เผยความลับภาพเขียนโบราณอายุ 1,800 ปีด้วยเทคนิคการวิเคราะห์ภาพอันน่าทึ่ง

จิตรกรชาวอียิปต์โบราณเขียนภาพผู้หญิงตาโตในเสื้อคลุมสีแดงไว้นานกว่า 1,800 ปี ภาพเขียนถูกพบบนซากมัมมี่ของเธอ นักวิจัยใช้เทคโนโลยีการสร้างภาพที่ทันสมัยที่สุดวิเคราะห์เบื้องหลังเทคนิคการเขียนภาพของคนในยุคศตวรรษที่ 2 เผยให้เห็นวัสดุและอุปกรณ์ที่ใช้ในการสร้างภาพเขียนได้อย่างละเอียดน่าทึ่งมาก

ภาพเขียนที่นักวิจัยที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส นำมาวิเคราะห์นี้เป็นภาพเขียนที่เรียกกันว่า Fayum mummy portrait ซึ่งเป็นภาพเขียนบนแผ่นไม้ที่ติดอยู่กับมัมมี่ที่เข้าใจว่าเป็นเจ้าของใบหน้าในภาพ ภาพ mummy portrait ถูกพบเป็นจำนวนมากทั่วอียิปต์ ภาพชิ้นที่นำมาวิเคราะห์เป็นภาพที่แสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ National Gallery of Art ที่กรุงวอชิงตัน มีขนาด 35 x 12 ซม. ผู้หญิงในภาพเชื่อกันว่าเป็นสมาชิกในตระกูลสูงศักดิ์โดยดูจากทรงผม เครื่องประดับ และเสื้อคลุมสีแดงของเธอ

นักวิจัยใช้เทคนิคการสร้างภาพอันทันสมัย 3 อย่างในการวิเคราะห์ได้แก่ Hyperspectral diffuse reflectance (ศึกษาการสะท้อนของแสงและคลื่นอื่นๆจากพื้นผิว), Luminescence (การเปล่งแสง) และ X-ray fluorescence (วิเคราะห์ส่วนประกอบทางเคมีโดยใช้การสะท้อนของรังสีเอ็กซ์) โดยการรวมข้อมูลจากทั้ง 3 เทคนิคทำให้นักวิจัยทราบรายละเอียดทางเคมีของภาพในแต่ละพิกเซลได้เลย

mummy-painting-2

“เราสร้างภาพที่ให้รายละเอียดของข้อมูลที่บอกกับเราอย่างแน่ชัดว่าใช้วัสดุอะไรและมันถูกทำขึ้นมาอย่างไร โดยไม่แตะต้องตัวภาพเขียนเลย” Ioanna Kakoulli หนึ่งในทีมวิจัยกล่าว “เรายังสามารถเชื่อมโยงเทคโนโลยีการผลิตของพวกเขาเข้ากับอุตสาหกรรมและความเชี่ยวชาญอื่นในยุคนั้น เช่น การทำเหมือง โลหวิทยา เครื่องปั้นดินเผา การย้อมสี ตำรับยา และการเล่นแปรธาตุ”

ทีมวิจัยพบว่าภาพเขียนนี้ใช้เทคนิค Encaustic painting วัสดุที่ใช้ทำสีเป็นส่วนผสมของเม็ดสีที่ได้จากพืชกับขี้ผึ้งที่หลอมเหลวผสมกันบนแผ่นไม้ ส่วนอุปกรณ์ที่ใช้เขียนมี 3 อย่างคือแปรงขนละเอียด (penicillus), ช้อนโลหะ (cauterium) และเครื่องมือแกะสลักที่เรียกว่า cestrum ซึ่งเป็นเทคนิคที่นิยมใช้ในการสร้างภาพเขียนในยุคนั้น

mummy-painting-3

“การตกแต่งเครื่องแต่งกายของเธอเป็นตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมของงานฝีมือในชีวิตจริงที่สะท้อนอยู่ในภาพเขียน” Roxanne Radpour นักวิจัยอีกคนกล่าว “สีย้อมสีแดงที่สกัดจากรากไม้มักถูกใช้เพื่อทำสีของสิ่งทอและเครื่องหนังในสมัยอียิปต์โบราณ และเราเห็นได้จากแผนที่ทางเคมีของภาพเขียนว่าศิลปินโบราณเลือกที่จะทาสีชุดของผู้หญิงสูงศักดิ์ด้วยสีย้อมแดงเหมือนกัน จึงเป็นการเลียนแบบการปฏิบัติที่ร่วมสมัย”

mummy-painting-4

ทีมวิจัยบอกว่าจุดประสงค์ของโครงการนี้เป็นการทดสอบว่าจะสามารถใช้ประโยชน์จากเทคนิคการสร้างภาพแบบใหม่ในการศึกษาวัตถุโบราณได้อย่างไร

“เราได้พัฒนาเทคนิคเบื้องต้นในการใช้วิธีการสร้างภาพทั้งสามแบบมาใช้ตรวจสอบภาพเขียนศิลปะและชิ้นงานบนกระดาษ” John Delaney นักวิจัยอีกคนกล่าว “ผลลัพธ์ที่ได้เมื่อถูกแปลความหมายโดยผู้เชี่ยวชาญในวัสดุทางศิลปะของยุคนั้นบอกได้อย่างสมบูรณ์แบบว่ามันถูกสร้างขึ้นมาได้อย่างไร”

นักวิจัยบอกว่าเทคนิคใหม่นี้ยังสามารถนำไปใช้ได้กับทางด้านสิ่งแวดล้อม ธรณีวิทยา ชีววิทยา และนิติวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย

 

ข้อมูลและภาพจาก livescience, dailymail.co.uk

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *