เจมส์ วัตสัน นักอณูชีววิทยาผู้ค้นพบโครงสร้างโมเลกุล DNA ของสิ่งมีชีวิต

เจมส์ ดี. วัตสัน (James Dewey Watson) เป็นนักอณูชีววิทยาหนึ่งในผู้ค้นพบโครงสร้างโมเลกุล DNA ของสิ่งมีชีวิตซึ่งทำให้ความเข้าใจของมนุษย์เกี่ยวกับพื้นฐานของชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญถือเป็นการเริ่มต้นยุคใหม่ของชีววิทยา ผลงานนี้ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ร่วมกับนักวิทยาศาสตร์อีกสองคน วัตสันยังมีผลงานการวิจัยด้านอณูชีววิทยาอีกมากมายและมีผลงานการเขียนหนังสืออีกหลายเล่ม รวมทั้งหนังสือ The Double Helix ซึ่งได้รับการยกย่องเป็นหนังสือยอดเยี่ยมลำดับต้นๆแห่งศตวรรษที่ 20 นอกจากนี้เขายังมีบทบาทสำคัญในโครงการจีโนมมนุษย์ซึ่งเป็นการจัดทำแผนที่ของจีโนมหรือ DNA ทั้งหมดของมนุษย์อย่างละเอียด อีกทั้งจีโนมของตัววัตสันเองยังได้รับการเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ตเป็นคนแรกๆอีกด้วย

 
จากเด็กชอบดูนกสู่ดอกเตอร์ทางชีวิทยา

james-watson-02

เจมส์ วัตสัน เป็นชาวอเมริกัน เกิดเมื่อปี 1928 ที่เมืองชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นลูกชายคนเดียวของคู่สามีภรรยาที่อพยพจากยุโรปมาตั้งรกรากในสหรัฐ ตอนเด็กวัตสันเคยฉายแววความเก่งกาจด้วยการชนะการแข่งขันตอบคำถามในรายการ “Quiz Kid” ทางวิทยุมาแล้ว วัตสันชื่นชอบและหลงใหลการดูนกมาก มันเป็นงานอดิเรกที่เขากับพ่อทำร่วมกันเป็นประจำ เขามีเป้าหมายว่าในอนาคตเขาจะเป็นภัณฑารักษ์ด้านปักษีวิทยาของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติซึ่งจะทำให้เขาได้อยู่กับนกที่เขาชื่นชอบไปตลอดชีวิต

วัตสันในวัย 15 ปีได้รับทุนเข้าเรียนฟรีที่มหาวิทยาลัยชิคาโกภายใต้โครงการเด็กพรสวรรค์ เขาเลือกเรียนทางด้านชีววิทยาตามเป้าหมายเดิม แต่ในปี 1946 หลังจากเขาได้อ่านหนังสือ What Is Life? ของ Erwin Schrödinger ที่เขียนถึงความลับของสิ่งมีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับยีนส์และโครโมโซมทำให้เขาเปลี่ยนจากเรียนด้านปักษีวิทยาไปเป็นด้านพันธุศาสตร์แทน วัตสันสำเร็จปริญญาตรีสาขาสัตววิทยาในปี 1947 แล้วไปเรียนต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยอินเดียนา ปี 1950 เขาได้รับปริญญาเอกสาขาสัตววิทยาด้วยวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับผลกระทบของรังสีเอกซ์ต่อการจำลองแบบของไวรัสแบคทีริโอฟาจ

 
ที่สุดของความพยายามคือความล้มเหลว

james-watson-03

หลังเรียนจบวัตสันไปทำวิจัยต่อที่มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก จากผลงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์หลายคนในเวลานั้นทำให้เริ่มเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า DNA คือโมเลกุลที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดรหัสพันธุกรรมและการรู้โครงสร้างที่แท้จริงของ DNA จะเป็นกุญแจสำคัญที่ใช้ไขความลับเรื่องการถ่ายทอดพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต งานวิจัยของวัตสันจึงมุ่งไปทางการค้นหาโครงสร้างโมเลกุลของ DNA เช่นเดียวกับนักวิทยาศาสตร์ชั้นแนวหน้าอีกหลายคน ปี 1951 วัตสันได้เห็นผลลัพธ์ของการใช้เครื่องวิเคราะห์การเลี้ยวเบนของรังสีเอ็กซ์ในการถ่ายภาพโมเลกุลของดีเอ็นเอโดย Maurice Wilkin นักชีวฟิสิกส์ชาวอังกฤษซึ่งทั้งคู่ได้พบกันในการประชุมที่เมืองเนเปิลส์ มันทำให้เขาตระหนักว่าจำเป็นต้องเรียนรู้เทคนิคดังกล่าวเพื่อการค้นหาโครงสร้างของ DNA

ปลายปี 1951 วัตสันเดินทางไปทำวิจัยที่ห้องทดลองคาเวนดิช (Cavendish Laboratory) ที่เมืองเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ที่นั่นเขาเรียนรู้เทคนิควิเคราะห์การเลี้ยวเบนของรังสีเอ็กซ์และได้ทำงานร่วมกับ Francis Crick นักอณูชีววิทยาชาวอังกฤษที่สนใจในเรื่องเดียวกัน ทั้งสองคนพยายามสร้างแบบจำลองเพื่อแยกแยะโครงสร้างโมเลกุลของ DNA แต่การที่ทั้งคู่ไม่ได้เป็นนักเคมีจึงค่อนข้างมีปัญหาในการสร้างแบบจำลองและในที่สุดก็นำไปสู่ความผิดพลาด แบบจำลอง DNA ของวัตสันและ Crick มีลักษณะเป็นเกลียว 3 เกลียวโดยมีฐานไนโตรเจนอยู่ด้านนอกของโครงสร้าง เมื่อแบบจำลองนี้ถูกเผยแพร่ Rosalind Franklin นักเคมีชาวอังกฤษที่ทำวิจัยเรื่องนี้อยู่เช่นกันและการถ่ายภาพ DNA ด้วยเครื่องวิเคราะห์การเลี้ยวเบนของรังสีเอ็กซ์ของเธอมีความก้าวหน้ามากได้ชี้ให้เห็นว่าแบบจำลองของทั้งคู่ผิดอย่างแน่นอนโดยเฉพาะฐานไนโตรเจนต้องอยู่ภายในโครงสร้าง ความล้มเหลวครั้งนี้สร้างความอับอายให้กับผู้อำนวยการห้องทดลองมากและได้ให้ทั้งสองคนไปทำวิจัยเรื่องอื่นแทนการค้นหาโครงสร้าง DNA

 
ค้นพบโครงสร้าง DNA ได้รับรางวัลโนเบล

james-watson-04

หลายๆเหตุการณ์ไม่ได้เกิดขึ้นภายใต้การควบคุมเรื่องการค้นพบโครงสร้าง DNA นี้ก็เช่นกัน Rosalind Franklin ทำงานวิจัยอยู่ที่ Kings College ภายใต้การดูแลของ Maurice Wilkin ซึ่งเป็นเพื่อนกับ Francis Crick แต่ Franklin เข้ากับ Wilkin ไม่ได้จนเธอต้องย้ายที่ทำงานและระหว่างการย้าย Wilkin ไปพบภาพถ่าย DNA ล่าสุดของ Franklin เข้าและได้ส่งมาให้เพื่อนที่ห้องทดลองคาเวนดิชดู วัตสันกับ Crick ที่ไปทำวิจัยเรื่องอื่นแล้วจึงต้องกลับมาวิเคราะห์ภาพนี้ และจากภาพถ่ายของ Franklin นี่เองที่ทำให้ทั้งคู่สามารถคิดค้นจนได้ข้อสรุปว่า DNA มีโครงสร้างเป็นสายพันกันเป็นเกลียวคู่ (double helix) เวียนขวาตามเข็มนาฬิกา โดยมีคู่เบสเชื่อมยึดระหว่างสาย มีลักษณะคล้ายบันไดเวียน พวกเขาตีพิมพ์ผลงานชิ้นนี้ในบทความชื่อ Molecular Structure of Nucleic Acids: A Structure for Deoxyribose Nucleic Acid ในปี 1953

