แต่ดาวเคราะห์น้อยปีศาจไม่ได้มาเยี่ยมโลกในวันฮาโลวีนทุกครั้ง เพราะคาบการโคจรของมันเท่ากับ 1,112 วัน หรือราว 3 ปีกับ 17 วัน ดังนั้นการโคจรกลับมาใกล้โลกที่สุดเป็นครั้งที่สองหลังการค้นพบจึงเป็นวันหลังจากวันฮาโลวีนเล็กน้อยในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน 2018
ด้วยวงโคจรที่เอียงทำมุมสูงมากกับระนาบการโคจรของโลกทำให้แต่ละครั้งที่โคจรมาใกล้โลกจึงมีระยะห่างจากโลกแตกต่างกันอย่างมาก ครั้งที่แล้วจัดว่ามันโคจรมาใกล้โลกมากที่สุดครั้งหนึ่ง มันจะโคจรมาใกล้โลกขนาดนั้นอีกครั้งในราว 500 ปีข้างหน้า และการกลับมาเยี่ยมโลกในคราวนี้ตำแหน่งที่ใกล้โลกที่สุดอยู่ไกลจากโลกค่อนข้างมากราว 105 เท่าของระยะทางระหว่างโลกกับดวงจันทร์
ดาวเคราะห์น้อย 2015 TB145 มีรูปทรงรี (Ellipsoid) ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางราว 625 – 700 เมตร หมุนรอบตัวเองทุก 2.94 ชั่วโมง เป็นก้อนหินที่ดำมืดอย่างมากเนื่องจากมันสะท้อนแสงอาทิตย์เพียงแค่ 5 – 6 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณแสงที่ได้รับเท่านั้น
Pablo Santos-Sanz นักดาราศาตร์ฟิสิกส์ที่สถาบัน Institute of Astrophysics of Andalusia ประเทศสเปนบอกว่าการสะท้อนแสงของมันมากกว่าถ่านหินเล็กน้อยซึ่งหมายถึงมันจะมืดมาก มันมีระดับความสว่างปรากฏหรือแมกนิจูด 26.5 (ค่ายิ่งน้อยยิ่งสว่าง ติดลบสว่างสุด) จึงมองเห็นจากโลกได้ด้วยกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่มากหรือกล้องโทรทรรศน์อวกาศเท่านั้น
ถึงแม้ว่าการกลับมาครั้งนี้ของมันจะไม่ค่อยเอื้อประโยชน์ต่อการสำรวจมากนักด้วยระยะทางที่ห่างไกล แต่นักดาราศาสตร์คิดว่ายังสามารถได้รับข้อมูลใหม่ที่จะช่วยให้รู้จักกับดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มากขึ้น รวมถึงดาวเคราะห์น้อยอื่นที่คล้ายกันซึ่งเข้ามาใกล้โลก
มีการคำนวณกันว่าถ้าดาวเคราะห์น้อย 2015 TB145 ชนโลก มีโอกาส 71% ที่มันจะชนกับมหาสมุทรไม่ใช่พื้นดิน จากนั้นจะเกิดสึนามิขนาดใหญ่ ลูกไฟที่เป็นผลจากการกระแทกมีรัศมีมากกว่า 8 กม. การชนจะทำให้เกิดแผ่นดินไหวใหญ่กว่าขนาด 7.0 ตามมาตราริกเตอร์ ซึ่งคาดหวังว่าเหตุการณ์นี้จะไม่เกิดขึ้นตลอดกาล
ข้อมูลและภาพจาก nypost, ancient-code