ชาลส์ ดาร์วิน ผู้เขย่าโลกให้สะเทือนด้วยทฤษฎีวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต

ชาลส์ โรเบิร์ต ดาร์วิน (Charles Robert Darwin) เป็นนักธรรมชาติวิทยา นักธรณีวิทยา และนักชีววิทยา ผู้ทำการปฏิวัติความเชื่อเดิมๆเกี่ยวกับที่มาของสิ่งมีชีวิต และเสนอทฤษฎีซึ่งเป็นทั้งรากฐานของทฤษฎีวิวัฒนาการสมัยใหม่ และหลักการพื้นฐานของกลไกการคัดเลือกโดยธรรมชาติ (natural selection) หนังสือ The Origin of Species (กำเนิดของสรรพชีวิต) ของเขาได้เปลี่ยนความคิดของผู้คนทั่วโลกต่อการเกิดของสปีชีส์ใหม่ และจุดชนวนให้เกิดการโต้เถียงขึ้นในสังคมอย่างกว้างขวางจนถึงปัจจุบัน ดาร์วินมีผลงานวิจัยมากมายในด้านวิวัฒนาการทั้งของมนุษย์ สัตว์ และพืช เขาได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ผู้มีอิทธิพลมากที่สุดในประวัติศาสตร์

 
นักเรียนแพทย์ผู้ชอบธรรมชาติวิทยา

charles-darwin-2

ชาลส์ ดาร์วิน เป็นชาวอังกฤษ เกิดเมื่อปี 1809 ที่เมือง Shrewsbury เป็นลูกของนายแพทย์ผู้มั่งคั่ง พ่อของดาร์วินต้องการให้ลูกชายคนนี้สืบสานความเป็นครอบครัวนายแพทย์จึงส่งเขาเข้าเรียนแพทย์ที่มหาวิทยาลัยเอดินบะระ (Edinburgh) ซึ่งเป็นโรงเรียนแพทย์ที่ดีที่สุดในอังกฤษตอนนั้น แต่สำหรับดาร์วินผู้สนใจเกี่ยวกับธรรมชาติและชอบการศึกษาทดลองเกี่ยวกับสัตว์และพืชตั้งแต่วัยเด็ก การเรียนแพทย์ที่ต้องนั่งฟังเลคเชอร์ที่น่าเบื่อและการผ่าตัดที่แสนเศร้าใจนั้นเป็นสิ่งที่เขาไม่ชอบเลย เขาจึงไม่สนใจการเรียน แต่กลับไปเรียนรู้เทคนิคการสตัฟฟ์สัตว์และเข้าร่วมในสมาคมพลิเนียน (Plinian Society) ซึ่งเป็นกลุ่มศึกษาด้านประวัติศาสตร์ธรรมชาติในมหาวิทยาลัยเอดินเบอระ ดาร์วินได้ช่วยนักสัตววิทยาทำการตรวจสอบสรีระและวงจรชีวิตของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่บริเวณปากแม่น้ำ Forth จนมีผลงานการค้นพบว่าสปอร์สีดำที่พบในเปลือกหอยนางรมเป็นไข่ของปลิง

ความไม่ใส่ใจในการเรียนแพทย์สร้างความไม่พอใจให้กับพ่ออย่างมาก หลังจากดาร์วินเรียนแพทย์ได้ 2 ปี พ่อเขาจึงส่งเขาไปเรียนศิลปศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์เพื่อปูทางสำหรับการเป็นบาทหลวง ระหว่างการเรียนดาร์วินยังคงสนใจและศึกษาเกี่ยวกับธรรมชาติ โดยเฉพาะการสะสมแมลงปีกแข็ง (beetles) จนมีผลงานได้ตีพิมพ์ในหนังสือ เขาได้รู้จักกับนักบวชผู้สนใจศึกษาเรื่องธรรมชาติวิทยาหลายคน รวมทั้ง John Stevens Henslow ศาสตราจารย์ด้านพฤกษศาสตร์ผู้ซึ่งเสนอชื่อของเขาให้ร่วมเดินทางไปกับเรือหลวงบีเกิล (HMS Beagle) ที่กำลังจะออกเดินทางไปทำภารกิจทำแผนที่ชายฝั่งทวีปอเมริกาใต้ในฐานะนักธรรมชาติวิทยาหลังจากที่เขาจบการศึกษาระดับปริญญาตรีในปี 1831 ได้เพียงไม่นาน และการเดินทางในครั้งนี้ก็ทำให้ชีวิตของเขาเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง

 
สำรวจโลกกับเรือหลวงบีเกิล

charles-darwin-3

เรือหลวงบีเกิลออกเดินทางตอนปลายปี 1831 และใช้เวลาทำภารกิจทั้งหมด 5 ปี ดาร์วินใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่บนบกทำการสำรวจทางธรณีวิทยาและเก็บรวบรวมตัวอย่างสำหรับการศึกษาประวัติศาสตร์ธรรมชาติ ขณะที่เรือหลวงบีเกิลทำการสำรวจและทำแผนที่ชายฝั่ง ดาร์วินทำการจดบันทึกสิ่งที่เขาสังเกตพบและข้อสันนิษฐานทางทฤษฎีอย่างละเอียด ตัวอย่างที่เขาเก็บได้ถูกส่งไปยังแคมบริดจ์พร้อมกับจดหมายและบันทึกการเดินทาง ระหว่างการเดินทางดาร์วินได้อ่านหนังสือ Principles of Geology ของ Charles Lyell ที่กัปตันเรือมอบให้ ซึ่งให้แนวคิดแก่เขาในเรื่องความเป็นเอกภาพ (Uniformitarianism) ผ่านการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาอย่างช้าๆในช่วงเวลาที่ยาวนาน รวมทั้งแนวคิดเกี่ยวกับการสร้างสปีชีส์

การเดินทางสำรวจในพื้นที่ที่แตกต่างด้านสภาพธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างมากไปเกือบครึ่งค่อนโลกในครั้งนี้ทำให้ดาร์วินได้พบข้อเท็จจริงมากมายที่เป็นพื้นฐานให้เขาได้ศึกษาต่อยอดไปสู่ทฤษฎีอันลือลั่น ที่กาบูเวร์ดีเขาพบแถบขาวบนหน้าผาหินภูเขาไฟที่มีเปลือกหอยทะเลรวมอยู่ด้วย ที่บราซิลเขาได้พบกับป่าฝนที่อุดมสมบูรณ์ ที่ปาตาโกเนียดาร์วินพบฟอสซิลกระดูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่สูญพันธุ์แล้วในหุบเขาอยู่ข้างเปลือกหอยใหม่ ซึ่งบ่งชี้ว่าเป็นการสูญพันธุ์ที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้โดยที่ไม่มีร่องรอยการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศหรือการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลกอย่างรุนแรง

ที่หมู่เกาะกาลาปากอสดาร์วินได้พบสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์หลายชนิดที่ไม่เคยพบจากที่ใดมาก่อน เขาได้สังเกตนกฟินช์ (Finch) ที่กระจายอยู่ตามหมู่เกาะต่างๆถึง 14 ชนิด แต่ละชนิดมีขนาดและรูปร่างของจงอยปากที่แตกต่างกัน ตามความเหมาะสมในการใช้กินอาหารแต่ละประเภทตามสภาพแวดล้อมของแต่ละเกาะ ดาร์วินเชื่อว่าบรรพบุรุษของนกฟินช์บนเกาะกาลาปากอสน่าจะสืบเชื้อสายมาจากนกฟินช์บนแผ่นดินใหญ่ และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาจนทำให้หมู่เกาะแยกออกจากแผ่นดินใหญ่ ทำให้เกิดการแปรผันทางพันธุกรรมของบรรพบุรุษนกฟินช์ เมื่อผ่านเวลาอันยาวนานจึงทำให้เกิดวิวัฒนาการกลายเป็นนกฟินช์สปีชีส์ใหม่ขึ้น

ในออสเตรเลียดาร์วินได้เจอกับหนูจิงโจ้และตุ่นปากเป็ดซึ่งเขาคิดว่าพวกมันเป็นสัตว์ที่แปลกประหลาดมาก รวมทั้งได้พบกับชนเผ่าพื้นเมืองชาวอะบอริจิน ตลอดการเดินทางหลายหมื่นไมล์ผ่านหลายทวีปหลายภูมิภาค ดาร์วินได้สังเกตเห็นความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ที่อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน รวมไปถึงวิถีความเป็นอยู่ที่แตกต่างกันออกไปของกลุ่มคนในที่ต่างๆอีกด้วย ปลายปี 1836 เรือหลวงบีเกิลก็เสร็จสิ้นภารกิจเดินทางกลับอังกฤษอย่างปลอดภัย

 
ริเริ่มทฤษฎีวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต

charles-darwin-4

เมื่อดาร์วินกลับถึงอังกฤษเขาได้กลายเป็นที่รู้จักของผู้คนในแวดวงวิทยาศาสตร์โดยการส่งเสริมของศาสตราจารย์ Henslow ที่ได้ทำหนังสือแผ่นพับจากจดหมายของเขาส่งให้กับนักธรรมชาติวิทยา ดาร์วินเริ่มศึกษาวิจัยในรายละเอียดของตัวอย่างที่เขาเก็บรวมรวมมา โดยมีพ่อของเขาให้การสนับสนุนจัดหาเงินทุนในการทำงาน Henslow ช่วยจัดการกับตัวอย่างด้านพฤษศาสตร์ ดาร์วินต้องหาผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นๆ เพื่อช่วยเขาแยกแยะและจัดหมวดหมู่ตัวอย่าง เขาได้พบกับนักวิทยาศาสตร์หลายคนรวมทั้ง Charles Lyell ผู้เขียนหนังสือที่เขาอ่านบนเรือซึ่งได้แนะนำนักกายวิภาคศาสตร์ Richard Owen ให้มาช่วยศึกษาฟอสซิลกระดูกที่เขาเก็บรวบรวมมาด้วย

ดาร์วินค่อยๆพัฒนาความคิดเกี่ยวกับวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตจากการศึกษาวิจัยและประสบการณ์ที่ผ่านพบมา พร้อมๆกับทำงานเขียนผลงานทางวิชาการและเขียนหนังสือเกี่ยวกับการเดินทางและสิ่งที่เขาได้เก็บรวมรวมมา ปี 1839 ดาร์วินตีพิมพ์หนังสือ The Voyage of the Beagle ที่เขียนเกี่ยวกับการเดินทางไปกับเรือหลวงบีเกิล ซึ่งสร้างชื่อเสียงให้กับเขาในฐานะนักเขียน เขาทำงานหนักมากจนป่วยหัวใจเต้นผิดปกติ จนแพทย์สั่งให้หยุดงานทั้งหมดและไปพักผ่อนในชนบท

ดาร์วินทำการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่องและมีผลงานหนังสือออกมาเรื่อยๆ กรอบความคิดเรื่องการคัดเลือกโดยธรรมชาติของเขาเริ่มชัดเจนขึ้นแต่เขายังคงต้องการทำงานวิจัยในเรื่องนี้เพิ่มเติมอีก จนถึงปี 1856 Charles Lyell ได้อ่านหนังสือของนักธรรมชาติวิทยา Alfred Russel Wallace และเห็นว่า Wallace มีความคิดที่คล้ายกับดาร์วินในเรื่องนี้ จึงกระตุ้นให้เขารีบตีพิมพ์แนวคิดดังกล่าวเสียก่อน แม้ดาร์วินจะไม่เห็นว่ามันเป็นปัญหาแต่เขาก็ได้เริ่มงานเขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง ปี 1858 ดาร์วินได้รับจดหมายจาก Wallace ที่ส่งบทความเรื่องการคัดเลือกโดยธรรมชาติมาให้เขาอ่าน นี่อาจเป็นอีกแรงกระตุ้นที่ทำให้เขาต้องตีพิมพ์หนังสือหลังจากที่มีแนวคิดเรื่องนี้มานานเกือบ 20 ปี

 
หนังสือเปลี่ยนโลกกับกระแสต่อต้าน

charles-darwin-5

ปลายปี 1859 ดาร์วินตีพิมพ์หนังสือ On the Origin of Species ซึ่งเขาได้นำทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์มาอธิบายวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตในช่วงหลายชั่วอายุผ่านกระบวนการคัดเลือกโดยธรรมชาติ หนังสือเล่มนี้ได้รับความสนใจไปทั่วโลก มีทั้งการยอมรับและกระแสต่อต้านโดยเฉพาะจากทางศาสนจักร แม้หนังสือเล่มนี้ไม่ได้กล่าวถึงกำเนิดของมนุษย์ไว้อย่างชัดแจ้ง แต่ก็บอกเป็นนัยถึงสัตว์ที่เป็นบรรพบุรุษของมนุษย์ว่าเป็นตระกูลลิง ซึ่งขัดแย้งกับคำสอนของศาสนาคริสต์ที่บอกว่าพระเจ้าเป็นผู้สร้างมนุษย์ มีการถกเถียงกันมากมายในประเด็นนี้ จนหลังจากหนังสือตีพิมพ์ได้ 7 เดือนได้มีการเปิดอภิปรายครั้งสำคัญในหัวข้อ 1860 Oxford evolution debate ที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด มีนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญเข้าร่วมมากมาย รวมทั้งบิชอป Samuel Wilberforce มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและฝ่ายคัดค้าน การอภิปรายเป็นไปอย่างดุเดือดจนเป็นที่จดจำ

หลังจากนั้นลัทธิดาร์วิน (Darwinism) หรือแนวคิดแบบดาร์วินนี้ได้ถูกนำไปใช้ครอบคลุมในหลายวงการ รวมทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม หนังสือ On the Origin of Species ถูกแปลเป็นหลายภาษาและกลายเป็นแม่บทสำคัญทางวิทยาศาสตร์ที่ดึงดูดความสนใจของผู้คนในทุกสาขาวิชา ทฤษฎีของดาร์วินยังสะท้อนความเคลื่อนไหวหลายอย่างในเวลานั้นและกลายเป็นกุญแจสำคัญของวัฒนธรรมสมัยนิยม (Popular Culture) มีภาพการ์ตูนล้อเลียนวิวัฒนาการจากลิงเป็นมนุษย์ผุดขึ้นมากมายหลายรูปแบบ รวมทั้งภาพล้อเลียนตัวดาร์วินเองด้วย เรียกได้ว่าหนังสือเล่มนี้ได้เขย่าโลกให้สั่นสะเทือนเลยทีเดียว

charles-darwin-6

 
ผลงานการวิจัยในคน สัตว์ และพืช

charles-darwin-7

แม้ว่าดาร์วินจะมีการป่วยอีกหลายครั้งแต่เขาก็ยังคงทำการทดลอง ทำวิจัย และเขียนหนังสือของเขาต่อไป ผลงานของดาร์วินในรูปแบบของหนังสือทางวิชาการได้ทยอยออกมาอย่างต่อเนื่องอีกหลายเล่ม มีทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับมนุษย์ สัตว์ และพืช ส่วนใหญ่เป็นการต่อยอดจากแนวคิดและทฤษฎีในหนังสือ On the Origin of Species ที่ต่อมาได้รับการยอมรับมากยิ่งขึ้นเมื่อมีผู้ค้นพบซากฟอสซิลของสัตว์เลื้อยคลานที่มีขนและปีกเหมือนนก ซึ่งมีลักษณะอยู่กึ่งกลางระหว่างไดโนเสาร์และนกปัจจุบัน พิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าสัตว์เลื้อยคลานน่าจะเป็นบรรพบุรุษของนก สอดคล้องกับทฤษฎีของดาร์วิน

หนังสือ The Descent of Man, and Selection in Relation to Sex, The Expression of the Emotions in Man and Animals และ The Variation of Animals and Plants under Domestication ได้รับความนิยมมากทำให้ดาร์วินประทับใจที่คนให้การยอมรับความคิดของเขา นอกจากนี้เขายังเขียนหนังสือเกี่ยวกับพืชอีกหลายเล่ม รวมทั้งหนังสือเล่มสุดท้ายที่เขียนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างพืชกับไส้เดือนซึ่งตีพิมพ์ในปี 1881 ดาร์วินเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจในปี 1882 ด้วยวัย 73 ปี ต่อหน้า Emma Wedgwood ภรรยาคู่ใจที่มีลูกด้วยกัน 10 คน

 
นักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุค

charles-darwin-8

ดาร์วินเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีผลงานการเขียนหนังสือมากมายหลายสาขา เขาเริ่มมีชื่อเสียงจากการเป็นนักเขียนด้วยหนังสือ The Voyage of the Beagle ในฐานะนักธรณีวิทยาเขาเขียนหนังสือหลายเล่มเกี่ยวกับทวีปอเมริกาใต้และเป็นผู้ไขปริศนาการเกิดของเกาะปะการัง (coral atolls) ในฐานะนักชีววิทยาเขาก็มีผลงานเกี่ยวกับเพรียง และแน่นอนว่าผลงานสำคัญที่สุดของเขา On the Origin of Species และอีกหลายเล่มที่ตามมาในฐานะนักธรรมชาติวิทยาทำให้เขากลายนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญของโลก

หนังสือของดาร์วินเป็นผลงานที่มีประโยชน์อย่างมากทั้งทางชีววิทยาและมานุษยวิทยา โดยเฉพาะทฤษฎีวิวัฒนาการถือได้ว่าเป็นก้าวสำคัญในวงการชีววิทยาและเป็นรากฐานของทฤษฎีวิวัฒนาการสมัยใหม่ ถูกนำไปใช้ครอบคลุมในหลากหลายสาขา ดาร์วินจึงได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ผู้มีอิทธิพลมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ร่างของเขาถูกฝังไว้ในมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ใกล้กับนักวิทยาศาสตร์ผูู้ยิ่งใหญ่อย่างเซอร์ไอแซก นิวตันอย่างสมเกียรติ

charles-darwin-9

 
 
ข้อมูลและภาพจาก   wikipedia, britannica, mahidol.ac.th

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *