลับมาเขียนภาพป่าพิสดารตามจินตนาการของเขาอีกครั้ง ป่าดงดิบของเขาเริ่มมีความซับซ้อนหลากหลายและมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นมากขึ้น ปี 1905 เขาเขียนภาพ The Hungry Lion Throws Itself on the Antelope และได้จัดแสดงในนิทรรศการ Salon des Indépendants ใกล้กับภาพของ Henri Matisse และกลุ่มศิลปินหนุ่มหัวก้าวหน้าที่มีสไตล์แปลกใหม่อีกแบบหนึ่งภายในห้องเดียวกับผลงานของ Donatello ยอดประติมากรยุคเรอเนสซองส์ชาวอิตาลีอันเป็นที่มาของคำวิจารณ์ “Donatello chez les fauves (โดนาเตลโลท่ามกลางสัตว์ป่า)” คำว่า Fauvism ที่หมายถึงสัตว์ป่าซึ่งถูกใช้เรียกศิลปะแนวใหม่ของกลุ่มศิลปินหนุ่มหัวก้าวหน้านั้นอาจมาจากผลงานของรูโซโดยไม่ได้ตั้งใจ ปี 1907 รูโซมีผลงานชิ้นเยี่ยมในแนวนี้อีกหลายชิ้นอย่างเช่นภาพ The Snake Charmer และ The Repast of the Lion ถึงกระนั้นชื่อเสียงของเขาก็มิได้กระเตื้องขึ้นมากนัก

จวบจนวันหนึ่ง Pablo Picasso สุดยอดอัจฉริยะศิลปินแห่งยุคได้ไปพบภาพเขียนที่รูโซสร้างไว้เมื่อปี 1895 ชื่อ Portrait of a Woman ถูกวางขายข้างถนนเป็นผ้าใบใช้แล้วเพื่อนำไปเขียนทับ Picasso รู้ถึงความอัจฉริยะของรูโซจากภาพนั้นได้ทันที เขาซื้อภาพนั้นไว้และไปหารูโซ ปี 1908 Picasso จัดงานเลี้ยงขึ้นที่สตูดิโอของเขาเพื่อเป็นเกียรติแต่รูโซโดยเชิญศิลปินเลื่องชื่อ นักวิจารณ์ศิลปะ และบุคคลผู้ทรงอิทธิพลในวงการจำนวนมากไปร่วมงาน เมื่ออัจฉริยะที่ทุกคนยอมรับให้การยกย่องชื่นชมบุคคลในอาชีพเดียวกันถึงขนาดนี้ย่อมประจักษ์ชัดว่าเขาคนนั้นย่อมเป็นอัจฉริยะด้วยเช่นกันเพียงแต่ถูกมองข้ามเสมอมาเท่านั้น และแน่นอนว่าผลงานต่างๆของรูโซย่อมจะถูกพิจารณาด้วยความคิดที่แตกต่างจากเดิม งานเลี้ยงครั้งประวัติศาสตร์นี้ได้กลายเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่ถูกเล่าขานในวงการศิลปะรุ่นต่อรุ่นต่อเนื่องเรื่อยมา

 
สยบเสียงวิจารณ์ด้วย “ความฝัน” สุดท้าย

henri-rousseau-later-years-01

 
ช่วงบั้นปลายชีวิตรูโซเขียนภาพป่าพิสดารของเขาเป็นหลัก ในปี 1910 เป็นปีที่เขาสร้างผลงานชั้นยอดออกมาหลายชิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพ The Dream อันเป็นผลงานชิ้นสุดท้ายนั้นรูโซทำออกมาได้งดงามสมบูรณ์แบบ จัดเป็นผลงานชิ้นเอกที่ทรงคุณค่าที่สุดอีกชิ้นหนึ่งของเขา เมื่อภาพนี้จัดแสดงในนิทรรศการ Salon des Indépendants ปีเดียวกันก็ได้รับคำวิจารณ์ที่แตกต่างจากในอดีตโดยสิ้นเชิง นักวิจารณ์คนหนึ่งบอกว่า “ภาพนี้เปล่งประกายความงามที่ไม่อาจโต้แย้งได้” ผลงานชิ้นสุดท้ายของรูโซสามารถสยบเสียงวิจารณ์เชิงลบเปลี่ยนเป็นคำยกย่องชื่นชมได้ในที่สุดหลังจากเพียรสร้างผลงานมานานกว่า 20 ปี

ไม่นานหลังจากภาพ The Dream ปรากฏสู่สายตาสาธารชนรูโซเกิดเป็นฝีที่ขาแล้วลุกลามกำเริบหนักกลายเป็นแผลเรื้อรังจนต้องเข้าโรงพยาบาลและเข้ารับการผ่าตัดแต่เขาเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันเสียชีวิตไปในช่วงปลายปี 1910 มีอายุ 66 ปี หลังจากรูโซจากไปแล้วผลงานของเขาได้ถูกนำไปจัดแสดงหลายครั้งจนเริ่มมีชื่อเสียงโด่งดัง อีกทั้งผลงานอันเป็นเอกลักษณ์ของเขายังมีอิทธิพลต่อศิลปินรุ่นหลังจำนวนมากและได้สร้างแรงบันดาลใจในการเขียนบทกวี เพลง รวมไปถึงวงการภาพยนตร์ ประกอบกับกระแสความนิยมในศิลปะสมัยใหม่ที่เพิ่มพูนขึ้นในศตวรรษที่ 20 ทำให้รูโซกลายเป็นศิลปินชั้นนำที่โดดเด่นมากอีกคนหนึ่งของวงการ

 
ผลงานเหนือจินตนาการของจิตรกรไร้ครู

รูโซเรียนการเขียนภาพด้วยตัวเองไม่มีครูสอนภาพเขียนของเขาจึงดูไร้เดียงสาคล้ายภาพวาดของเด็ก แต่ด้วยพรสวรรค์อันล้ำเลิศเขาได้พัฒนาเทคนิคและสไตล์การเขียนภาพจนทำให้ในความไร้เดียงสานั้นมีความสวยงามโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่มีใครเหมือน โดยเฉพาะในผลงานธีมป่าดงดิบพิสดารมีความแปลกใหม่สวยงามเหมือนอยู่ในความฝัน และต่อไปนี้คือส่วนหนึ่งของผลงานเหนือจินตนาการของจิตรกรไร้ครูคนนี้

Early Works (1885 – 1893)

henri-rousseau-early-works-01

Tiger in a Tropical Storm

henri-rousseau-early-works-02

Carnival Evening

henri-rousseau-early-works-03

Portrait of Pierre Loti

henri-rousseau-early-works-04

Rendezvous in the Forest

henri-rousseau-early-works-05

A Centennial of Independence

henri-rousseau-early-works-06

The Past and the Present

henri-rousseau-early-works-07

Self Portrait, from L’ile Saint-Louis

henri-rousseau-early-works-08

The Walk in the Forest

henri-rousseau-early-works-09

View of Ile Saint-Louis, Near Port Saint-Nicolas, Evening

Professional Period (1893 – 1905)

henri-rousseau-professional-period-01

The Sleeping Gypsy

henri-rousseau-professional-period-02

Boy on the Rocks

henri-rousseau-professional-period-03

Portrait of a Woman

henri-rousseau-professional-period-04

War

henri-rousseau-professional-period-05

Nude and Bear

henri-rousseau-professional-period-06

Portrait of a Woman in a Landscape

henri-rousseau-professional-period-07

The Eiffel Tower

henri-rousseau-professional-period-08

Scouts Attacked by a Tiger

henri-rousseau-professional-period-09

Portrait of a Woman

henri-rousseau-professional-period-10

Self-portrait of the Artist with a Lamp

henri-rousseau-professional-period-11

The Poultry Yard

henri-rousseau-professional-period-12

The storm tossed vessel

henri-rousseau-professional-period-13

Jungle with Lion

henri-rousseau-professional-period-14

Suburban Scene

henri-rousseau-professional-period-15

Happy Quartet

Later Years (1895 -1910)

henri-rousseau-later-years-01

The Dream

henri-rousseau-later-years-02

The Muse Inspiring the Poet

henri-rousseau-later-years-03

The Repast of the Lion

henri-rousseau-later-years-04

The Snake Charmer

henri-rousseau-later-years-05

The Hungry Lion Throws Itself on the Antelope

henri-rousseau-later-years-06

The Merry Jesters

henri-rousseau-later-years-07

Combat of a Tiger and a Buffalo

henri-rousseau-later-years-08

The Football Players

henri-rousseau-later-years-09

Exotic Landscape

henri-rousseau-later-years-10

The Flamingoes

henri-rousseau-later-years-11

Exotic Landscape

henri-rousseau-later-years-12

Tropical Forest with Monkeys

henri-rousseau-later-years-13

Old Junier’s Cart

henri-rousseau-later-years-14

The Waterfall

henri-rousseau-later-years-15

Bouquet of Flowers

henri-rousseau-later-years-16

Woman Walking in an Exotic Forest

henri-rousseau-later-years-17

Mandrill in the Jungle

henri-rousseau-later-years-18

Negro Attacked by a Jaguar

henri-rousseau-later-years-19

The Equatorial Jungle

henri-rousseau-later-years-20

The Monument to Chopin in the Luxembourg Gardens

henri-rousseau-later-years-21

Two Monkeys in the Jungle

henri-rousseau-later-years-22

View of Montsouris Park, the Kiosk

henri-rousseau-later-years-23

Landscape in Montsouris Park with Five Figures

henri-rousseau-later-years-24

Jaguar Attacking a Horse

henri-rousseau-later-years-25

Portrait of Joseph Brummer

henri-rousseau-later-years-26

Eve and the Serpent

henri-rousseau-later-years-27

Bouquet of Flowers with an Ivy Branch

อ็องรี รูโซ ถือเป็นต้นแบบของศิลปะไร้เดียงสาหรือนาอีฟอาร์ตซึ่งในปัจจุบันได้รับการยอมรับ มีการเรียนการสอนอย่างมีแบบแผน และได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในหมู่ศิลปินรุ่นใหม่ แต่สำหรับรูโซนั้นเขาต้องใช้ความอดทนยืนหยัดเผชิญกับคำวิจารณ์ที่ดูถูกเยาะเย้ยเหยียดหยามตลอดมาและพยายามพัฒนาฝีมือและผลงานอย่างไม่ย่อท้อนานกว่า 20 ปี แต่กว่าจะมีเสียงชื่นชมก็เป็นผลงานชิ้นสุดท้ายเสียแล้ว ยามมีชีวิตรูโซเป็นตัวตลกของวงการในสายตานักวิจารณ์ แต่หลังจากเสียชีวิตเขากลับมีชื่อเสียงอย่างมาก รวมทั้งยังมีอิทธิพลอย่างสูงต่อศิลปินสมัยใหม่อีกหลายรุ่น

henri-rousseau-02

 

ข้อมูลและภาพจาก wikipedia, britannica, henrirousseau.net

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *