นาซายอมรับแล้วว่าดาวเคราะห์ดวงที่ 9 มีอยู่จริงและอาจเป็นซูเปอร์เอิร์ธที่หายสาบสูญไป

นาซาแถลงยอมรับแล้วว่าดาวเคราะห์ดวงที่ 9 ซึ่งนักดาราศาสตร์กำลังมุ่งมั่นหามันให้พบนั้นมีอยู่จริง และการคงอยู่ของมันจะช่วยสร้างความกระจ่างให้กับปริศนาหลายอย่างในระบบสุริยะของเรา

ดาวเคราะห์ดวงที่ 9 ถูกตั้งสมมุติฐานว่าโคจรอยู่ที่ขอบนอกของระบบสุริยะ มีมวลมากกว่าโลก 10 เท่า อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์มากกว่าระยะทางจากดวงอาทิตย์ถึงดาวเนปจูน 20 เท่า โคจรรอบดวงอาทิตย์หนึ่งรอบใช้เวลาราว 15,000 ปี แม้ว่าจะยังไม่มีโอกาสได้เห็นมันโดยตรงแต่นักดาราศาสตร์พบว่าลักษณะที่แปลกประหลาดหลายอย่างของระบบสุริยะสามารถอธิบายได้อย่างดีที่สุดด้วยอิทธิพลจากแรงโน้มถ่วงของมัน นาซาบอกว่าถึงตอนนี้มันยากมากที่จะคิดว่าระบบสุริยาของเราไม่มีดาวเคราะห์ดวงที่ 9

“ตอนนี้มีหลักฐานจากการสังเกตการณ์ถึง 5 อย่างที่บ่งชี้ถึงการคงอยู่ของดาวเคราะห์ดวงที่ 9” Konstantin Batygin นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนีย (Caltech) กล่าว “ถ้าคุณคิดว่าไม่มีดาวเคราะห์ดวงที่ 9 คุณจะเจอกับปัญหาเพิ่มขึ้นแทนที่จะแก้ปัญหาได้ คุณจะต้องเจอทันทีกับปริศนา 5 อย่างและจะต้องมีอีก 5 ทฤษฎีที่จะมาอธิบายมัน”

Konstantin Batygin and Mike Brown นักดาราศาสตร์สองคนจากสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย ได้นำเสนอหลักฐานการดำรงอยู่ของดาวเคราะห์ดวงที่ 9 เป็นครั้งแรกเมื่อเดือนมกราคม ปี 2016 วัตถุในแถบไคเปอร์ 6 ดวงมีระนาบการโคจรที่ผิดปกติ ทั้งหมดมีวงโคจรชี้ไปในทิศทางเดียวกันซึ่งแปลกและไม่ชอบมาพากล และยังเอียงทำมุม 30 องศาเทียบกับระนาบการโคจรของดาวเคราะห์ทั้งแปด ซึ่งแสดงถึงว่ามีดาวเคราะห์ใหญ่ขนาด 10 เท่าของโลกกำลังดึงพวกมันอยู่จากด้านนอกในเงามืด

planet-nine-the-supereart-2

และจากการใช้แบบจำลองคอมพิวเตอร์ของระบบสุริยะที่มีดาวเคราะห์ดวงที่ 9 รวมอยู่ด้วย Batygin และ Brown พบว่ามีวัตถุอีกจำนวนมากที่เอียงทำมุมถึง 90 องศาเทียบกับระนาบของระบบสุริยะ และจากการสำรวจเพิ่มเติมได้พบกับวัตถุ 5 ดวงที่สอดคล้องกับสมมุติฐานดังกล่าว

จากนั้นพวกเขาได้พบหลักฐานการคงอยู่ของดาวเคราะห์ดวงที่ 9 เพิ่มเติมอีก Batygin และ Brown กับนักศึกษา Elizabeth Bailey ได้แสดงให้เห็นว่าสาเหตุที่ระนาบโคจรของดาวเคราะห์ทั้งแปดเอียงราว 6 องศาเทียบกับเส้นศูนย์สูตรของดวงอาทิตย์นั้นเกิดจากอิทธิพลของดาวเคราะห์ดวงที่ 9

และสุดท้ายทีมนักวิจัยได้แสดงให้เห็นว่าการคงอยู่ของดาวเคราะห์ดวงที่ 9 สามารถอธิบายว่าทำไมวัตถุในแถบไคเปอร์ถึงได้โคจรในทิศทางตรงกันข้ามกับวัตถุอื่นในระบบสุริยะ

“ไม่มีแบบจำลองอื่นใดที่สามารถอธิบายความแปลกประหลาดของวงโคจรที่เอียงอย่างมากนี้” Batygin กล่าว “ดาวเคราะห์ดวงที่ 9 ทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ วัตถุต่างๆเอียงออกจากระนาบของระบบสุริยะด้วยอิทธิพลของดาวเคราะห์ดวงที่ 9 และกระจัดกระจายเข้ามาข้างในโดยดาวเนปจูน”

ขั้นตอนที่เหลือก็คือการหาดาวเคราะห์ดวงที่ 9 ให้พบ Batygin และ Brown กำลังใช้กล้องโทรทรรศน์ Subaru ที่หอดูดาว Mauna Kea ในฮาวายเพื่อพยายามทำสิ่งนั้นอยู่ และกล้องโทรทรรศน์ Subaru ก็เป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในการค้นหาวัตถุสลัวเลือนลางที่อยู่ห่างไกลมากแบบนั้น

planet-nine-the-supereart-3

นักวิทยาศาสตร์คนอื่นได้เสนอการอธิบายที่แตกต่างออกไปสำหรับหลักฐานของดาวเคราะห์ดวงที่ 9 ที่แสดงโดยทีมงานของ Batygin และ Brown จากการวิเคราะห์ข้อมูลในโครงการสำรวจอวกาศที่ชื่อ the Outer Solar System Origins Survey เมื่อไม่นานมานี้ซึ่งพบวัตถุพ้นดาวเนปจูน (Trans-Neptunian Object) มากกว่า 800 ดวง การกระจายแบบสุ่มของวัตถุเหล่านี้อาจสามารถส่งผลในแบบเดียวกันต่อระนาบการโคจรของวัตถุอื่นได้เช่นกัน

ในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมามีการสำรวจพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะมากมายที่นักดาราศาสตร์เรียกว่า ซูเปอร์เอิร์ธ (super Earths) – ดาวเคราะห์หินที่ใหญ่กว่าโลกแต่เล็กกว่าดาวเนปจูน (เนปจูนใหญ่กว่าโลก 17 เท่า) – อย่างไรก็ตามยังไม่มีซูเปอร์เอิร์ธใดถูกค้นพบในระบบสุริยะเลย ดังนั้นดาวเคราะห์ดวงที่ 9 จึงอาจเป็นซูเปอร์เอิร์ธที่หายสาบสูญไปจากระบบสุริยะของเราก็เป็นได้

 

ข้อมูลและภาพจาก nasa, space

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *