ปรากฏการณ์ที่หายากยิ่งในรอบ 70 ปี : พระจันทร์เต็มดวงในวันครีษมายันของปีนี้

วันครีษมายันไม่ได้เป็นเหตุการณ์ที่หายาก พระจันทร์เต็มดวงก็เช่นกัน แต่หากเป็นวันครีษมายันที่มีพระจันทร์เต็มดวงด้วยจะเป็นเหตุการณ์ที่หายากอย่างยิ่ง เป็นสิ่งพิเศษครั้งหนึ่งในชั่วชีวิตของเรา เนื่องจากมันเป็นหตุการณ์ที่เราไม่ได้เห็นมาเลยในช่วง 70 ปีที่ผ่านมา

ในวันที่ 21 มิถุนายนของทุกๆปี ดวงอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุดและตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด ทำให้เป็นวันที่กลางวันยาวที่สุดในรอบปีของประเทศทางซีกโลกเหนือ ภาษาสันสกฤตเรียกว่า “วันครีษมายัน” (ครีด-สะ-มา-ยัน) หรือ Summer Solstice สำหรับประเทศไทยในวันที่ 21 มิถุนายน 2559 ดวงอาทิตย์จะปรากฏอยู่บนท้องฟ้าเป็นเวลารวมเกือบ 14 ชั่วโมง ส่วนในกรุงนิวยอร์กจะมีกลางวันนานถึง 15.05 ชั่​​วโมง

full-moon-2

 

full-moon-3

 

วันครีษมายันเป็นวันพิเศษที่มีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนาน ผู้คนมักจะมีการเฉลิมฉลองกัน แต่ในปีนี้เรามีโบนัสขนาดใหญ่ที่สวยงามซึ่งก็คือพระจันทร์เต็มดวงในวันเดียวกันนั่นเอง มันไม่ได้เกิดขึ้นอีกเลยตั้งแต่ปี 1967 และหลังจากเกิดขึ้นในปีนี้แล้วจะเกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2062

“การมีพระจันทร์เต็มดวงในวันครีษมายันเป็นเหตุการณ์ที่หายากอย่างแท้จริง” Bob Berman นักดาราศาสตร์จาก Farmer’s Almanac กล่าว “เราคงไม่ไล่คนออกจากปิรามิดเหมือนกับที่ชาวมายันได้ทำ แต่ Slooh (เครือข่ายถ่ายทอดสดจากกล้องโทรทรรศน์ทั่วโลก) จะฉลองวันพิเศษนี้ด้วยการถ่ายทอดสดเหตุการณ์ที่น่าสนใจและน่าตื่นตาตื่นใจครั้งนี้

พระจันทร์เต็มดวงในเดือนมิถุนายนนี้จะเรียกกันว่า “พระจันทร์สตรอว์เบอร์รี” ตามชนเผ่าพื้นเมืองอเมริกันที่ครั้งหนึ่งพวกเขาไม่ได้ใช้ปฏิทินเกรโกเรียนอย่างที่เราใช้กันในปัจจุบัน แต่พวกเขาจะใช้พระจันทร์เต็มดวงแบ่งช่วงเวลาในรอบปี และตั้งชื่อพระจันทร์เต็มดวงในแต่ละช่วงเวลาตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างน่าสนใจทีเดียว ลองติดตามกันดูว่าพวกเขาตั้งชื่อพระจันทร์ในแต่ละเดือนว่าอย่างไรและเพราะอะไร

มกราคม: พระจันทร์หมาป่า (Full Wolf Moon)
ได้ชื่อนี้จากการที่มีฝูงหมาป่าที่หิวโหยเห่าหอนตามหมู่บ้านชาวอินเดียแดงในช่วงเดือนมกราคม

กุมภาพันธ์:พระจันทร์หิมะ (Full Snow Moon)
ชนเผ่าทางเหนือและตะวันออกตั้งชื่อพระจันทร์เดือนกุมภาพันธ์นี้หลังจากที่ต้องเจอกับหิมะตกหนัก บางชนเผ่าก็เรียกว่าพระจันทร์ผู้หิวโหย (Full Hunger Moon) เนื่องจากการล่าสัตว์และการเก็บเกี่ยวพืชผลในช่วงเวลานี้ขาดแคลนมาก

มีนาคม: พระจันทร์หนอน (Full Worm Moon)
เมื่อหิมะละลายจะปรากฏไส้เดือน (earthworm) ขึ้นมามากมายจนเป็นที่มาของชื่อพระจันทร์ในเดือนนี้

เมษายน: พระจันทร์สีชมพู (Full Pink Moon)
ดอกไม้ที่บานก่อนใครในฤดูใบไม้ผลิจะมีพวก herb moss ซึ่งมีสีชมพูอยู่ด้วย พระจันทร์เดือนนี้จึงได้ชื่อตามพวกมัน

พฤษภาคม: พระจันทร์ดอกไม้ (Full Flower Moon)
เดือนพฤษภาคมจะเต็มไปด้วยดอกไม้บานทุกหนทุกแห่ง จนเป็นที่มาของชื่อพระจันทร์ในเดือนนี้

มิถุนายน: พระจันทร์สตรอเบอร์รี่ (Full Strawberry Moon)
ในขณะที่แต่ละชนเผ่าอาจจะเรียกชื่อพระจันทร์แตกต่างกันในบางเดือน แต่ในเดือนมิถุนายนพวกเขาจะเรียกเหมือนกันหมด เนื่องจากเป็นช่วงเวลาของการเก็บเกี่ยวสตรอเบอร์รี่นั่นเอง

กรกฏาคม: พระจันทร์กวางตัวผู้ (Full Buck Moon)
ถ้ามีเขาอ่อนอันใหม่งอกออกมาจากหน้าผากของกวางตัวผู้ จะเป็นเวลาของพระจันทร์กวางตัวผู้ ในเดือนกรกฎาคมของทุกปีจะเป็นฤดูผสมพันธ์ุของกวาง ซึ่งกวางตัวผู้จะมีเขาอ่อนอันใหม่เริ่มงอกออกมา บางชนเผ่าเรียกว่าพระจันทร์สายฟ้า (Full Thunder Moon) เนื่องจากช่วงกลางฤดูร้อนจะมีพายุฝนฟ้าคะนองอยู่ทั่วทุกหัวระแหง

สิงหาคม: พระจันทร์ปลาสเตอร์เจียน (Full Sturgeon Moon)
มันเป็นช่วงเวลาที่ปลาสเตอร์เจียนจะถูกจับได้อย่างง่ายดายที่สุด พระจันทร์จึงได้รับการตั้งชื่อเพื่อบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของปลา

กันยายน: พระจันทร์ข้าวโพด (Full Corn Moon)
พระจันทร์ข้าวโพดจะบอกช่วงเวลาของปีที่ข้าวโพดพร้อมสำหรับการเก็บเกี่ยวนั่นเอง เรามักจะยังคงเรียกพระจันทร์เต็มดวงในเดือนกันยายนว่าพระจันทร์เก็บเกี่ยว (Harvest Moon) เนื่องจากพระจันทร์เต็มดวงที่เกิดขึ้นใกล้เคียงกับวันศารทวิษุวัต (Autumnal equinox) จะสว่างเป็นพิเศษ ชาวนาสามารถทำงานท่ามกลางแสงจันทร์ได้

ตุลาคม: พระจันทร์นักล่า (Full Hunter’s Moon)
ช่วงเวลาของการสะสมอาหารสำหรับฤดูหนาว กวางกำลังอ้วนพีและสุนัขจิ้งจอกและสัตว์อื่นๆจะคอยจ้องและล่าพวกมัน

พฤศจิกายน: พระจันทร์บีเวอร์ (Full Beaver Moon)
เนื่องจากหนองน้ำและลำธารต่างๆกำลังจะแข็งตัวในช่วงเวลานี้ ตัวบีเว่อร์จึงถูกจับเพื่อเอาหนังของพวกมันมาสร้างความอบอุ่นเพื่อความอยู่รอดในช่วงฤดู​​หนาว บางครั้งก็เรียกว่าพระจันทร์น้ำแข็ง (Full Frosty Moon)

ธันวาคม: พระจันทร์หนาว (Full Cold Moon)
ใช่ มันเป็นช่วงเวลาที่หนาวเย็นเต็มที่ แต่ดวงจันทร์ของเดือนธันวาคมยังถูกเรียกว่าพระจันทร์ในคืนที่ยาวนาน (Long Nights Moon) เนื่องจากดวงจันทร์กลางฤดูหนาวจะอยู่ในท้องฟ้าเป็นเวลานานกว่าช่วงเวลาอื่น ดังนั้นเราไม่เพียงแต่มีกลางคืนที่ยาวนานเท่านั้น แต่ยังมีพระจันทร์ที่ยาวนานด้วย

 

ข้อมูลและภาพจาก  treehugger, hollywoodlife

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *