SpaceX ส่งยานขนส่งสินค้าลำเดิมไปสถานีอวกาศนานาชาติสำเร็จเป็นครั้งแรก

ไม่นานหลังจากสร้างประวัติศาสตร์นำจรวด Falcon 9 ที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ได้สำเร็จ SpaceX ก็ได้สร้างประวัติศาสตร์อีกครั้งด้วยการส่งยานขนส่งสินค้า Dragon ที่ได้รับการตกแต่งใหม่กลับขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาติอีกครั้งหนึ่งได้สำเร็จ  ยาน Dragon ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศด้วยจรวด Falcon 9 จากฐานปล่อยจรวดที่ศูนย์อวกาศเคนเนดี รัฐฟลอริดา เมื่อ 17.07 น. ของวันที่ 3 มิถุนายน 2017 นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ยานอวกาศที่ไม่มีมนุษย์ควบคุมลำเดิมได้กลับไปยังสถานีอวกาศนานาชาติอีกครั้ง

การปล่อยจรวดตามกำหนดเดิมเป็นวันที่ 1 มิถุนายน แต่ต้องล่าช้าออกไปเนื่องจากมีฟ้าแลบในบริเวณใกล้เคียง แต่เมื่อวานอากาศมีเมฆเพียงบางส่วนและการปล่อยจรวดก็เป็นไปด้วยดีไม่มีการล่าช้าหรือปัญหาทางเทคนิคใดๆ การปล่อยจรวดครั้งนี้ยังเป็นการปล่อยจรวดครั้งที่ 100 ของฐานปล่อย Launch Complex 39A ที่ในอดีตมีภาระกิจปล่อยจรวดครั้งสำคัญหลายครั้ง รวมทั้งเที่ยวบิน Apollo 11 และ ยาน Skylab

หลังจากขึ้นจากฐานปล่อยนาน 2 นาที 22 วินาทีเครื่องยนต์ของจรวด Falcon 9 ท่อนแรกก็ดับลง ตามมาด้วยการแยกตัวของจรวดท่อนที่สองในอีก 3 วินาทีต่อมา

เครื่องยนต์ของจรวด Falcon 9 ท่อนที่สองทำงานต่ออีกไม่ถึง 7 นาทีก่อนที่ยาน Dragon จะแยกตัวหลังออกจากฐานปล่อยเป็นเวลา 10 นาที 20 วินาที ขณะเดียวกันจรวด Falcon 9 ท่อนแรกก็ได้บินกลับมาและลงจอดที่แท่นจอดที่แหลมคะแนเวอรัลสำเร็จเรียบร้อยอีกครั้ง

ยาน Dragon มีกำหนดไปถึงสถานีอวกาศนานาชาติในวันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน เที่ยวบินนี้ยาน Dragon ได้ขนส่งข้าวของเครื่องใช้และชุดการทดลองให้กับนาซาน้ำหนักรวม 2,721 กก. ตามภาระกิจที่เรียกว่า Commercial Resupply Services mission (CRS-11) นาซาบอกว่าขณะที่ยาน Dragon กำลังเดินทางไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ ยานขนส่งสินค้าไร้คนควบคุมอีกลำหนึ่งที่ชื่อ Orbital ATK Cygnus ก็จะถูกปล่อยออกจากสถานีมุ่งสู่วงโคจรและจะเผาไหม้ในบรรยากาศของโลกบริเวณเหนือมหาสมุทรแปซิฟิกใต้

ยาน Dragon ได้เดินทางมาที่สถานีอวกาศนานาชาติครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายน 2014 ในภารกิจ CRS-4 และจะเทียบท่าอยู่ที่สถานีอวกาศนานาชาติประมาณหนึ่งเดือนก่อนที่จะกลับมายังโลก

ชมวิดีโอการปล่อยยาน Dragon และการลงจอดของจรวด Falcon 9 ได้ที่ด้านล่าง

 

 

ข้อมูลและภาพจาก   spacex, newatlas

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *