ไมโครซอฟท์สร้างศูนย์ข้อมูลใต้ทะเล

เมื่อโน้ตบุ๊คหรือสมาร์ทโฟนของคุณร้อน คุณรู้ว่ามันได้จัดการกับข้อมูลเป็นจำนวนมาก ดังนั้นคุณสามารถจินตนาการถึงปริมาณความร้อน ที่เกิดจากชั้นวางซ้อนๆกันของเซิร์ฟเวอร์ที่จัดเก็บ และประมวลผลข้อมูลดิจิตอลของโลก การรักษาศูนย์ข้อมูลเหล่านี้ให้เย็นเป็นปัญหาที่บริษัทด้านเทคโนโลยี เช่น Facebook และ Google ชอบที่จะย้ายศูนย์ข้อมูลไปยังประเทศที่หนาวเย็น มากกว่าที่จะจ่ายเงินค่าเครื่องปรับอากาศ แต่สำหรับไมโครซอฟท์มีสถานที่ที่ดีกว่าสำหรับข้อมูลทั้งหมด คือที่ใต้ทะเล

เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์  2559 ไมโครซอฟท์เปิดตัวโครงการเนติก (Project Natick) ซึ่งเป็นโครงการวิจัยอย่างต่อเนื่องเรื่องศูนย์ข้อมูลใต้ทะเลที่อาจจะได้ทั้งค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม บริษัทเริ่มต้นการสำรวจความคิดในปี 2013 หลังจากที่พนักงานศูนย์ข้อมูลของบริษัทได้เขียนรายงานเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องนี้ (หนึ่งในผู้เขียนมีประสบการณ์ในกองทัพเรือ) การพัฒนาต้นแบบทางกายภาพเริ่มต้นขึ้นในปี 2014 และในเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา บริษัทได้นำเซิร์ฟเวอร์ไปใช้ใต้ทะเลเป็นครั้งแรก มันเป็นแคปซูลเหล็กขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางแปดฟุต วางอยู่ในทะเลนอกชายฝั่งของรัฐแคลิฟอร์เนีย มันทำงานทั้งหมด 105 วัน วิศวกรของไมโครซอฟท์บอกว่ามันประสบความสำเร็จมากกว่าที่คาดไว้

“ครั้งแรกที่ผมได้ยินเกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมคิดว่า น้ำ … ไฟฟ้า ทำไมคุณถึงทำอย่างนั้น?” เบน คัทเลอร์ นักออกแบบคอมพิวเตอร์ของไมโครซอฟท์ที่ทำงานในโครงการนี้ บอกกับนิวยอร์กไทม์ “แต่ถ้าคุณคิดให้ลึกซึ้ง มันเข้าท่าอย่างมากจริงๆ”

การวางศูนย์ข้อมูลไว้ใต้ทะเลไม่เพียงแต่จะช่วยให้มันเย็น แต่ยังมีข้อได้เปรียบทางด้านโลจิสติกส์ ไมโครซอฟท์ชี้ให้เห็นว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโลกอาศัยอยู่ภายในระยะ 200 กิโลเมตรจากมหาสมุทร ทำให้ระบบใต้ทะเลมีศักยภาพที่ในการปรับใช้ได้ง่ายขึ้น เมื่อมีความต้องการเพิ่มขนาดความสามารถของศูนย์ข้อมูล นอกจากนี้บริษัทยังเชื่อว่าถ้าสามารถผลิตแคปซูลได้เป็นจำนวนมาก พวกเขาสามารถสร้างศูนย์ข้อมูลขึ้นได้ในเวลาเพียง 90 วัน เร็วกว่าการสร้างศูนย์ข้อมูลบนบกซึ่งต้องใช้เวลา 2 ปีเป็นอย่างมาก วิศวกรที่เกี่ยวข้องในโครงการนี้เชื่อว่าวันหนึ่งศูนย์ข้อมูลใต้ทะเลอาจจะสามารถมีไฟฟ้าของตัวเอง โดยการใช้กังหันใต้น้ำหรือพลังงานน้ำขึ้นน้ำลงเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า

มันเป็นความคิดที่น่าสนใจ แต่เห็นได้ชัดว่ามันเต็มไปด้วยความท้าทาย มีความยากลำบากอยู่ไม่น้อยในการสร้างศูนย์ข้อมูลที่สามารถอยู่รอดได้โดยไม่ต้องตรวจสอบเป็นประจำ ศูนย์ข้อมูลบนบกเปิดให้วิศวกรเข้าไปแก้ไขปัญหาและเปลี่ยนเซิร์ฟเวอร์เมื่อใดก็ได้ตามที่จำเป็น แต่ไมโครซอฟท์ต้องการให้ระบบใต้ทะเลทำงานได้โดยไม่ต้องบำรุงรักษาเป็นเวลาหลายๆปี “เราเห็นว่านี่เป็นโอกาสที่จะใช้งานอย่างยาวนาน ศูนย์ข้อมูลที่มีความยืดหยุ่นที่ปฎิบัติงานโดยไม่มีใครอยู่ที่หน้างาน มีความน่าเชื่อถือสูงมากสำหรับการใช้งานตลอดอายุ ที่อาจจะเป็นเวลานานถึง 10 ปี” บริษัทกล่าว

ต้นแบบแรกของไมโครซอฟท์ชื่อลีโอนา ฟิลพอต ตามชื่อตัวละครจากเกม Halo มีชั้นวางคอมพิวเตอร์เพียงชั้นเดียว ปิดผนึกในภาชนะที่มีแรงดันเต็มไปด้วยไนโตรเจน มีเซ็นเซอร์ที่แตกต่างกันมากกว่าร้อยตัวถูกนำมาใช้ในการตรวจสอบสภาพภายในและภายนอกแคปซูล โดยมีวิศวกรไมโครซอฟท์เฝ้าดูข้อมูลสภาพต่างๆ เช่นความชื้น ความดัน และการเคลื่อนไหว เซ็นเซอร์ยังวัดผลกระทบของแคปซูลต่อสภาพแวดล้อม โชคดีที่เสียงพัดลมของเซิร์ฟเวอร์ถูกกลบด้วยเสียงของกุ้งในบริเวณใกล้เคียง ในขณะที่ความร้อนจะสร้างผลกระทบต่อน้ำไม่กี่นิ้วรอบๆแคปซูล

เห็นได้ชัดว่าโครงการยังอยู่ในขั้นเริ่มต้นของการพัฒนา แต่ไมโครซอฟท์บอกว่ามันเป็นเวลาที่เหมาะสมที่จะเริ่มต้นคิดทบทวนเรื่องศูนย์ข้อมูล ไม่เพียงแต่การเติบโตของความต้องการสำหรับข้อมูลในการประมวลผลแบบกลุ่มเมฆ (Cloud Computing) ซึ่งเป็นที่นิยมมากขึ้น แต่ชะลอตัวของกฎของมัวร์ (การสังเกตว่าการใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์เพิ่มเป็นสองเท่าทุก ๆ สองปี) หมายถึงว่าเซิร์ฟเวอร์มีโอกาสน้อยที่จะล้าสมัย ไมโครซอฟท์กำลังทำงานในขั้นตอนต่อไปอยู่แล้วคือ ระบบศูนย์ข้อมูลใต้ทะเลขนาดสามเท่าของลีโอนา ฟิลพอต ซึ่งบริษัทคาดหวังว่าจะเริ่มต้นการทดลองในปีหน้า

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *