“สโตนเฮนจ์” สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคโบราณที่ยังไม่มีใครไขปริศนาความลี้ลับได้

สโตนเฮนจ์ (Stonehenge) เป็นอนุสรณ์สถานเก่าแก่ยุคก่อนประวัติศาสตร์หนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ของโลกที่สร้างความทึ่งและความพิศวงให้กับผู้คนมาอย่างเนิ่นนาน ไม่น่าเชื่อว่ามนุษย์ยุคหินใหม่เมื่อหลายพันปีก่อนที่ไม่มีเครื่องทุนแรงและเทคโนโลยีทันสมัยไม่มีแม้กระทั่งค้อนเหล็กสักอันจะสามารถตัดหินก้อนใหญ่หนักหลายสิบตันจำนวนมากและขนย้ายจากที่ห่างไกลมาทำเป็นสิ่งก่อสร้างยิ่งใหญ่ที่เกี่ยวพันกับทางดาราศาสตร์ได้อย่างน่าอัศจรรย์ นักโบราณคดีพยายามค้นหาว่าใครเป็นผู้สร้างสโตนเฮนจ์และสร้างขึ้นเพื่ออะไรแต่จนถึงปัจจุบันทุกอย่างยังไม่กระจ่างชัด แต่ความมหัศจรรย์ของสโตนเฮนจ์และบางสิ่งที่พวกเขาได้ค้นพบแล้วนั้นถือว่าน่าสนใจอย่างยิ่ง

 
โครงสร้างน่าพิศวงของสโตนเฮนจ์

สโตนเฮนจ์ตั้งอยู่ที่เมือง Salisbury ประเทศอังกฤษ โครงสร้างของสโตนเฮนจ์ชั้นนอกสุดเป็นคูน้ำและคันดินรูปวงกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางราว 110 เมตร ด้านในของคันดินมีหลุมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เมตรจำนวน 56 หลุมเรียงต่อเนื่องเป็นรูปวงกลม (เรียกว่า Aubrey holes ตามชื่อคนพบ) ถัดเข้าไปข้างในจะเป็นโครงสร้างหลักของสโตนเฮนจ์ซึ่งประกอบด้วยแท่งหินขนาดใหญ่วางเรียงกันเป็นวงกลมหลายชั้น วงนอกมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 33 เมตรประกอบด้วยแท่งหินแนวตั้งจำนวน 30 แท่งเรียกว่า Sarsen stones (ปัจจุบันเหลือ 16 แท่ง) แต่ละแท่งมีขนาดสูง 4.1 เมตร กว้าง 2.1 เมตรหนักราว 25 ตัน และหินทับหลังที่วางเรียงเป็นวงแหวนอยู่ด้านบนจำนวน 30 ก้อน แต่ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงไม่กี่ก้อน

Stonehenge-02

แท่งหินวงถัดไปมีเฉพาะหินแนวตั้งที่ขนาดเล็กกว่าเรียกว่า Bluestone น้ำหนักราว 2- 4 ตันต่อแท่งมีจำนวนเท่าวงนอก ด้านในยังมีหิน Sarsen stones แท่งใหญ่ที่ถูกวางเป็นชุดแนวตั้งสองแท่งกับทับหลังหนึ่งอันเรียกว่า Trilithon จำนวน 5 ชุดวางเรียงเป็นรูปเกือกม้า ด้านในเกือกม้ามี Bluestone เรียงตามแนวเกือกม้าอีกสิบกว่าแท่ง ใกล้กับศูนย์กลางของสโตนเฮนจ์ยังมีแท่งหินพิเศษอีกแท่งหนึ่งเรียกว่า Altar Stone ซึ่งมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องในทางดาราศาสตร์กับแท่งหินโดดเดี่ยวขนาดใหญ่หนัก 35 ตันที่อยู่ห่างออกไปจากจุดศูนย์กลางของสโตนเฮนจ์ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ 77.4 เมตรที่เรียกว่า Heel Stone นอกจากนี้ยังมีแท่งหินที่ถูกติดตั้งในตำแหน่งพิเศษอื่นๆอีก เช่น หิน 4 แท่งในแนวของ Aubrey holes ซึ่งจุดตัดของเส้นทแยงมุมจากหินทั้งสี่แท่งนี้จะเป็นจุดศูนย์กลางของสโตนเฮนจ์พอดี สโตนเฮนจ์ที่ยังครบสมบูรณ์จะมีลักษณะตามแบบจำลองคอมพิวเตอร์ข้างล่าง

Stonehenge-03

ที่น่าแปลกใจก็คือบริเวณใกล้เคียงกับทุ่งราบ Salisbury สถานที่ก่อสร้างสโตนเฮนจ์นั้นไม่มีแหล่งหิน Sarsen stones และ Bluestone ที่เป็นองค์ประกอบหลักของสโตนเฮนจ์อยู่เลย แล้วผู้สร้างสโตนเฮนจ์นำหินขนาดใหญ่เหล่านั้นมาจากไหน นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยไบรตัน ประเทศอังกฤษเพิ่งจะยืนยันผลการวิเคราะห์เมื่อเดือนกรกฎาคม 2020 ว่าหิน Sarsen stones น่าจะนำมาจากป่า West Woods ที่อยู่ห่างออกไปราว 25 กิโลเมตร ส่วน Bluestone ได้รับการยืนยันมาก่อนในปี 2019 แล้วว่าน่าจะนำมาจากเหมืองที่ภูเขา Preseli Hills ในประเทศเวลส์ซึ่งอยู่ห่างจากสโตนเฮนจ์ราว 250 กิโลเมตร ด้วยขนาดและน้ำหนักมหาศาลกับระยะทางที่ห่างไกลมากทำให้เกิดคำถามว่าผู้สร้างสโตนเฮนจ์ที่ไม่มีเครื่องทุ่นแรงและเทคโนโลยีทันสมัยสามารถทำสำเร็จได้อย่างไรและที่สำคัญพวกเขาเป็นใคร

 
ใครคือผู้สร้างอนุสรณ์สถานยิ่งใหญ่

ต่อคำถามที่ว่าใครเป็นผู้สร้างสโตนเฮนจ์คำตอบทฤษฎีแรกๆก็คือมนุษย์ต่างดาวคล้ายกับเรื่องลึกลับอื่นๆที่ไม่สามารถหาคำตอบได้ แต่เนื่องจากไม่มีหลักฐานใดมายืนยันความเป็นไปได้ทฤษฎีนี้จึงไม่ได้รับความสนใจ นักโบราณคดีได้ศึกษาค้นคว้าเรื่องนี้อย่างยาวนานจนพบหลักฐานที่ทำให้ได้ข้อสรุปว่าสโตนเฮนจ์มีวิวัฒนาการในขั้นตอนการก่อสร้างหลายขั้นตอนหลายช่วงเวลาโดยคนหลายกลุ่มกินเวลาทั้งหมดไม่น้อยกว่า 1,500 ปี โดยส่วนใหญ่เชื่อว่าสโตนเฮนจ์ได้รับการพัฒนาเป็น 3 ขั้นตอนสำคัญโดยกลุ่มคน 3 ชนเผ่า

สโตนเฮนจ์เริ่มสร้างครั้งแรกเมื่อราว 3,100 ปีก่อนคริสต์ศักราชหรือราว 5,100 ปีก่อนซึ่งเกิดขึ้นก่อนการสร้างมหาพีระมิดแห่งกีซาที่อียิปต์ถึง 500 ปี การก่อสร้างขั้นตอนแรกเป็นการขุดคูน้ำและทำคันดินรูปวงกลมที่เป็นโครงสร้างชั้นนอกสุด รวมทั้งการขุดหลุมด้านในตามแนวคันดินจำนวน 56 หลุม เชื่อกันว่ามีการปักไม้ลงในหลุมเหล่านี้ซึ่งเป็นรูปแบบของการสร้าง “Henge” ของคนสมัยนั้น ผู้ที่สร้างสโตนเฮนจ์ในขั้นตอนแรกนี้เชื่อว่าเป็นชนเผ่า Windmill ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ทุ่งราบ Salisbury ในช่วงเวลานั้น

การก่อสร้างในเฟสที่สองเริ่มขึ้นเมื่อราว 2,150 ปีก่อนคริสต์ศักราชโดยชนเผ่า Beaker ในขั้นตอนนี้เป็นการนำหิน Bluestone จากภูเขา Preseli Hills ที่อยู่ห่างออกไป 250 กิโลเมตรมาติดตั้ง เชื่อกันว่ามีการขนย้ายหินผ่านทางทะเลมาขึ้นที่เมือง Bristol แล้วล่องมาทางแม่น้ำ Avon มายังสถานที่ก่อสร้าง

Stonehenge-04

ส่วนการก่อสร้างในเฟสที่สามกระทำโดยชนเผ่า Wessex เริ่มขึ้นเมื่อราว 2,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช ในขั้นตอนสุดท้ายนี้เป็นการนำหิน Sarsen stones ที่หนักก้อนละหลายสิบตันจากป่า West Woods มาติดตั้งซึ่งคาดว่าในการขนย้ายน่าจะใช้ท่อนซุงใหญ่รองรับก้อนหินในลักษณะเป็นลูกกลิ้ง การพยายามทำภารกิจที่ยากเย็นแสนเข็ญที่ต้องใช้เวลานับพันปีให้สำเร็จนี้จะต้องมีจุดมุ่งหมายที่สำคัญอย่างยิ่งและนักโบราณคดีจะต้องพยายามไขปริศนานี้ให้สำเร็จ

 
สุสานของบุคคลสำคัญสมัยโบราณ

มีหลักฐานชี้ชัดว่าสโตนเฮนจ์เป็นสถานที่ที่ผู้คนจำนวนมากมารวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมสำคัญบางอย่าง ทฤษฎที่เป็นไปได้อย่างแรกคือเป็นสุสานของบุคคลสำคัญ มีการขุดพบกระดูกของมนุษย์ที่มีอายุย้อนหลังไปในช่วง 3,000 ปีก่อนคริสต์ศักราชซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการขุดคูน้ำทำคันดินและพบกระดูกของมนุษย์ต่อเนื่องไปอีกราว 500 ปี นอกจากนี้ยังไม่พบหลักฐานใดที่บ่งชี้ว่ามีผู้คนพักอาศัยอยู่ที่บริเวณสโตนเฮนจ์ จึงอาจเป็นไปได้ว่าในช่วงแรกสโตนเฮนจ์อาจถูกใช้เป็นสุสานฝังศพของบุคคลสำคัญในชนเผ่าเป็นเวลานานหลายร้อยปี

ห่างจากสโตนเฮนจ์ไปเพียง 3.2 กิโลเมตรมีสถานที่สำคัญยุคเดียวกันอีกแห่งหนึ่งเรียกว่า Durrington Walls ซึ่งมีสิ่งก่อสร้างคล้ายกับสโตนเฮนจ์แต่ใช้ไม้แทนหินหรือเป็น Woodhenge สองจุดนี้มีทางเดินและแม่น้ำ Avon เชื่อมถึงกัน ที่บริเวณ Woodhenge มีการพบหลักฐานว่าผู้คนไปกินเลี้ยงกันที่นั่นแต่ที่สโตนเฮนจ์ไม่มี นักโบราณคดีเชื่อว่าสถานที่สองแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของสถานที่ประกอบพิธีกรรมซึ่งมีการใช้ประโยชน์กันคนละแบบแต่มีความเชื่อมโยงกันผ่านเส้นทางที่เชื่อมระหว่างกัน Woodhenge เป็นสถานประกอบพิธีสำหรับคนเป็น ส่วนสโตนเฮนจ์เป็นสถานประกอบพิธีสำหรับคนตาย การเดินทางตามแม่น้ำ Avon เพื่อไปยังสโตนเฮนจ์เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมจากชีวิตสู่ความตายเพื่ออุทิศให้กับบรรพบุรุษในอดีตและผู้เสียชีวิต

Stonehenge-05

 
สถานที่บำบัดความเจ็บป่วยยุคแรก

อีกทฤษฎีหนึ่งเชื่อว่าสโตนเฮนจ์เป็นเหมือนกับโรงพยาบาลสมัยโบราณหรือสถานที่บำบัดความเจ็บป่วยยุคแรกๆของมนุษย์ ส่วนหนึ่งของความเชื่อในทฤษฎีนี้มาจากอิทธิฤทธิ์ในด้านการช่วยรักษาความเจ็บป่วยของ Bluestone ผู้คนในยุคหนึ่งเชื่อว่า Bluestone มีพลังพิเศษที่สามารถช่วยให้หายป่วยหรือหายจากการบาดเจ็บได้โดยการอาบน้ำที่ผ่านการล้างหินวิเศษนี้มาแล้วหรือเอาน้ำนั้นผสมกับสมุนไพรบางอย่างเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา

แต่ในทางโบราณคดียังพบหลักฐานที่บริเวณใกล้เคียงกับสโตนเฮนจ์อันเป็นเบาะแสในเรื่องนี้ มีการค้นพบกระดูกของชายวัยรุ่นที่มีฐานะร่ำรวยซึ่งสันนิษฐานว่ามาจากเยอรมนีกับพบโครงกระดูกของชายชื่อ Amesbury Archer ที่เป็นฝีที่รากฟันและติดเชื้อที่เข่าซึ่งพบพร้อมกับสมบัติมากมาย (รูปข้างล่าง) ทั้งสองกรณีนี้มีหลักฐานว่าพวกเขามีความมั่งคั่ง เจ็บป่วย และมาจากต่างประเทศ พวกเขาดั้นด้นเดินทางไกลมาเพื่อต้องการอาศัยพลังอำนาจพิเศษของสโตนเฮนจ์รักษาตัวนั่นเอง นักวิชาการหลายคนเชื่อว่าสิ่งนี้คือวัตถุประสงค์ที่แท้จริงในการสร้างสโตนเฮนจ์ขึ้นมา

Stonehenge-06

 
หรือจะเป็นปฏิทินของมนุษย์ยุคหิน

ทฤษฎีที่สามเชื่อว่าสโตนเฮนจ์ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้ประโยชน์ทางดาราศาสตร์และอาจเป็นปฏิทินของมนุษย์ยุคหินใหม่ก็เป็นได้ ทฤษฎีนี้มีความน่าเชื่อถือสูงมากเนื่องจากมีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ปัจจุบันก็ยังสามารถเห็นได้ การวางตำแหน่งของแท่งหินที่สโตนเฮนจ์มีความสอดคล้องสัมพันธ์กับทางดาราศาสตร์ที่แม่นยำอย่างเหลือเชื่อ ในวันครีษมายัน (Summer Solstice) ซึ่งเป็นวันที่เวลากลางวันยาวที่สุดในรอบปีและเป็นวันเริ่มต้นฤดูร้อน ถ้าไปยืนสังเกตที่ Altar Stone ในสโตนเฮนจ์จะเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นที่ยอดของ Heel Stone พอดี แสดงว่ามนุษย์เมื่อห้าพันปีก่อนมีความก้าวหน้าด้านดาราศาสตร์สามารถสังเกตฤดูกาลได้และสโตนเฮนจ์ก็คือเครื่องมือทางด้านดาราศาสตร์ที่สำคัญของพวกเขา

นอกจาก Heel Stone และ Altar Stone ที่ใช้กำหนดวันครีษมายันแล้วหิน 4 แท่งในแนวของ Aubrey holes ยังสามารถใช้ในการคำนวณวันสำคัญอื่นๆในทางดาราศาสตร์ได้อย่างแม่นยำได้แก่ วันเหมายัน (winter solstice) – วันที่มีกลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี, วันวสันตวิษุวัต (spring equinox) และวันศารทวิษุวัต (autumnal equinox) ซึ่งสองวันหลังนี้คือวันที่ดวงอาทิตย์อยู่ในตำแหน่งตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลกพอดี รวมทั้งยังสามารถกำหนดวันสำคัญในสมัยโบราณได้แก่วัน Imbolc วันเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิ, วัน Lammas วันเริ่มต้นฤดูเก็บเกี่ยว และวัน Samhain ตรงกับวันที่ 31 ตุลาคมซึ่งเป็นประเพณีที่มีการนำสัตว์เลี้ยงมาฆ่าบูชายัญที่ต่อมากลายเป็นวันฮาโลวีน นี่คือความมหัศจรรย์ส่วนหนึ่งของสโตนเฮนจ์จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ในวันครีษมายันของทุกปีจะมีผู้คนนับหมื่นไปรวมตัวกันที่สโตนเฮนจ์เพื่อชมดวงอาทิตย์ขึ้นเหนือแท่งหิน Heel Stone

Stonehenge-07

 
ถึงแม้ว่ายังไม่มีความกระจ่างชัดชนิดฟันธงได้ว่าใครเป็นผู้สร้างสโตนเฮนจ์และสร้างขึ้นเพื่ออะไร บางทีผู้สร้างอาจมีวัตถุประสงค์หลายอย่างไม่ใช่อย่างเดียวหรือวัตถุประสงค์อาจเปลี่ยนแปลงไปตามการก่อสร้างที่เพิ่มเติมขึ้นซึ่งคงเป็นหน้าที่ของนักโบราณคดีที่ต้องจะคลี่คลายปริศนานี้ต่อไป แต่ความพิเศษมหัศจรรย์และสเน่ห์ที่เหมือนมีมนต์ขลังของสโตนเฮนจ์นั้นได้ทำให้มันกลายเป็นหนึ่งในสถานที่สำคัญที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในประเทศอังกฤษและในโลก หลายคนหวังว่าคงมีสักวันหนึ่งที่จะได้ไปเห็นความมหัศจรรย์นี้ด้วยตาของตัวเองโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันครีษมายัน

Stonehenge-08

 

ข้อมูลและภาพจาก  mysteryofstonehenge, wikipedia, livescience

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *