นักวิจัยของ MIT บอกว่าเราจะได้ใช้พลังงานนิวเคลียร์ฟิวชันภายในปี 2030

ในความพยายามแสวงหาแหล่งพลังงานหมุนเวียนและสะอาดที่แท้จริงอย่างต่อเนื่องไม่มีอะไรเทียบได้กับพลังงานนิวเคลียร์ฟิวชัน แม้ว่านักวิทยาศาสตร์จะค้นพบวิธีใช้ประโยชน์พลังงานที่มาจากปฏิกิริยานี้แล้ว แต่มันยังไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้ง่ายๆ เนื่องจากยังไม่มีวิธีที่จะนำมาใช้ได้อย่างมีเสถียรภาพมั่นคง

แต่ Earl Marmar หัวหน้าโครงการเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชัน Alcator C-Mod tokamak fusion project ของ MIT บอกว่าเราอาจจะไม่ต้องรอกันนานนัก ถ้าเรายังทุ่มเททำวิจัยกันต่อไปเราอาจจะได้ใช้พลังงานนิวเคลียร์ฟิวชันภายในปี 2030

“ผมคิดว่าเราจะได้ใช้พลังงานนิวเคลียร์ฟิวชันภายในปี 2030 ค่อนข้างแน่” Marmar กล่าว “ปี 2030 มันอาจจะดูว่าเร็วไปหน่อย แต่ผมไม่คิดว่ามันจะหลุดไปจากช่วงเวลานั้นมากนัก”

และนี่ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกับเป้าหมายของกลุ่มทีมวิจัยที่แคนาดาหมายมั่นปั้นมือว่าจะทำให้สำเร็จเช่นกัน โดยมีโรดแมพเรียกว่า Fusion 2030 เพื่อขอการสนับสนุนจากรัฐบาลเพื่อทำงานวิจัยให้บรรลุเป้าหมาย

ปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันในทางฟิสิกส์แล้วเป็นสิ่งที่เราเข้าใจมันได้เป็นอย่างดี โดยพื้นฐานมันก็คือปฏิกิริยาตรงกันข้ามของปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชันนั่นเอง

นิวเคลียร์ฟิชชันใช้การแยกอะตอมของธาตุบางชนิดแล้วมีการปลดปล่อยพลังงานออกมา ส่วนนิวเคลียร์ฟิวชันเป็นการรวมอะตอมของไฮโดรเจนให้กลายเป็นพลาสมาซึ่งทำให้เกิดการสร้างพลังงานขึ้น

พลาสมาในนิวเคลียร์ฟิวชันสร้างพลังงานได้มากกว่านิวเคลียร์ฟิชชันหลายเท่า แต่พลาสมาจะเกิดขึ้นเฉพาะในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิมากกว่า 30 ล้านองศาเซลเซียส

เครื่องปฏิกรณ์แบบ tokamak ของ MIT ผ่านการทดลองด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิวชันมามากกว่า 20 ปี แม้ในปัจจุบันจะไม่ได้ใช้งาน แต่ก็ได้ทิ้งผลงานและข้อมูลให้เรามากพอที่จะต่อยอดหาวิธีควบคุมปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันให้เสถียรได้อย่างไร

Marmar บอกว่าสิ่งที่เรายังไม่เข้าใจคือเรื่องการใช้นิวเคลียร์ฟิวชัน ไม่ใช่วิธีที่จะทำให้มันเสถียร “เรารู้ว่านิวเคลียร์ฟิวชันทำงานได้ เรารู้ว่าในทางฟิสิกส์แล้วมันใช่ และไม่มีคำถามอะไรเลย” เขาอธิบาย “แต่ในด้านเทคโนโลยีมันยังมีคำถามเหลืออยู่อีกมาก”

Marmar บอกว่ามีหลายแนวทางในการควบคุมความเสถียรของนิวเคลียร์ฟิวชัน อย่างเช่น เครื่องปฏิกรณ์  Tokamak Energy ในสหราชอาณาจักร ที่ใช้การลดขนาดของช่องโดนัทในเครื่องปฏิกรณ์เพื่อเพิ่มปริมาณพลาสมา

ส่วนที่ MIT นักวิจัยใช้วิธีเพิ่มความแรงของสนามแม่เหล็กที่ใช้ในการควบคุมพลาสมาให้เสถียร นอกจากนี้ยังมีความพยายามของทีมนานาชาติที่ได้รับทุนจาก 35 ประเทศก็กำลังทำงานอยู่ที่เครื่องปฏิกรณ์ Tokamak ที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ประเทศฝรั่งเศส

fusion-on-grid-by-2030-2

“เราจำเป็นต้องเดินหน้าต่อไป เพราะว่าความต้องการพลังงานนิวเคลียร์ฟิวชันเป็นเรื่องเร่งด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามองจากมุมของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลก”

เขาคิดว่ายังมีช่องว่างที่สามารถผลักดันให้นิวเคลียร์ฟิวชันก้าวหน้าต่อไปได้ และหากเราไม่พยายามทำอะไรมันอาจทำให้ความสำเร็จล่าช้าออกไปเป็นทศวรรษ

 

ข้อมูลและภาพจาก  futurism, inverse

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *