เกิดเป็นผู้หญิงเก่งแต่ถูกกีดกัน
มารี คูรี เป็นชาวโปแลนด์ เกิดในปี 1867 ที่เมืองวอซอว์ ซึ่งตอนนั้นถูกยึดครองโดยจักรวรรดิรัสเซีย เธอเป็นลูกคนสุดท้องในจำนวนพี่น้อง 5 คน พ่อของมารีเป็นครูสอนคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ และยังเป็นผู้อำนวยการของโรงเรียนมัธยมสองแห่ง แต่ด้วยความที่พ่อของเธอเป็นผู้ที่รักชาติจึงถูกทางการรัสเซียบังคับออกจากงานและบีบให้ต้องทำงานที่มีรายได้ต่ำ ประกอบกับขาดทุนจากการลงทุน ครอบครัวจึงมีปัญหาด้านการเงิน แม่ของมารีเป็นผู้บริหารโรงเรียนกินนอนสำหรับเด็กผู้หญิงชื่อดัง เธอลาออกจากงานหลังจากคลอดมารี และเสียชีวิตด้วยวัณโรคเมื่อมารีอายุ 10 ปี
มารีเข้าโรงเรียนกินนอนตอนอายุ 10 ปีต่อด้วยโรงเรียนมัธยมสำหรับผู้หญิง เธอเรียนจบชั้นมัธยมในปี 1883 ด้วยคะแนนสูงสุด แต่โชคร้ายที่เธอเกิดมาเป็นผู้หญิงจึงทำให้เธอไม่มีที่เรียนต่อในระดับสูงขึ้นไป เพราะในสมัยนั้นมีการกีดกันผู้หญิงอย่างมาก ในโปแลนด์ไม่มีมหาวิทยาลัยใดรับผู้หญิงเป็นนักศึกษา เธอและ Bronisława พี่สาวของเธอจึงต้องหาทางเรียนต่อตามมหาวิทยาลัยใต้ดินที่เรียกว่า Flying University หรือ Floating University ซึ่งรับพวกเธอเข้าเรียน
ทำงานส่งพี่สาวไปเรียนต่างประเทศ
มารีตกลงกับพี่สาวว่าเธอจะทำงานส่งเงินให้พี่สาวไปเรียนแพทย์ที่กรุงปารีส หลังจากพี่สาวเรียนจบในอีกสองปีให้พี่สาวส่งเธอเรียนที่ปารีสเป็นการตอบแทน มารีจึงทำงานเป็นครูพี่เลี้ยงสอนเด็กในครอบครัวผู้มีอันจะกิน ระหว่างที่เป็นครูพี่เลี้ยงเธอเกิดชอบพอกับ Kazimierz Żorawski ผู้เป็นลูกชายของครอบครัวเศรษฐีเจ้าของที่ดิน พ่อแม่ฝ่ายชายไม่ยอมรับเนื่องจากเธอเป็นลูกคนจน หนุ่มสาวจึงต้องเลิกรากันไปด้วยความเศร้าใจ Kazimierz เรียนจบปริญญาเอก เป็นอาจารย์สอนคณิตศาสตร์ที่โดดเด่น และได้เป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัย เขายังคิดถึงมารีอยู่เสมอแม้ในยามแก่ชราเขายังมานั่งครุ่นคิดอยู่หน้ารูปปั้นของมารีอยู่เสมอ
ต้นปี 1890 Bronisława พี่สาวของมารีแต่งงานกับนักฟิสิกส์ชาวโปแลนด์และได้ชวนเธอไปอยู่ที่ปารีสด้วยกัน แต่มารีปฏิเสธเพราะไม่สามารถจ่ายค่าเรียนในมหาวิทยาลัยได้ เธอต้องใช้เวลาอีกปีครึ่งรวบรวมเงินสำหรับค่าเล่าเรียน แต่ในระหว่างนั้นเธอยังคงเรียนอย่างต่อเนื่องด้วยตัวเอง เธอทำงานสอนเด็ก เป็นติวเตอร์และเรียนในมหาวิทยาลัยใต้ดิน และเริ่มฝึกปฏิบัติงานทางวิทยาศาสตร์ในห้องปฏิบัติการทางเคมีที่มีญาติของเธอทำงานอยู่
ปากกัดตีนถีบจนเรียนจบปริญญา
ปลายปี 1891 มารีเดินทางไปกรุงปารีส พักกับพี่สาวและพี่เขยช่วงสั้นๆก่อนที่จะไปเช่าห้องใต้หลังคาใกล้มหาวิทยาลัย เธอลงทะเบียนเรียนที่มหาวิทยาลัยปารีสในวิชาฟิสิกส์ เคมี และคณิตศาสตร์ตอนปลายปีนั้นเอง เธอต้องอยู่อย่างจำกัดจำเขี่ยเพราะไม่มีเงิน ต้องทนทุกข์ต่อสู้กับฤดูหนาวที่เย็นยะเยือก บางครั้งหน้ามืดเป็นลมด้วยความหิวโหย
มารีเรียนตอนกลางวัน ทำงานเป็นติวเตอร์ในตอนค่ำ ได้เงินน้อยมากแทบไม่พอใช้จ่าย ปี 1893 เธอได้รับปริญญาสาขาฟิสิกส์และเริ่มทำงานในห้องปฏิบัติการทางอุตสาหกรรมของศาสตราจารย์ Gabriel Lippmann ขณะเดียวกันก็ยังเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยปารีส ด้วยความช่วยเหลือของเพื่อนๆเธอเรียนจบปริญญาโทในปี 1894
พบคนรู้ใจบนเส้นทางเดียวกัน
หลังจบปริญญาโทเธอก็เริ่มทำงานในฐานะนักวิทยาศาสตร์ในปารีสด้วยงานตรวจหาคุณสมบัติทางแม่เหล็กของเหล็กกล้าหลายชนิด ปีเดียวกันนั้นเองนักฟิสิกส์ชาวฝรั่งเศสปิแอร์ คูรี (Pierre Curie) ก็ได้เข้ามาในชีวิตของเธอ ความสนใจในวิทยาศาสตร์ได้ดึงให้ทั้งคู่เข้ามาหากัน ปิแอร์เป็นอาจารย์ที่โรงเรียนวิชาฟิสิกส์และเคมี ทั้งคู่ถูกแนะนำให้รู้จักกันโดยนักฟิสิกส์ชาวโปแลนด์ที่รู้ว่ามารีกำลังมองหาห้องทดลองสำหรับงานของเธอและเขาทราบว่าปิแอร์สามารถจัดการให้ได้
ความหลงใหลในวิทยาศาสตร์นำพาให้ทั้งคู่ใกล้ชิดกันมากขึ้นและรักกันในที่สุด ปิแอร์ขอแต่งงานกับมารี ตอนแรกเธอปฏิเสธเพราะเธอวางแผนจะกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิด แต่ปิแอร์ยืนยันว่าเขาพร้อมไปอยู่กับเธอที่โปแลนด์แม้ว่าจะได้สอนหนังสือในภาษาฝรั่งเศสน้อยลงก็ตาม ปีเดียวกันนั้นมารีกลับไปเมืองวอซอร์และได้เยี่ยมครอบครัว เธอเชื่อมั่นว่าเธอสามารถหางานที่เธอต้องการได้ในโปแลนด์ แต่แล้วเธอก็ต้องผิดหวังด้วยเหตุผลเพราะว่าเธอเป็นผู้หญิง มารีกลับปารีสด้วยการเกลี้ยกล่อมของปิแอร์เพื่อมาทำปริญญาเอกให้สำเร็จ ด้วยความช่วยเหลือของมารีทำให้ปิแอร์สามารถทำวิทยานิพนธ์เรื่องอำนาจแม่เหล็กสำเร็จและได้รับปริญญาเอกในปี 1895 หลายคนแซวเขาว่ามารีคือ “การค้นพบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของปิแอร์” มารีและปิแอร์แต่งงานกันในปี 1895 โดยไม่มีพิธีการทางศาสนา มารีสวมชุดสีน้ำเงินเข้มแทนชุดเจ้าสาวและใส่ชุดนี้ทำงานในห้องทดลองอีกนานหลายปี
ค้นพบเรเดียมและพอโลเนียม
ปี 1895 Wilhelm Roentgen ค้นพบว่ามีรังสีเอ็กซ์แม้ว่าจะยังไม่เข้าใจกลไกการเกิดของมัน ปี 1896 Henri Becquerel ค้นพบว่าเกลือยูเรเนียมปล่อยรังสีคล้ายรังสีเอ็กซ์ที่มีอำนาจทะลุทะลวงสูง เขาแสดงให้เห็นว่าการแผ่รังสีนี้แตกต่างจากการเรืองแสง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับแหล่งพลังงานภายนอก แต่ดูเหมือนจะเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติจากยูเรเนียม อิทธิพลจากการค้นพบครั้งสำคัญทั้งสองอย่างนี้ทำให้มารีตัดสินใจศึกษารังสียูเรเนียมเป็นงานวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก
มารีใช้เทคนิคใหม่ในการตรวจสอบตัวอย่าง ก่อนหน้านี้ 15 ปีปิแอร์และน้องชายได้พัฒนาอุปกรณ์วัดประจุไฟฟ้า (Electrometer) มารีใช้อุปกรณ์ดังกล่าวค้นพบว่ารังสียูเรเนียมทำให้อากาศรอบตัวอย่างนำไฟฟ้าได้ ด้วยการใช้เทคนิคดังกล่าวมารีได้ผลสรุปแรกว่าการแผ่รังสีของสารประกอบยูเรเนียมขึ้นอยู่กับปริมาณยูเรเนียมเท่านั้น เธอตั้งสมมุติฐานว่าการแผ่รังสีไม่ได้เป็นผลจากปฏิกิริยาภายในโมเลกุล แต่ต้องมาจากอะตอมของมัน สมมุติฐานนี้เป็นก้าวสำคัญในการหักล้างข้อสันนิษฐานเก่าแก่ที่ว่าอะตอมไม่สามารถแบ่งแยกได้
ปี 1897 มารีคลอด Irène ลูกสาวคนแรก เธอจึงต้องเริ่มสอนหนังสือที่สถาบัน École Normale Supérieure ปิแอร์และมารีไม่มีห้องทดลองเฉพาะ งานวิจัยส่วนใหญ่ของพวกเขาทำที่โรงเก็บของใกล้โรงเรียนของปิแอร์ซึ่งมีสภาพไม่ดี พวกเขาไม่รู้ถึงผลกระทบของการสัมผัสกับกัมมันตรังสีจึงทำงานกับสารกัมมันตรังสีต่อไปโดยไม่มีการป้องกัน ทางสถาบันไม่ได้ให้การสนับสนุนงานวิจัยของเธอ แต่เธอได้รับเงินอุดหนุนจากบริษัทโลหะและเหมืองแร่ และจากหน่วยงานต่างๆและรัฐบาล
มารีทำการศึกษาอย่างเป็นระบบกับแร่ที่แผ่รังสีได้ 2 ชนิดคือพิตช์เบลนด์ (Pitchblende) และทอร์เบอร์ไนต์ (Torbernite) เธอตรวจพบว่าพิตช์เบลนด์แผ่รังสีได้มากกว่ายูเรเนียม 4 เท่าและทอร์เบอร์ไนต์แผ่รังสีได้มากกว่ายูเรเนียม 2 เท่า มารีจึงสรุปว่าถ้าผลสรุปแรกเรื่องการแผ่รังสีขึ้นอยู่กับปริมาณยูเรเนียมถูกต้อง ดังนั้นแร่ 2 ชนิดนี้จะต้องประกอบด้วยสารอื่นที่แผ่รังสีได้มากกว่ายูเรเนียมมาก เธอจึงเริ่มต้นค้นหาสารดังกล่าว ปี 1898 มารีพบว่าทอเรียม (Thorium) เป็นธาตุที่แผ่รังสีได้ด้วย ปิแอร์รู้สึกทึ่งกับผลงานของเธอ กลางปี 1898 เขาจึงตัดสินใจหยุดการทำงานเกี่ยวกับคริสตัลและมาทำงานร่วมทำงานกับมารี
เดือนกรกฏาคม ปี 1898 มารีและปิแอร์ตีพิมพ์ผลงานการค้นพบธาตุใหม่ที่มารีตั้งชื่อว่าพอโลเนียม (Polonium) เพื่อเป็นเกียรติแก่ประเทศบ้านเกิดของเธอ เดือนธันวาคม ปี 1898 ทั้งคู่ได้ประกาศการค้นพบธาตุที่สองซึ่งพวกเขาตั้งชื่อว่าเรเดียม (Radium) โดยเอามาจากภาษาลาตินที่หมายถึงรังสี และในระหว่างการทำวิจัยพวกเขายังได้บัญญัติศัพท์คำว่า Radioactivity (กัมมันตภาพรังสี) ด้วย
เพื่อพิสูจน์การค้นพบแบบไม่ต้องมีข้อสงสัย มารีและปิแอร์จึงพยายามสกัดแยกพอโลเนียมและเรเดียมบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นงานที่ยากและท้าทายอย่างมาก จนถึงปี 1902 ทั้งคู่ก็ประสบความสำเร็จสามารถแยกเรเดียมคลอไรด์บริสุทธิ์ได้เป็นครั้งแรก จากนั้นในปี 1910 มารีสามารถแยกโลหะเรเดียมบริสุทธิ์ได้สำเร็จ แต่เธอไม่ประสบความสำเร็จกับการแยกพอโลเนียมบริสุทธิ์
ระหว่างปี 1898 ถึง 1902 มารีและปิแอร์ตีพิมพ์ผลงานทั้งร่วมกันและแยกกันรวมทั้งหมด 32 ชิ้น รวมทั้งชิ้นหนึ่งที่ประกาศว่าเมื่อสัมผัสกับเรเดียมเซลล์มะเร็งจะถูกทำลายได้เร็วกว่าเซลล์ปกติ
รับรางวัลโนเบล 2 สาขาคนเดียวในโลก
ในปี 1900 มารีกลายเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้เป็นสมาชิกของสถาบัน École Normale Supérieure ส่วนปิแอร์ก็ได้ไปสอนที่มหาวิทยาลัยปารีส ปี 1902 มารีกลับโปแลนด์เพื่อไปร่วมงานศพของพ่อ เดือนมิถุนายน ปี 1903 ได้รับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยปารีส เดือนเดียวกันนั้นทั้งคู่ได้รับเชิญไปที่สถาบัน Royal Institute ในกรุงลอนดอนเพื่อพูดเกี่ยวกับกัมมันตภาพรังสี แต่เพราะมารีเป็นผู้หญิงเธอจึงไม่มีสิทธิ์พูด ปิแอร์ต้องขึ้นพูดเพียงคนเดียว
ปี 1903 สถาบัน Royal Swedish Academy of Sciences ได้ประกาศให้ปิแอร์ มารี และ Henri Becquerel ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์จากผลงานการวิจัยร่วมกันเรื่องปรากฏการณ์การแผ่รังสีที่ค้นพบโดย Becquerel ในตอนแรกคณะกรรมการพิจารณาตั้งใจจะให้รางวัลเฉพาะปิแอร์กับ Becquerel เท่านั้น แต่มีกรรมการท่านหนึ่งซึ่งเป็นผู้สนับสนุนนักวิทยาศาสตร์ผู้หญิงได้แจ้งเตือนปิแอร์ เขาจึงร้องเรียนเรื่องนี้ ชื่อของมารีจึงถูกเพิ่มเข้าไป มารีกลายเป็นผู้หญิงคนแรกของโลกที่ได้รับรางวัลโนเบล
ปี 1904 มารีคลอดลูกสาวคนที่สองชื่อ Ève มารีรักแผ่นดินเกิดและอยากให้ลูกผูกพันด้วยจึงได้จ้างครูพี่เลี้ยงชาวโปแลนด์เพื่อสอนภาษาโปแลนด์ให้กับลูกสาวทั้งสองคน รวมทั้งพาลูกๆกลับไปเยี่ยมโปแลนด์บ้านเกิดของแม่ด้วย
ปี 1906 ปิแอร์เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนน ขณะกำลังเดินข้ามถนนท่ามกลางฝนตกหนัก เขาถูกชนโดยรถม้าล้มลง ล้อรถทับซ้ำ กระโหลกร้าว มารีเสียใจและบอบช้ำอย่างมากจากการเสียชีวิตของสามี มหาวิทยาลัยปารีสได้เสนอตำแหน่งที่เตรียมไว้ให้ปิแอร์ต่อมารี เธอยอมรับมันและหวังจะสร้างห้องทดลองระดับโลกเพื่อเป็นการสดุดีต่อปิแอร์ มารีกลายเป็นผู้หญิงคนแรกที่เป็นศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยปารีส
ห้องปฏิบัติการใหม่ของมารีไม่ได้หยุดเพียงที่มหาวิทยาลัยปารีส เธอเดินหน้าต่อไปด้วยการตั้งสถาบันเรเดียม (Radium Institute) มีห้องปฏิบัติการกัมมันตภาพรังสีที่สร้างขึ้นมาเพื่อเธอโดยเฉพาะ จากการสนับสนุนของสถานปาสเตอร์ (Pasteur Institute) และมหาวิทยาลัยปารีส
ปี 1910 มารีประสบความสำเร็จในการแยกธาตุเรเดียม และยังได้สร้างหน่วยมาตรฐานสากลสำหรับกัมมันตรังสีที่ภายหลังถูกเรียกเป็นหน่วย “คูรี (curie)” เพื่อเป็นเกียรติแก่มารีและปิแอร์ อย่างไรก็ตามในปี 1911 สถาบัน French Academy of Sciences กลับไม่เลือกเธอเป็นสมาชิก เนื่องจากเสียงสนับสนุนขาดไปเพียงหนึ่งหรือสองเสียงเท่านั้น สาเหตุหลักเป็นเพราะเธอเป็นผู้หญิงและยังเป็นคนต่างชาติทำให้มีบางกลุ่มไม่ยอมยกย่องเชิดชูทั้งๆที่ผลงานของเธอโดดเด่นที่สุด ต้องรออีกกว่า 50 ปีสถาบันนี้ถึงจะมีสมาชิกเป็นผู้หญิงคนแรกคือ Marguerite Perey ซึ่งเป็นชาวฝรั่งเศสและเป็นลูกศิษย์ของมารีตอนเรียนระดับปริญญาเอก
ระหว่างปี 1910 – 11 มารีมีความสัมพันธ์ฉันท์ชู้สาวกับ Paul Langevin ที่เป็นอดีตลูกศิษย์ของปิแอร์ เขาแต่งงานแล้วแต่อยู่ในช่วงห่างเหินกับภรรยา ความสัมพันธ์นี้กลายเป็นเรื่องอื้อฉาวที่ฝ่ายตรงข้ามนำมาโจมตีเธออย่างหนักพร้อมกับกุเรื่องว่าเธอเป็นชาวยิว จนทำให้มารีต้องหลบออกจากงานประชุมที่เบลเยี่ยม แล้วต้องมาเจอกับม็อบที่โกรธแค้นชุมนุมอยู่ที่หน้าบ้าน มารีกับลูกสาวต้องหลบภัยไปอาศัยที่บ้านเพื่อนอยู่พักหนึ่ง ท่ามกลางปัญหาที่ถาโถมเข้ามาบั่นทอนจิตใจ มารีได้รับกำลังใจจากอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์นักวิทยาศาสตร์ผู้โด่งดังที่เขียนจดหมายมาชื่นชมผลงานของมารี ให้กำลังใจเธอให้ยืนหยัดต่อไปไม่ต้องสนใจพวกที่ไม่ชอบเธอ อีกหลายสิบปีต่อมาหลานสาวของมารีแต่งงานกับหลานชายของ Paul Langevin ทั้งคู่เป็นนักนิวเคลียร์ฟิสิกส์
ถึงมารีจะมีเรื่องอื้อฉาวและถูกโจมตีมากมายแต่ในปี 1911 สถาบัน Royal Swedish Academy of Sciences ได้ประกาศให้เธอได้รับรางวัลโนเบลเป็นครั้งที่สองในสาขาเคมี จากผลงานสร้างความก้าวหน้าทางเคมีโดยการค้นพบธาตุโพโลเนียมและเรเดียม, การแยกธาตุเรเดียมและศึกษาวิจัยองค์ประกอบและธรรมชาติของเรเดียม ทำให้มารีเป็นคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบล 2 ครั้ง และเป็นคนเดียวในโลกที่ได้รับรางวัลโนเบลด้านวิทยาศาสตร์ 2 สาขา ผลจากการได้รับรางวัลโนเบลครั้งนี้ทำให้มารีสามารถโน้มน้าวให้รัฐบาลฝรั่งเศสสนับสนุนงานสร้างสถาบันเรเดียมจนสร้างสำเร็จในปี 1914 สถาบันเรเดียมทำงานวิจัยทั้งทางเคมี ฟิสิกส์ และทางการแพทย์
ช่วยทหารบาดเจ็บในสงครามโลก
ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 มารีตระหนักดีว่าทหารบาดเจ็บจะต้องได้รับการรักษาโดยเร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เธอจึงพัฒนาและสร้างหน่วยเอ็กซ์เรย์เคลื่อนที่เพื่อนำไปใช้ในการรักษาทหารบาดเจ็บที่แนวหน้า และก่อตั้งศูนย์รังสีวิทยาทหารแห่งแรกของฝรั่งเศส เธอกลายเป็นผู้อำนวยการหน่วยกาชาดด้านรังสีวิทยา ปีแรกของสงครามมารีเป็นผู้ควบคุมการสร้างและติดตั้งรถเอ็กซ์เรย์เคลื่อนที่ 20 คัน และเครื่องเอกซ์เรย์อีก 200 เครื่องตามโรงพยาบาลสนาม ต่อมาได้เริ่มสอนและฝึกผู้หญิงคนอื่นเป็นผู้ช่วย
ปี 1915 มารีได้สร้างเครื่องมือที่ประกอบด้วยเข็มกลวงที่มีก๊าซกัมมันตรังสีจากเรเดียมระเหยออกมาเพื่อใช้สำหรับฆ่าเชื้อโรคบริเวณเนื้อเยื่อที่ติดเชื้อ ประมาณการว่ามีทหารบาดเจ็บกว่า 1 ล้านคนได้รับการรักษาด้วยเครื่องเอ็กซ์เรย์ของมารี นอกจากนี้เธอยังช่วยเหลือสงครามด้านอื่นอีก เช่น ตอนแรกเธอพยายามบริจาคเหรียญทองรางวัลโนเบลแต่ธนาคารแห่งฝรั่งเศสไม่ยอมรับบริจาค เธอจึงซื้อพันธบัตรสงครามโดยใช้เงินที่ได้จากรางวัลโนเบล แม้ว่ามารีได้ทุ่มเทช่วยเหลือประเทศในการทำสงครามอย่างเต็มกำลังความสามารถ แต่รัฐบาลฝรั่งเศสกลับไม่ได้มอบเหรียญรางวัลหรือที่ระลึกใดๆแก่เธอเลย
นางฟ้านักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่
หลังสิ้นสุดสงครามโลกมารีกลับมาทำงานวิจัยอีกครั้งที่สถาบันเรเดียม ชื่อเสียงของเธอเริ่มขจรขจายไปทั่วโลก มีผู้ช่วยเหลือตั้งกองทุนหาเงินซื้อเรเดียมให้เธอใช้ในงานวิจัย รวมทั้งประธานาธิบดี Warren G. Harding ของสหรัฐอเมริกาที่ได้มอบเรเดียมจำนวน 1 กรัม (ราคาตอนนั้น 100,000 ดอลลาร์) ตอนที่มารีมาเยือนทำเนียบขาว มารีเดินทางไปปรากฏตัวต่อสาธารณชนและบรรยายในหลายประเทศ รัฐบาลฝรั่งเศสรู้สึกอับอายที่มารีซึ่งตอนนั้นเป็นพลเมืองของฝรั่งเศสมานานแล้วไปปรากฏตัวที่ประเทศต่างๆในฐานะบุคคลสำคัญที่ทำประโยชน์ยิ่งใหญ่ให้กับโลก แต่ไม่มีอะไรแสดงว่าได้รับการยกย่องจากประเทศตัวเอง ทางการฝรั่งเศสจึงเสนอมอบ Legion of Honour ซึ่งเป็นเครื่องอิสริยาภรณ์ชั้นสูงของฝรั่งเศสให้กับเธอแต่มารีปฏิเสธ
สถาบันเรเดียมภายใต้การนำของมารีก็มีผลงานยอดเยี่ยม นักวิจัยของสถาบันได้รับรางวัลโนเบลถึง 4 คน รวมทั้ง Irène Joliot-Curie ลูกสาวคนโตของมารี และ Frédéric Joliot-Curie สามีของ Irène ทำให้ครอบครัวของมารีมีผู้ได้รับรางวัลโนเบลมากที่สุดถึง 5 รางวัล เป็นของมารีเอง 2 ปิแอร์สามีของเธอ 1 ลูกสาว 1 และลูกเขยอีก 1
มารีเสียชีวิตในปี 1934 ด้วยวัยเพียง 66 ปีจากการเป็นโรคไขกระดูกฝ่อ (Aplastic Anemia) อันเป็นผลพวงจากการได้รับกัมมันตภาพรังสีขณะทำงานมาตลอดชีวิต สิ่งที่เธอค้นพบสามารถช่วยเหลือผู้คนทั่วโลกจำนวนมาก แต่มันกลับเป็นสิ่งที่คร่าชีวิตของเธอไป ในปี 1995 หลังจากมารีเสียชีวิต 60 ปีศพของเธอถูกย้ายไปฝังที่วิหารแพนธีออน (Pantheon) คู่กับปิแอร์เพื่อเป็นเกียรติแก่ความสำเร็จของพวกเขา มารีเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับเกียรติยศนี้
มารีเป็นหนึ่งในผู้หญิงที่เก่งที่สุดและได้รับการยกย่องมากที่สุดในโลก เธอประสบความสำเร็จในการทำงานอย่างมากแต่ก็ใช้ชีวิตแบบคนธรรมดา ที่จริงเธอสามารถร่ำรวยมหาศาลได้หากเธอจดสิทธิบัตรเรเดียมแต่เธอไม่ทำ เธอบอกว่าเรเดียมเป็นของทุกๆคนไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง แม้ว่าเธอถูกกีดกันเพราะเป็นผู้หญิงมาตลอดชีวิต แต่ก็ไม่ได้ย่อท้อยังคงมุ่งมั่นทำงานด้วยความมานะและช่วยเหลือผู้คนด้วยจิตใจที่งดงาม มารีจึงเป็นนางฟ้านักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ในใจของผู้คนทั่วโลก
ข้อมูลและภาพจาก wikipedia, britannica, ranker