james-watson-05

การค้นพบโครงสร้างของ DNA เป็นความสำเร็จครั้งสำคัญและเป็นจุดเปลี่ยนทางวิทยาศาสตร์เมื่อความเข้าใจของมนุษย์เกี่ยวกับพื้นฐานของชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ถือเป็นการเริ่มต้นยุคใหม่ของชีววิทยา จากผลงานนี้ทำให้วัตสันได้รับรางวัลโนเบลสสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ร่วมกับ Francis Crick และ Maurice Wilkin ในปี 1962 ซึ่งอันที่จริง Rosalind Franklin น่าจะได้รับรางวัลนี้มากกว่าแต่เธอมาเสียชีวิตไปก่อนในปี 1958 กฎของรางวัลโนเบลระบุว่าต้องมอบให้กับนักวิทยาศาสตร์ที่มีชีวิตอยู่ไม่เกิน 3 คน รางวัลจึงตกเป็นของ Maurice Wilkin แทน

 
นักวิจัยและนักเขียนผู้ประสบความสำเร็จ

james-watson-06

ปี 1956 วัตสันไปรับตำแหน่งเป็นอาจารย์แผนกชีววิทยาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและได้รับการแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ชีววิทยาในปี 1961 งานวิจัยของเขาที่นี่ส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่เรื่อง RNA และบทบาทของมันในการถ่ายทอดข้อมูลทางพันธุกรรม วัตสันทำงานสอนและทำวิจัยอยู่ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดราว 20 ปีจนถึงปี 1976 โดยในปี 1968 เขารับตำแหน่งผู้อำนวยการห้องทดลอง Cold Spring Harbor Laboratory อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย ภายใต้การนำของวัตสัน Cold Spring กลายเป็นหนึ่งในสถาบันชั้นนำของโลกสำหรับการวิจัยด้านอณูชีววิทยา เขาเป็นผู้อำนวยการและผู้บริหารของที่นี่อย่างยาวนานถึง 39 ปี

นอกจากการสอนหนังสือและการทำวิจัยในฐานะนักอณูชีววิทยาแล้ววัตสันยังมีผลงานที่โดดเด่นอีกอย่างหนึ่งคือการเขียนหนังสือ เขาเขียนหนังสือหลายเล่มได้แก่ The Molecular Biology of the Gene, Molecular Biology of the Cell และ Recombinant DNA ทุกเล่มประสบความสำเร็จด้วยดี ในปี 1968 วัตสันเขียนหนังสือที่ประสบความสำเร็จสูงสุดคือ The Double Helix ซึ่งเขียนเกี่ยวกับการค้นพบโครงสร้างของ DNA หนังสือเล่มนี้ได้รับการยกย่องเป็นหนังสือยอดเยี่ยมลำดับต้นๆแห่งศตวรรษที่ 20 วัตสันมีผลงานการเขียนหนังสือออกมาอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตจำนวนหลายสิบเล่ม รวมทั้งหนังสืออัตชีวประวัติที่เขียนจากความทรงจำในชื่อ Avoid Boring People: Lessons from a Life in Science

 
เข้าร่วมอภิมหาโครงการถอดจีโนมมนุษย์

james-watson-07

ปี 1990 มีโครงการวิจัยร่วมกันของนานาชาติในการถอดรหัส DNA ทั้งหมดของมนุษย์เรียกว่า Human Genome Project วัตสันได้ทำงานร่วมกับสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐในการจัดตั้งโครงการนี้ขึ้นและเขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าโครงการคนแรก วัตสันได้ทำหน้าที่นี้อยู่ราว 2 ปีก่อนจะลาออกไปเนื่องจากขัดแย้งกับ Bernadine Healy ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐคนใหม่ที่ต้องการจดสิทธิบัตรเกี่ยวกับลำดับยีนโดยวัตสันกล่าวว่า “ประชาชาติต่างๆในโลกจะต้องเห็นว่าจีโนมของมนุษย์เป็นของชาวโลก” การถอดรหัส DNA ของมนุษย์จัดทำที่มหาวิทยาลัยและศูนย์วิจัยชั้นนำจำนวน 20 แห่งในประเทศสหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, ญี่ปุ่น, ฝรั่งเศส, เยอรมัน และจีน การถอดจีโนมมนุษย์สมบูรณ์ในปี 2003 ใช้เวลาดำเนินการถึง 13 ปี

ขณะเดียวกันในปี 1998 ภาคเอกชนโดยบริษัท Celera Genomics ได้ทำโครงการถอดจีโนมมนุษย์คู่ขนานไปกับโครงการของนานาชาติโดยใช้เงินทุนน้อยกว่าราว 10 เท่า DNA ของนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำจำนวนหลายคนถูกนำไปถอดรหัสและวัตสันก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น ในปี 2000 ประธานาธิบดีคลินตันประกาศว่าลำดับจีโนมไม่สามารถจดสิทธิบัตรได้และควรให้นักวิจัยทุกคนเปิดเผยได้อย่างเสรี คำสั่งนี้ทำให้หุ้นของบริษัท Celera Genomics ดิ่งเหวและลากเอาหุ้นของบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพตกกราวรูด ในปี 2007 วัตสันกลายเป็นบุคคลที่สองที่จีโนมของเขาซึ่งถูกถอดรหัสอย่างสมบูรณ์ได้รับเผยแพร่ทางออนไลน์ ส่วนบุคคลแรกคือ Craig Venter ผู้ก่อตั้งบริษัท Celera Genomics

 
ชีวิตลำบากเพราะความเห็นที่ตรงเกินไป

james-watson-08

วัตสันเป็นคนที่มักให้ความเห็นในประเด็นเกี่ยวกับยีน เพศ สีผิว และเชื้อชาติอย่างตรงไปตรงมาตามความคิดของเขาโดยไม่ได้ใส่ใจว่ามันอาจไปกระทบความรู้สึกของผู้คนในสังคม ตัวอย่างเช่น “ผู้หญิงควรได้รับอนุญาตให้ทำแท้งได้หากทารกในครรภ์ถูกตรวจพบว่ามียีนเกย์”, “ผู้คนบอกว่ามันจะแย่มากถ้าเราทำให้ผู้หญิงทุกคนสวย แต่ผมคิดว่ามันคงจะดีมาก”, “ความแตกต่างของ IQ เฉลี่ยของคนผิวดำและคนผิวขาวเกิดจากพันธุกรรม” และ “นโยบายทางสังคมของเราตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่าสติปัญญาของพวกแอฟริกันเหมือนกับของพวกเรา ขณะที่ผลการทดสอบทั้งหมดบอกว่าไม่จริง” เป็นต้น เนื่องจากวัตสันเป็นนักชีววิทยาผู้ทรงอิทธิพลที่มีผลงานเกี่ยวข้องกับยีนโดยตรงคำพูดของเขาจึงมีผลต่อสังคมอย่างมาก ด้วยเหตุนี้เขาจึงถูกต่อต้านและถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกเหยียดเพศเหยียดผิวเหยียดเชื้อชาติ

จากปัญหาดังกล่าวในที่สุดวัตสันจึงถูกระงับความรับผิดชอบด้านการบริหารที่ห้องทดลอง Cold Spring เขาจึงตัดสินใจเกษียณอายุในปี 2007 หลังจากที่ได้เขาทำงานที่นี่และมีผลงานโดดเด่นมาตลอดเกือบ 40 ปี ในปี 2014 วัตสันกลายเป็นนักวิทยาศาสตร์คนแรกที่นำเหรียญรางวัลโนเบลออกประมูลขายซึ่งได้เงินไปราว 4.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเขาบอกว่าเขาสูญเสียรายได้ทางวิชาการทั้งหมดหลังจากถูกไล่ออกจากคณะกรรมการบริษัทที่เขาทำงานอยู่และเขาตั้งใจที่จะนำเงินที่ได้ไปสนับงานอนุรักษ์และงานวิจัย อย่างไรก็ดีวัตสันเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงและด้วยระยะเวลาการทำงานที่ยาวนานผลงานของเขาจึงมีมากมายและหลากหลายด้าน วัตสันเป็นอีกคนหนึ่งที่ได้สร้างประโยชน์ให้กับวงการชีววิทยาเป็นอย่างมาก

james-watson-09

 

ข้อมูลและภาพจาก wikipedia, britannica, vox

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *