กินอาหารต้านการอักเสบช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง

การดูแลสุขภาพหัวใจไม่ได้มีแค่การควบคุมคอเลสเตอรอลและความดันโลหิตเท่านั้น การรับประทานอาหารที่มีผลต่อการอักเสบก็เป็นสิ่งสำคัญมากเช่นกัน ในงานวิจัยล่าสุดได้ผลเป็นที่แน่ชัดว่าการกินอาหารในกลุ่มที่มีคุณสมบัติต้านการอักเสบสามารถช่วยลดความเสี่ยงการเป็นโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองได้อย่างมาก

การอักเสบเรื้อรังมีบทบาทสำคัญในการเกิดโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง ตัวบ่งชี้ของการอักเสบทางชีวภาพ (Inflammatory Biomarkers) บางตัว เช่น interleukins, chemokines และ adhesion molecules มีความสัมพันธ์กับภาวะผนังหลอดเลือดแดงแข็งตัว (Atherosclerosis) ทั้งในระยะเริ่มต้นและระยะหลัง ในงานวิจัยก่อนหน้านี้พบว่าอาหารมีผลต่อระดับการอักเสบและอาหารบางประเภท เช่น อาหารเมดิเตอร์เรเนียน (ซึ่งอุดมไปด้วยน้ำมันมะกอก ถั่ว ธัญพืชเต็มเมล็ด ผักผลไม้ รวมถึงอาหารทะเล) สามารถช่วยลดความเข้มข้นของตัวบ่งชี้ของการอักเสบทางชีวภาพบางตัวลงและลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจด้วย เพียงแต่ว่ายังไม่มีการวิจัยที่เน้นเรื่องผลกระทบในระยะยาวของอาหารที่ส่งเสริมการอักเสบมีความสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของอัตราการเป็นโรคหัวใจหรือโรคหลอดเลือดสมองหรือไม่

อาหารประเภทช่วยส่งเสริมการอักเสบได้แก่

  • เนื้อแดง
  • เนื้อแปรรูป
  • เครื่องในสัตว์
  • คาร์โบไฮเดรตที่ผ่านการขัดสี เช่น ข้าวขาว แป้งฟอกสี
  • เครื่องดื่มรสหวาน

ส่วนอาหารประเภทต้านการอักเสบได้แก่

  • ผักใบเขียว เช่น คะน้า ผักโขม กะหล่ำปลี
  • ผักสีเหลือง เช่น ฟักทอง พริกหวาน แครอท
  • ธัญพืชเต็มเมล็ด เช่น ข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต ลูกเดือย
  • ผลไม้ โดยเฉพาะบลูเบอร์รี่ ทับทิมสตรอเบอร์รี่ แอปเปิ้ล และลูกแพร์
  • ชา กาแฟ และไวน์แดง
  • น้ำมันมะกอกบริสุทธิ์
  • ปลาที่มีกรดไขมันสูง เช่น ทูนา แมกเคอเรล แซลมอน อินทรี กะพง สำลี

avoiding-inflammator-food-2

ทีมวิจัยทำการวิเคราะห์ข้อมูลของผู้ชายและผู้หญิงที่มีการติดตามข้อมูลด้านสุขภาพมานาน 32 ปีเริ่มตั้งแต่ปี 1986 จำนวนมากกว่า 210,000 คน โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่กินอาหารประเภทช่วยส่งเสริมการอักเสบ กับกลุ่มที่กินอาหารประเภทต้านการอักเสบ นักวิจัยพบว่าผู้ที่รับประทานอาหารประเภทส่งเสริมการอักเสบจะมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจสูงขึ้น 46% และมีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองสูงขึ้น 28% เมื่อเทียบกับผู้ที่รับประทานอาหารประเภทต้านการอักเสบ

โดยในการวิเคราะห์ครั้งนี้นักวิจัยได้ควบคุมปัจจัยเสี่ยงอย่างอื่นที่อาจมีผลต่อการเกิดโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เป็นผลของความแตกต่างในการกินอาหารคนละประเภทเท่านั้น เช่น เรื่องน้ำหนักตัว, ความเสี่ยงจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม, ความถี่ในการออกกำลังกาย, การรับประทานวิตามิน รวมไปถึงการดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ และเรื่องความดันโลหิต

มีการวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่นักวิจัยได้ประเมินว่าการกินถั่ววอลนัทร่วมกับอาหารตามปกติจะมีผลต่อตัวบ่งชี้ของการอักเสบทางชีวภาพอย่างไร ผลการวิจัยก่อนหน้านี้พบว่าการกินถั่วเป็นประจำช่วยลดความเสี่ยงการเป็นโรคหัวใจและช่วยลดคอเลสเตอรอลรวมลง แต่ยังไม่มีการวิจัยเรื่องความสัมพันธ์ของการกินถั่วกับการลดการอักเสบ นักวิจัยให้ผู้เข้าร่วมจำนวน 634 คนกลุ่มแรกกินอาหารไม่มีวอลนัทอีกกลุ่มหนึ่งกินอาหารมีวอลนัทเป็นประจำวันละ 30 – 60 กรัม หลังจากติดตามผลเป็นเวลา 2 ปีพบว่ากลุ่มที่กินวอลนัทมีระดับการอักเสบลดลงอย่างมีนัยสำคัญในการทดสอบตัวบ่งชี้ของการอักเสบทางชีวภาพ 6 รายการจากทั้งหมด 10 รายการ

ผลงานวิจัยทั้งสองชิ้นนี้แสดงให้เห็นว่าการเลือกรับประทานอาหารบางประเภทและการหลีกเลี่ยงรับประทานอาหารบางประเภทสามารถช่วยให้เราลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองได้ ดังนั้นในการรับประทานอาหารเราต้องดูให้ดีว่าอย่างไหนส่งเสริมการอักเสบอย่างไหนช่วยต้านการอักเสบ เพื่อเราจะได้มีสุขภาพดีและอยู่อย่างมีความสุขไปได้นานๆ

 

ข้อมูลและภาพจาก acc.org, newatlas

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *