“กั้ง” เจ้าของหมัดทรงพลังมีตาที่แปลกประหลาดที่สุดในบรรดาสัตว์ทั้งโลก

กั้ง (Mantis shrimps) ได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ที่ออกอาวุธได้รวดเร็วและหนักหน่วงที่สุดในท้องทะเล เวลาจู่โจมมันจะออกอาวุธได้เร็วมากมองแทบไม่ทัน มีพลังรุนแรงเหมือนกระหน่ำด้วยค้อนหรือแทงด้วยฉมวก แต่เจ้าสัตว์ชนิดนี้ที่บางพันธุ์ก็สวยงามน่าดูอย่างยิ่ง บางพันธุ์รสชาติของเนื้อและไข่อร่อยอย่าบอกใครเชียว ยังมีตาที่แปลกประหลาดที่สุดในบรรดาสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้อีกด้วย นักวิจัยบอกว่ายิ่งศึกษาลึกขึ้นกลับยิ่งพบความแปลกประหลาดมากยิ่งขึ้น

กั้งเป็นสัตว์ที่ถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกตั้งแต่ 400 ล้านปีก่อน มีรูปร่างคล้ายกุ้งผสมกับตั๊กแตนตำข้าว กั้งถูกค้นพบแล้วกว่า 450 สายพันธุ์ ในประเทศไทยมีรายงานพบแล้วอย่างน้อย 61 สายพันธุ์ หนึ่งในสายพันธุ์ที่น่าศึกษามากที่สุดคือ กั้งตั๊กแตนเจ็ดสี (Peacock mantis shrimp)

กั้งตั๊กแตนเจ็ดสีเป็นกั้งที่มีสีสันสวยงามมาก ชอบอาศัยอยู่ตามพื้นทราย จัดอยู่ในพวก “นักทุบ” (Smasher) อาวุธของมันเป็นก้ามสองข้างที่มีลักษณะคล้ายกำปั้น มันออกหมัดได้เร็วถึง 80 กม./ชม. พลังหมัดหนักหน่วงกว่าน้ำหนักของมันเอง 1,000 เท่า มันสามารถต่อยหมัดหรือดีดขาคู่หน้าที่เป็นอาวุธของมันได้หลายหมื่นครั้งโดยที่มันไม่บาดเจ็บเนื่องจากโครงสร้างภายในของขาคู่หน้านั้นมีลักษณะพิเศษซับซ้อน มันสามารถทุบเปลือกหอยและก้ามปูแตกได้แบบสบายๆ แม้กระทั่งตู้ปลาก็อาจโดยมันต่อยแตกในหมัดเดียว


 
ความร้ายกาจของกั้งทำให้ Ilse Daly นักชีววิทยาที่มหาวิทยาลัยบริสตอล ประเทศอังกฤษ ต้องสวมถุงมืออย่างหนาเวลาต้องจัดการกับนักมวยตัวจิ๋วนี้ เธอให้ความยำเกรงต่อกระบองหัวกำปั้นของมันเป็นพิเศษ แต่สิ่งที่เธอสนใจไม่ใช่หมัดของมัน แต่เป็นอวัยวะที่พิเศษมหัศจรรย์ยิ่งคือตาของมันนั่นเอง

ตาโปนขนาดใหญ่แต่ละข้างของกั้งตั๊กแตนเจ็ดสีสามารถหมุนไปโดยรอบทุกทิศทางได้อย่างอิสระ คล้ายกับลูกปืนที่อยู่ในตลับซึ่งอัดจารบีไว้อย่างดี ลูกตาของมันจะกลอกขึ้นลงซ้ายขวาไปมาอยู่ตลอดเวลา ที่พิเศษกว่าสัตว์อื่นๆคือมันมีลูกตาดำข้างละ 3 ลูกเรียงกันอยู่ ตาดำแต่ละลูกมองเห็นภาพได้อย่างเป็นอิสระ

กั้งมีความสามารถในการมองเห็นเหนือกว่ามนุษย์ มีเซลล์รับแสงมากถึง 12 สี ขณะที่ตามนุษย์มีเพียง 3 สีเท่านั้น มันสามารถมองเห็นแสงอัลตราไวโอเลตและแสงอินฟราเรดที่มนุษย์มองไม่เห็น และยังมองเห็นแสงโพลาไรซ์ (Polarized Light) ที่เป็นแรงบันดาลใจให้นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งสร้างกล้องโพลาไรซ์ (Polarization Camera) เพื่อใช้ในการตรวจหามะเร็ง โดยอาศัยลักษณะของสัญญาณโพราไลซ์ที่แตกต่างกันระหว่างเนื้อเยื่อปกติกับเนื้อเยื่อมะเร็ง

mantis-shrimp-eyes-2

วิธีการมองเห็นภาพของกั้งมีลักษณะเฉพาะที่พิเศษมาก กั้งจะสำรวจประเมินสภาพแวดล้อมด้วยวิธีการที่คล้ายกับเครื่องสแกนจับภาพ เมื่อพบแถบสีจะมีการขยับแถวของลูกตาดำเพื่อกวาดภาพซ้ำ คล้ายกับการกวาดพื้นห้องด้วยไม้กวาด ประหนึ่งมันกำลังระบายสีสิ่งต่างๆอยู่ในระบบการมองเห็นของมัน

Daly และทีมงานของเธอได้ศึกษาวิธีการเพ่งมองภาพของกั้งโดยใช้กล้องความเร็วสูงบันทึกการเคลื่อนไหวของลูกตาของกั้ง ในการทดลองหนึ่งให้กั้งอยู่ในท่อยาวเป็นอุโมงค์ จากนั้นหมุนท่อแล้วสังเกตว่ากั้งจะมีวิธีเพ่งมองท่อที่หมุนอย่างไร การทดลองนี้เลียนแบบเครื่องเล่นอุโมงค์วน (Vortex tunnel) ที่ให้ผู้เล่นพยายามเดินข้ามทางเดินที่ผนังและเพดานกำลังหมุนวนอยู่ ซึ่งแม้ว่าพื้นทางเดินจะอยู่นิ่งแต่การหมุนของผนังอุโมงค์อาจทำให้คนที่เดินผ่านเวียนหัวได้

นักวิจัยคิดว่ากั้งน่าจะกลอกตาตามการหมุนของอุโมงค์เพื่อรักษามุมมองเดิมเอาไว้ แต่มันไม่ได้ทำอย่างนั้น มันกลับกลอกตาไปทางฝั่งตรงกันข้ามกับทิศทางการหมุนของอุโมงค์ สร้างความงุนงงให้กับนักวิจัยมาก พวกเขาไม่เข้าใจเลยว่าทำไมกั้งถึงมีวิธีการเพ่งมองที่แปลกแบบนี้ หลังจากที่ได้ศึกษามานานหลายปี Daly ได้ข้อสรุปในเรื่องการมองเห็นของกั้งว่า “ยิ่งศึกษามันมากเท่าไร ยิ่งพบความแปลกประหลาดมากยิ่งขึ้น” กั้งจึงเป็นสัตว์ที่มีตาที่แปลกประหลาดที่สุดเท่าที่เคยพบมา

 

ข้อมูลและภาพจาก   washingtonpost, sciencealert

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *