ทิม เบอร์เนอร์ส-ลี ผู้เปลี่ยนโลกการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้วย World Wide Web

ทิม เบอร์เนอร์ส-ลี (Tim Berners-Lee) เป็นวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์ด้านคอมพิวเตอร์ชาวอังกฤษผู้คิดค้นระบบข้อมูลข่าวสารบนอินเตอร์เน็ตที่เรียกว่า World Wide Web (WWW) อันทรงพลังที่ทำให้ระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลกและกลายเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งของมนุษย์ในยุคปัจจุบัน เขาได้ก่อตั้งกลุ่มบริษัท World Wide Web Consortium (W3C) เพื่อดูแลการพัฒนา WWW อย่างต่อเนื่องสร้างความเจริญก้าวหน้าในด้านการค้นหาและการเผยแพร่ความรู้และข้อมูลข่าวสารชนิดเปลี่ยนโลก เขาจึงได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในบุคคลที่สำคัญที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20

 
ชอบคอมพิวเตอร์ตั้งแต่รุ่นพ่อถึงรุ่นลูก

tim-berners-lee-02

ทิม เบอร์เนอร์ส-ลี เป็นชาวอังกฤษ เกิดเมื่อปี 1955 ที่กรุงลอนดอน เป็นลูกของ Conway Berners-Lee และ Mary Lee Woods สองสามีภรรยานักคณิตศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ที่ทำงานในทีมพัฒนาเครื่องคอมพิวเตอร์ Ferranti Mark 1 ซึ่งเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์เชิงพาณิชย์เครื่องแรกของโลก ดูเหมือนว่าความหลงใหลในคอมพิวเตอร์ได้ถูกถ่ายทอดไปยังลูกชายคนโตคนนี้อย่างเต็มที่ ตอนเป็นเด็กเบอร์เนอร์ส-ลีเพลิดเพลินกับการเรียนรู้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในโมเดลรถไฟจําลองและสนุกกับการสร้างเครื่องคอมพิวเตอร์ของเล่นด้วยกล่องกระดาษ

เบอร์เนอร์ส-ลีเข้าเรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียน Emanuel School ในกรุงลอนดอน ในช่วงเวลานี้เขาชอบอ่านหนังสือนิยายวิทยาศาสตร์มากโดยเฉพาะเรื่อง Dial F for Frankenstein ของ Arthur C. Clarke ซึ่งในเรื่องมีเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อเป็นเครือข่ายแล้วกลายเป็นสมองมนุษย์ที่มีชีวิต จึงไม่น่าแปลกใจที่เขาเลือกเข้าเรียนต่อในวิชาฟิสิกส์และคอมพิวเตอร์ที่ Queen’s College มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดที่ซึ่งเขาได้สร้างเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องแรกของเขาด้วยหัวแร้งกับชุดอุปกรณ์และทีวีเก่า เบอร์เนอร์ส-ลีจบการศึกษาด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่งในปี 1976

 
ผุดไอเดียสร้างต้นแบบที่ไม่ได้ใช้งาน

tim-berners-lee-03

เบอร์เนอร์ส-ลีเริ่มทำงานแรกเป็นวิศวกรที่บริษัท Plessey Telecommunications ที่เมือง Poole ทางตอนใต้ของอังกฤษ ทำเกี่ยวกับระบบการกระจายรายการและเทคโนโลยีบาร์โค้ด จากนั้นในปี 1978 ย้ายไปที่บริษัท D. G. Nash ที่เมือง Ferndown ไม่ไกลจากบริษัทเก่า ที่นี่เขาได้ช่วยสร้างซอฟต์แวร์สำหรับปริ้นเตอร์และระบบปฏิบัติการแบบหลายภาระกิจ ปี 1980 เขาไปทำงานเป็นวิศวกรซอฟต์แวร์อิสระให้กับองค์การวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป (CERN) ที่เมืองเมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เป็นเวลาสั้นๆเพียง 6 เดือน แต่การทำงานที่นี่กลับทำให้เขาเกิดไอเดียสำหรับการคิดค้นสิ่งที่ยิ่งใหญ่มากๆในอนาคต

โปรเจ็คของเบอร์เนอร์ส-ลีที่ CERN คือการทำซอฟแวร์เพื่ออำนวยความสะดวกในการแบ่งปันและอัพเดทไฟล์ข้อมูลระหว่างนักวิจัยและเจ้าหน้าที่ของ CERN จำนวนหลายพันคน เขาได้สร้างระบบต้นแบบในชื่อ ENQUIRE โดยใช้แนวคิดของ “Hypertext” เป็นพื้นฐานสำคัญของระบบ เขาส่งมอบโปรแกรมต้นแบบให้กับเจ้าหน้าที่ของ CERN ก่อนที่จะออกจาก CERN ตอนปลายปี 1980 เขามารู้ภายหลังว่าแผ่นดิสก์ที่บรรจุ ENQUIRE ไว้นั้นน่าจะถูกนำไปใช้ในโปรเจ็คอื่นและถูกเขียนทับไปแล้ว ระบบ ENQUIRE จึงหยุดเพียงเท่านั้นไม่ได้ถูกพัฒนาต่อ

 
ความสำเร็จจากไอเดียเมื่อ 10 ปีก่อน

tim-berners-lee-04

หลังออกจาก CERN เบอร์เนอร์ส-ลีไปทำงานที่บริษัท John Poole’s Image Computer Systems ที่เมือง Bournemouth ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบริษัทแรกของเขา เขารับผิดชอบดูแลงานด้านเทคนิคของบริษัทเป็นเวลานาน 3 ปีซึ่งทำให้เขามีประสบการณ์ด้านเครือข่ายคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ด้านการติดต่อสื่อสาร จากนั้นเขาจึงกลับไปทำงานที่ CERN อีกครั้งหนึ่งแต่คราวนี้เขาทำงานในฐานะนักวิจัย

ในช่วงทศวรรษ 1980 เริ่มมีการใช้อีเมล์กันอย่างแพร่หลายแล้วโดยเฉพาะที่ CERN ซึ่งเป็นองค์กรที่ใหญ่มาก พอถึงปี 1989 CERN ได้กลายเป็นจุดที่มีการใช้อินเตอร์เน็ตมากที่สุดในทวีปยุโรป มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารผ่านทางอีเมล์จำนวนมหาศาล เบอร์เนอร์ส-ลีมองเห็นโอกาสที่เขาจะสามารถนำแนวคิดระบบการแบ่งปันไฟล์ข้อมูลด้วย “Hypertext” จากเมื่อหลายปีก่อนมาหลอมรวมเข้ากับอินเตอร์เน็ตสร้างเป็นระบบที่สามารถแบ่งปันข้อมูลระหว่างผู้คนทั่วทั้งโลกโดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้อีเมล์

ปี 1990 เบอร์เนอร์ส-ลีนำแนวคิด Hypertext เชื่อมต่อกับชุดโปรโตคอลที่ใช้ควบคุมการสื่อสารระหว่างคอมพิวเตอร์ Transmission Control Protocol (TCP) และระบบการตั้งชื่อโดเมน Domain Name System (DNS) สร้างขึ้นเป็นระบบที่เขาตั้งชื่อว่า World Wide Web (WWW) จากนั้นเขาจีงสร้างเว็บไซต์แรกของโลกชื่อ http://info.cern.ch เผยแพร่บนอินเตอร์เน็ตเป็นครั้งแรกในวันที่ 20 ธันวาคม ปี 1990 โดยเขาได้สร้างเว็บเบราว์เซอร์ตัวแรกของโลกขึ้นมาด้วยในชื่อ “WorldWideWeb” และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงวิธีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารไปจากเดิมชนิดพลิกโลก

 
เปลี่ยนโลกข้อมูลข่าวสารด้วย WWW

tim-berners-lee-05

เทคโนโลยี WWW จากการคิดค้นของเบอร์เนอร์ส-ลีได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วมีเว็บไซต์เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปลายปี 1995 หรือราว 5 ปีนับจากมีเว็บไซต์แรกจำนวนเว็บไซต์ทั่วโลกได้เพิ่มขึ้นเป็น 20,000 เว็บไซต์ แต่พอถึงต้นปี 2009 จำนวนเว็บไซต์มีมากกว่า 200 ล้านเว็บไซต์ และหลังจากปี 2014 เป็นต้นมามีจำนวนเว็บไซต์มากกว่า 1,000 ล้านเว็บไซต์และยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อินเตอร์เน็ตจึงกลายเป็นแหล่งความรู้และข้อมูลข่าวสารที่ใหญ่ที่สุดในโลกส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของมนุษย์จากเดิมไปอย่างมหาศาล

เว็บไซต์ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในหลากหลายรูปแบบ และ ด้วยข้อมูลที่มีจำนวนมหาศาลจึงจำเป็นต้องมีเครื่องมือในการค้นหาข้อมูลที่ต้องการได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพจึงทำให้เกิดเว็บไซต์ google.com ที่มีผู้ใช้งานเป็นอันดับหนึ่งของโลกมาอย่างยาวนาน ต่อมามีการพัฒนาเว็บไซต์เพื่อซื้อขายสินค้าบนอินเตอร์เน็ตเกิดเป็น E-Commerce ขึ้น มีเว็บไซต์ดังอย่างเช่น amazon.com, ebay.com และ alibaba.com ซึ่งได้สร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบค้ารวมถึงวิถีชีวิตของผู้คนในโลกไปอย่างมาก จากนั้นมีการพัฒนาเว็บไซต์ให้เป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์มีเว็บไซต์ดังอย่าง facebook.com ซึ่งทำให้การติดต่อสื่อสารระหว่างผู้คนยิ่งเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง เหล่านี้เป็นตัวอย่างส่วนหนึ่งที่เกิดจากเทคโนโลยี WWW อันทรงพลัง

 
ดูแลการพัฒนา WWW อย่างต่อเนื่อง

tim-berners-lee-06

หลังจากสร้าง WWW และเว็บไซต์แรกสำเร็จแล้วเบอร์เนอร์ส-ลียังคงทำงานออกแบบและพัฒนามันต่อไปอีกหลายปี จนถึงปี 1994 เมื่อ WWW ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมากแล้วเขาจึงลาออกจาก CERN แล้วไปจัดตั้งองค์กร W3C (World Wide Web Consortium) เพื่อสร้างมาตรฐานและปรับปรุงคุณภาพของระบบเว็บขึ้นที่ห้องทดลองวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ของสถาบัน MIT ในรัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริา โดยได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงานทั้งในยุโรปและอเมริกา เบอร์เนอร์ส-ลีทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการและเป็นหนึ่งในผู้นำขององค์กรซึ่งได้ควบคุมดูแลการพัฒนาของ WWW อย่างต่อเนื่องจนมาถึงปัจจุบันซึ่งมีส่วนสำคัญที่ทำให้เทคโนโลยี WWW มีความเจริญก้าวหน้าอย่างมาก ปัจจุบัน W3C มีสมาชิกประกอบด้วยสถาบันการศึกษา บริษัทด้านเทคโนโลยี และองค์กรต่างๆทั่วโลกกว่า 400 องค์กร ความสำเร็จของ W3C ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาสร้างความภาคภูมิใจให้เบอร์เนอร์ส-ลีเป็นอย่างมาก

ปี 2009 เบอร์เนอร์ส-ลีได้ก่อต้องมูลนิธิ World Wide Web Foundation เพื่อสนับสนุนให้คนทั่วโลกสามารถเข้าถึงเว็บได้อย่างอิสระและเปิดกว้างในขณะเดียวกันก็ทำให้มั่นใจว่าเว็บเป็นเครื่องมือที่ปลอดภัยและทรงพลังที่ประชาชนสามารถใช้งานได้อย่างมีอิสระและช่วยให้ชีวิตดีขึ้นได้อย่างเต็มที่ ปี 2012 เขาร่วมกับ Nigel Shadbolt ก่อตั้งสถาบัน Open Data Institute (ODI) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงและสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนทั่วโลกคิดค้นนวัตกรรมด้วยข้อมูล ปี 2013 เบอร์เนอร์ส-ลีร่วมกับองค์กรภาครัฐและเอกชนซึ่งรวมถึง Google, Facebook, Intel และ Microsoft ก่อตั้งกลุ่มพันธมิตร Alliance for Affordable Internet (A4AI) เพื่อหาทางทำให้การถึงอินเตอร์เน็ตถูกลงเพื่อประชาชนในประเทศกำลังพัฒนาเข้าถึงอินเตอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้เขายังได้ร่วมมือกับรัฐบาลและสถาบันหลายแห่งในการช่วยทำให้ข้อมูลเปิดกว้างและเข้าถึงได้ง่ายผ่านทางเว็บไซต์อีกหลายโครงการ

 
อัศวินผู้สร้างนวัตกรรมเพื่อคนทั้งโลก

tim-berners-lee-07

เบอร์เนอร์ส-ลีได้คิดค้นเทคโนโลยี WWW อันเป็นนวัตกรรมใหม่ที่สร้างประโยชน์ให้แก่มนุษยชาติอย่างมหาศาลโดยที่เขาไม่เคยจดสิทธบัตรสิ่งที่เขาคิดค้นขึ้นมาเลย เพราะเป็นความต้องการของเขาตั้งแต่แรกที่จะให้ทุกคนสามารถใช้ได้อย่างอิสระโดยไม่มีสิทธิบัตรและไม่มีค่าลิขสิทธิ์ใดๆอันเป็นเงื่อนไขสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้นวัตกรรมใหม่นี้ถูกพัฒนาอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องเพื่อคนทั้งโลกอย่างแท้จริง

ปี 2004 เบอร์เนอร์ส-ลีได้รับการแต่งตั้งเป็นอัศวินโดยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งประเทศอังกฤษ และในปี 2007 เขายังได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์ Order of Merit (OM) ซึ่งจำกัดผู้ได้รับเพียงไม่เกิน 24 คนเท่านั้นอีกด้วย นอกจากนี้เขายังได้รับรางวัลเกียรติยศอีกมากมาย เช่น ได้รับเลือกเป็นสมาชิกของราชสมาคม (Royal Society) ของอังกฤษและสถาบัน National Academy of Sciences (NAS) ของสหรัฐอเมริกา, ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยหลายแห่งทั่วโลกรวมทั้งมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และมหาวิทยาลัยเยล

ปี 2013 เบอร์เนอร์ส-ลีได้รับรางวัล Queen Elizabeth Prize for Engineering ซึ่งมอบเงินรางวัล 1 ล้านปอนด์สำหรับผู้สร้างสุดยอดนวัตกรรมล้ำสมัยด้านวิศวกรรม ปี 2017 เขาได้รับรางวัล ACM Turing Award อันเปรียบเสมือนรางวัลโนเบลสาขาคอมพิวเตอร์ และเมื่อปี 1999 นิตยสารไทม์ได้ยกย่องให้เบอร์เนอร์ส-ลีเป็นหนึ่งใน 100 บุคคลที่สำคัญที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20 นี่คือนักประดิษฐ์ยิ่งใหญ่ที่เปลี่ยนโลกการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้วย World Wide Web ผู้มีนามว่าเซอร์ทิม เบอร์เนอร์ส-ลี

tim-berners-lee-08

 

ข้อมูลและภาพจาก wikipedia, famousscientists.org, yourdictionary

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *