พายุเมฆรูปหกเหลี่ยมที่ขั้วเหนือของดาวเสาร์เปลี่ยนจากสีน้ำเงินเป็นสีทองแล้ว

กลุ่มเมฆที่เต็มไปด้วยพายุหมุนรูปทรงหกเหลี่ยมขนาดยักษ์ที่ขั้วเหนือของดาวเสาร์ที่ได้สร้างความประหลาดใจให้นักดาราศาสตร์ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไรมาตั้งแต่พบมันครั้งแรกเมื่อสามสิบกว่าปีที่แล้ว ตอนนี้มันได้เพิ่มความงุนงงสงสัยมากขึ้นอีกเมื่อยานอวกาศแคสซีนีได้ถ่ายภาพล่าสุดของมัน พบว่ามันได้เปลี่ยนจากสีน้ำเงินเป็นสีทองไปแล้ว

saturns-hexagon-2

หกเหลี่ยมประหลาดที่ขั้วเหนือของดาวเสาร์ถูกพบครั้งแรกโดยยานวอยเอจเจอร์ 1 ที่ได้บินผ่านสำรวจดาวเสาร์เมื่อปี 1980 ภาพจากยานวอยเอจเจอร์ 1 มีภาพหนึ่งที่สร้างความประหลาดใจให้นักดาราศาสตร์เนื่องจากมองเห็นรูปหกเหลี่ยมสีเข้มๆที่ขั้วเหนืออย่างชัดเจน

saturns-hexagon-3

ต่อมาในปี 1997 นาซา ร่วมกับองค์การอวกาศยุโรปและองค์การอวกาศอิตาลี ได้ส่งยานแคสซีนีไปสำรวจดาวเสาร์อีกครั้ง ยานแคสซีนีเข้าสู่วงโคจรดาวเสาร์ในปี 2006 เราจึงได้เห็นภาพหกเหลี่ยมดาวเสาร์แบบชัดๆ ทั้งภาพจากระยะไกลและภาพโคลสอัพ

saturns-hexagon-4

หกเหลี่ยมดาวเสาร์เป็นกลุ่มเมฆขนาดใหญ่มากที่หมุนวนด้วยความเร็วเดียวกับที่ดาวเสาร์หมุนรอบตัวเอง (1 รอบใช้เวลา 10 ชม. 39 นาที 24 วินาที) หกเหลี่ยมมีขนาดกว้างราว 32,000 กม. เฉพาะความยาวแต่ละด้านของรูปหกเหลี่ยมยาวถึง 13,800 กม. ยาวกว่าเส้นผ่าศูนย์กลางของโลกซึ่งมีขนาดราว 12,700 กม. และพายุเมฆหกเหลี่ยมมีความหนาราว 100 กม. ลึกลงไปในชั้นบรรยากาศของดาวเสาร์

saturns-hexagon-5

ภายในหกเหลี่ยมมีวังวนของพายุขนาดเล็กใหญ่กระจายอยู่ทั่วไปราว 50 จุด บางวังวนจะหมุนตามเข็มนาฬิกา วังวนสีแดงใหญ่ตรงศูนย์กลางที่กำลังหมุนอย่างบ้าคลั่งด้วยความเร็วกว่า 350 กม./ชม.นั้นหมุนทวนเข็มนาฬิกา ส่วนขอบใหญ่วงนอกสุดก็หมุนทวนเข็มนาฬิกาเช่นกัน และกลุ่มเมฆหกเหลี่ยมมีเฉพาะที่ขั้วเหนือเท่านั้น ที่ขั้วใต้ไม่มี

saturns-hexagon-6

นักวิทยาศาสตร์ได้ถกเถียงกันถึงสาเหตุการเกิดสภาพแปลกประหลาดของหกเหลี่ยมดาวเสาร์กันอย่างกว้างขวาง มีการสร้างแบบจำลองต่างๆเพื่อค้นหาสาเหตุ แม้จะยังไม่แน่ชัดแต่นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่าเกิดจากลมพายุในชั้นบรรยากาศของดาวเสาร์ ทั้งลมที่ระดับก้อนเมฆและลมที่ชั้นล่างๆด้วย

นักวิทยาศาสตร์ของนาซากล่าวว่าการเปลี่ยนสีของหกเหลี่ยมดาวเสาร์น่าจะเป็นผลมาจากการเปลี่ยนฤดูกาลของดาวเสาร์ การเปลี่ยนเป็นสีทองอาจจะเกิดจากการเพิ่มขึ้นของฝุ่นหมอกในชั้นบรรยากาศเนื่องจากขั้วเหนือของดาวเสาร์กำลังจะเข้าสู่ช่วงวันครีษมายัน (วันที่กลางวันยาวนานที่สุด) ในพฤษภาคม ปี 2017

ขั้วเหนือของดาวเสาร์อยู่ในช่วงฤดูหนาวอันมืดมิดมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 1995 จนถึงเดือนสิงหาคม 2009 หลังจากนั้นชั้นบรรยากาศของขั้วเหนือจึงค่อยๆได้รับแสงแดดเพิ่มขึ้น ละอองหมอกจึงถูกสร้างเพิ่มมากขึ้นภายในกลุ่มเมฆหกเหลี่ยมและรอบๆขั้วเหนือ เป็นผลให้เกิดสภาพพร่ามัวอย่างทุกวันนี้

ยานแคสซีนียังคงโคจรรอบดาวเสาร์ต่อไป รวมทั้งดวงจันทร์บริวาร Titan, Mimas, Daphnis, Methone, และ Pandora ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ เราอาจจะได้เห็นภาพแปลกๆที่ไม่คาดคิดอีกก็ได้

ดูหกเหลี่ยมดาวเสาร์แบบชัดๆจะๆอีกครั้งในวิดีโอด้านล่าง


 
ส่งท้ายด้วยภาพดาวเสาร์จากยานแคสซีนีที่โด่งดังที่สุด เป็นภาพที่ถ่ายขณะยานอยู่ด้านหลังดาวเสาร์ฝั่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ เป็นภาพที่สวยงามเกินคำบรรยาย ในภาพมีโลกของเราปรากฎอยู่ด้วย คือจุดสว่างเล็กๆที่ด้านซ้ายบนของวงแหวน (คลิกขยายรูป)

saturns-hexagon-7

 

ข้อมูลและภาพจาก  nasa, sciencealert

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *