ขยะพลาสติกทำให้การเปลี่ยนเปลือกที่น่าทึ่งของปูเสฉวนกลายเป็นโศกนาฏกรรม

ปูเสฉวน (Hermit Crab) จำเป็นต้องมีเปลือกที่แข็งแรงเพื่อปกป้องอวัยวะส่วนที่เปราะบางของมัน หากปราศจากเปลือกมันจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน ปูเสฉวนสามารถหาเปลือกหอยตามพื้นทะเลและชายหาดที่มีขนาดเหมาะสมกับขนาดตัวของมันและใช้เปลือกหอยนั้นเป็นเสมือนบ้านที่ติดตัวมันไปด้วยกันตลอดเวลา

แต่ปูเสฉวนมีการเติบโตของร่างกายเพิ่มขึ้นทุกวันดังนั้นทุกช่วงเวลาหนึ่งมันจึงต้องมองหาเปลือกหอยอันใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม เราจึงมีโอกาสได้เห็นพฤติกรรมอันน่าทึ่งที่ปูเสฉวนยืนต่อแถวกันเรียงลำดับตามขนาดตัวเพื่อแลกเปลี่ยนเปลือกอันใหม่กันดังในวิดีโอที่เคยผ่านตากันไปแล้ว

นอกจากนี้ปูเสฉวนบางตัวยังนำเอาดอกไม้ทะเล (Sea Anemones) มาประดับที่เปลือกของมันซึ่งเป็นความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกัน ขณะที่ปูเสฉวนได้อาศัยหนวดที่มีพิษของดอกไม้ทะเลไว้ป้องกันอันตรายจากนักล่า ดอกไม้ทะเลก็ได้รับเศษอาหารจากปูเสฉวน ที่ไม่น่าเชื่อก็คือเวลาที่ปูเสฉวนเปลี่ยนเปลือกมันสามารถแกะดอกไม้ทะเลที่เกาะติดเปลือกเก่ามาไว้ที่เปลือกใหม่ได้อย่างน่าอัศจรรย์ดังในวิดีโอข้างล่าง

hermit-crab-1


 
แต่พอเศษขยะพลาสติกที่ชายหาดและในท้องทะเลมีเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลสิ่งที่ไม่คาดคิดได้เกิดขึ้นกับปูเสฉวน พวกมันเกิดสับสนไปเอาขยะพลาสติกพวกนั้นมาทำเป็นบ้านแทนเปลือกหอย แต่ที่น่าตระหนกคือขยะพลาสติกบางอย่างได้กลายเป็นกับดักและคร่าชีวิตของปูเสฉวนเป็นจำนวนมาก มีรายงานเมื่อปี 2019 เฉพาะที่เกาะโคโคสที่เดียวมีปูเสฉวนตายจากสาเหตุนี้ปีละกว่า 500,000 ตัว

hermit-crab-2

ในงานวิจัยล่าสุดจากมหาวิทยาลัยควีนในกรุงเบลฟาสต์ ประเทศไอร์แลนด์ พบว่าการที่ปูเสฉวนได้สัมผัสกับไมโครพลาสติกในน้ำทำให้ความสามารถของพวกมันในการตรวจเลือกเปลือกหอยอันใหม่ลดลงไปอย่างมาก ทีมวิจัยนำปูเสฉวนตัวเมียสองกลุ่มกลุ่มหนึ่ง 29 ตัว อีกกลุ่ม 35 ตัว ใส่ในถังแยกกันคนละถัง ในถังมีน้ำทะเลและสาหร่ายทะเล แต่ถังหนึ่งมีเม็ดพลาสติกโพลีเอททีลีนขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 มม.อยู่ด้วย ห้าวันต่อมาพวกเขาถอดเปลือกของพวกมันออกและให้เปลือกหอยใหม่ขนาดที่พอเหมาะกับพวกมัน สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาได้สร้างความประหลาดใจแก่นักวิจัยมาก

ทีมวิจัยพบว่าหลังจากผ่านไปสองชั่วโมงปูเสฉวนกลุ่มที่ไม่ได้สัมผัสเม็ดพลาสติกจำนวน 25 ตัวเข้าไปสำรวจขนาดเปลือกหอยและมีถึง 21 ตัวที่เลือกไปเป็นบ้านของมัน แต่ปูเสฉวนกลุ่มที่สัมผัสกับเม็ดพลาสติกกลับใช้เวลานานมากกว่าจะเริ่มสำรวจหาเปลือกใหม่และมีเพียง 10 ตัวเท่านั้นที่เข้าไปตรวจหาเปลือกที่เหมาะสม โดยมี 9 ตัวเลือกเอาไปเป็นบ้านของมัน ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนว่าการสัมผัสกับเม็ดพลาสติกทำให้ความสามารถของปูเสฉวนในการตรวจเลือกเปลือกหอยอันใหม่ลดลงไปอย่างมาก

ดังนั้นการเอาเศษขยะพลาสติกออกไปจากชายหาดและท้องทะเลจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะไม่เพียงทำให้ชายหาดสะอาดตาน่ามองแต่ยังช่วยให้ปูเสฉวนและสัตว์ทะเลอื่นๆไม่ถูกทำลายไปอย่างมากมาย รวมทั้งระบบนิเวศจะได้กลับมาสมบูรณ์ดีดังเดิม

 

ข้อมูลและภาพจาก treehugger, BlueWorldTV

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *