2018 VG18 ซึ่งมีชื่อเล่นว่า “Farout” เป็นวัตถุที่อยู่ไกลมากๆคือราว 120 AU (1 AU คือระยะทางระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ซึ่งเท่ากับ 93 ล้านไมล์) โดยก่อนหน้านี้วัตถุที่อยู่ไกลที่สุดเป็นดาวเคราะห์แคระ Eris ซึ่งอยู่ไกลออกไป 96 AU ส่วนดาวพลูโตที่เคยเป็นดาวเคราะห์ที่ไกลที่สุดนั้นอยู่ที่ระยะ 34 AU ซึ่งนั่นหมายถึง 2018 VG18 อยู่ไกลกว่าดาวพลูโตถึง 3 เท่าครึ่ง
การค้นพบ 2018 VG18 เป็นหนึ่งในผลงานของทีมวิจัยซึ่งกำลังค้นหาวัตถุที่อยู่ตามชายขอบระบบสุริยะอันไกลโพ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งดาวเคราะห์ลึกลับที่รู้จักกันในชื่อ Planet X หรือบางทีก็เรียกกันว่า Planet 9 เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาก็มีการประกาศการค้นพบวัตถุที่อยู่ห่างไกลของระบบสุริยะชื่อ 2015 TG387 ที่มีชื่อเล่นว่า “The Goblin” เนื่องจากมันถูกค้นพบครั้งแรกใกล้กับวันฮาโลวีน The Goblin อยู่ไกลออกไป 80 AU และมีวงโคจรซึ่งได้รับอิทธิพลจาก Planet X ที่อยู่สุดขอบระบบสุริยะแต่ยังไม่ถูกค้นพบ
การคงอยู่ของ Planet X ถูกเสนอโดยทีมงานเดียวกันนี้ในปี 2014 เมื่อพวกเขาค้นพบ 2012 VP113 ชื่อเล่นว่า “Biden” ซึ่งโคจรอยู่ที่ระยะราว 84 AU ทั้ง 2015 TG387 และ 2012 VP113 ไม่เคยเข้ามาใกล้ดาวเคราะห์ดวงใหญ่ของระบบสุริยะอย่างเช่นดาวเนปจูนหรือดาวพฤหัสบดีมากพอที่แรงโน้มถ่วงจะส่งผลต่อพวกมัน ดังนั้นจึงสามารถใช้พวกมันเป็นตัวสืบเสาะหาความเป็นไปของระบบสุริยะรอบนอกได้ ทีมงานยังไม่รู้รายละเอียดวงโคจรของ 2018 VG18 มากนัก ดังนั้นพวกเขาจึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่าได้รับอิทธิพลจาก Planet X หรือไม่
“2018 VG18 อยู่ไกลมากและเคลื่อนที่ช้ากว่าวัตถุอื่นในระบบสุริยะที่เคยพบ ดังนั้นมันต้องใช้เวลาสองสามปีในการคำนวณวงโคจรที่สมบูรณ์ของมัน” Sheppard กล่าว “แต่มันถูกพบที่ตำแหน่งบนท้องฟ้าคล้ายกับวัตถุที่อยู่ห่างไกลอื่นที่เราพบก่อนหน้านี้ซึ่งทำให้มีแนวโน้มว่ามันอาจมีวงโคจรจรชนิดเดียวกัน วงโคจรที่คล้ายคลึงกันของวัตถุขนาดเล็กที่อยู่ห่างไกลจำนวนมากนี้ยิ่งทำให้พวกเรายืนยันความคิดเดิมที่ว่ามีดาวเคราะห์ขนาดใหญ่อยู่ที่ระยะหลายร้อย AU กำลังต้อนวัตถุเล็กๆพวกนี้อยู่”
2018 VG18 ถูกพบโดยกล้องโทรทรรศน์ Subaru ของญี่ปุ่นซึ่งตั้งอยู่ที่ยอดภูเขา Mauna Kea ในฮาวาย สหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2018 และได้รับการยืนยันด้วยกล้องโทรทรรศน์ Magellan ที่หอดูดาว Carnegie’s Las Campanas Observatory ประเทศชิลีว่ามีระยะห่างราว 120 AU มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางราว 500 กม. น่าจะมีรูปร่างเป็นทรงกลมและเป็นดาวเคราะห์แคระ มีโทนสีเป็นสีชมพูซึ่งเป็นสีของพวกวัตถุที่อุดมไปด้วยน้ำแข็ง
“ทั้งหมดที่เรารู้เกี่ยวกับ 2018 VG18 ก็คือระยะห่างจากดวงอาทิตย์, ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางโดยประมาณ และสีของมัน” Tholen กล่าว “เนื่องจาก 2018 VG18 อยู่ไกลมาก และมันโคจรอย่างช้าๆ ดังนั้นเป็นไปได้ที่มันจะใช้เวลาโคจรรอบดวงอาทิตย์หนึ่งรอบมากกว่า 1,000 ปี”
ข้อมูลและภาพจาก carnegiescience.edu