ปะการังฟอกขาวที่ Great Barrier Reef กำลังเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์

ปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาว เป็นสภาวะที่ปะการังสูญเสียสาหร่ายเซลล์เดียว (Zooxanthellae) ที่อาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อของปะการังแบบพึ่งพากัน (Symbiosis) ทำให้ปะการังอ่อนแอเพราะไม่ได้รับสารอาหารที่เพียงพอ และอาจตายถ้าไม่สามารถทนต่อสภาวะนี้ได้ การสูญเสียสาหร่ายเซลล์เดียวทำให้ปะการังเหล่านั้นเหลือเพียงเนื้อเยื่อใสๆ เผยให้เห็นสีขาวของหินปูนซึ่งเป็นโครงสร้างของมัน (สีของปะการังเกิดจากรงควัตถุของสาหร่ายเซลล์เดียว)

ปะการังฟอกขาวเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการฟอกขาวเป็นวงกว้างคือ อุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นอย่างผิดปกติ

ปะการังของ Great Barrier Reef ที่ออสเตรเลียกำลังมีปัญหา

ทางตอนเหนือของแนวปะการังที่ใหญ่ที่สุดในโลกกำลังประสบกับ “ปรากฎการณ์ฟอกขาวที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์” ตามประกาศของสภาวิจัยแห่งออสเตรเลียเมื่อ 29 มีนาคม 2016

จากการสำรวจทางอากาศของหน่วยปฏิบัติการเฉพาะกิจปะการังฟอกขาวแห่งชาติ (NCBT) ที่ได้สังเกตการณ์มากกว่า 500 แนวปะการัง ที่ทอดยาว 2,485 ไมล์ (4,000 กิโลเมตร) พบว่าแนวปะการังส่วนใหญ่กำลังมีสภาวะฟอกขาวที่ขยายตัวอย่างกว้างขวางและรุนแรง

“เกือบทุกแนวปะการังที่เราบินผ่าน พบการฟอกขาวรุนแรงอย่างต่อเนื่อง จากแนวลาดด้านข้างขึ้นไปจนถึงด้านบนของแนวปะการัง” Terry Hughes จาก NCBT กล่าว “มันเป็นการเดินทางทำงานวิจัยที่เศร้าที่สุดในชีวิตของผม”

การฟอกขาวเกิดขึ้นเมื่อปะการังเผชิญกับความเครียด เช่นน้ำอุ่นกว่าค่าเฉลี่ยเป็นเวลานาน ปะการังตอบสนองต่อความเครียดโดยการขับไล่สาหร่ายที่ให้สีแก่พวกมัน ซึ่งจะทำให้ปะการังลักษณะเหมือนพวกมันได้รับการฟอกขาว การฟอกขาวสามารถจะเป็นอันตรายต่อปะการังได้ถ้าความเครียดรุนแรงเกินไปหรือถ้าความเครียดมันยังคงอยู่นานเกินไปและสาหร่ายไม่สามารถที่จะอยู่ร่วมกับพวกมันได้อีก

ระบบนิเวศที่มีความเสี่ยง

gbr-historic-bleaching-02

แนวปะการัง Great Barrier Reef (GBR) ครอบคลุมพื้นที่ 134,364 ตารางไมล์ (348,000 ตารางกิโลเมตร) ทำให้มันมีขนาดใหญ่กว่าสหราชอาณาจักร สวิตเซอร์แลนด์ และเนเธอร์แลนด์รวมกัน ได้รับการยอมรับว่าเป็นมรดกโลกในปี 1981 แนวปะการังมีปะการัง 400 ชนิด และเป็นที่อยู่อาศัยของปลา 1,500 ชนิด และหอย 4,000 สายพันธุ์ รวมถึงสิ่งมีชีวิตในทะเลอื่น ๆ เช่นเต่าเขียวขนาดใหญ่และพะยูน

GBR ประสบกับปรากฏการณ์ฟอกขาวในปี 1998 และในปี 2002 แต่การฟอกขาวในปัจจุบันมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น Rebecca Albright นักชีววิทยาทางทะเลกับสถาบันวิทยาศาสตร์คาร์เนกีในกรุงวอชิงตันดีซี ได้ศึกษา GBR ตั้งแต่ปี 2011 Albright บอกว่า GBR ทางตอนเหนือมีสัญญาณของการฟอกขาวขั้นรุนแรงถึง 95 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับเมื่อปี 2002 ที่มีการฟอกขาวเพียง 18 เปอร์เซ็นต์

Albright กล่าวว่า แม้แต่ปะการังที่แข็งแกร่งก็ได้รับผลกระทบ ซึ่งเป็นอีกสัญญาณหนึ่งที่บ่งชี้ว่าเหตุการณ์นี้น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เธอเตือนว่ามันยังเร็วเกินไปที่จะประเมินผลกระทบในระยะยาวของการฟอกขาวในแนวปะการัง แม้มีการประมาณการณ์ว่าจะมีปะการังตายไปถึง 50 เปอร์เซ็นต์

Albright กล่าวเพิ่มเติมว่า มีสองปัจจัยที่ทำให้ปะการังเกิดความเครียด คือการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศซึ่งทำให้ทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้น และปรากฎการณ์เอลนิโญ (เหตุการณ์ที่สภาพภูมิอากาศที่เกี่ยวข้องกับอากาศอุ่นกว่าค่าเฉลี่ยอุณหภูมิผิวน้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อน) และด้วยเงื่อนไขของเอลนีโญทำให้คาดว่าปะการังยังไม่สามารถฟื้นคืนสภาพเดิมได้จนตลอดปี 2516

“ปะการังไม่เพียงมีความอ่อนไหวในอุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างผิดปกติเท่านั้น แต่ยังได้รับผลกระทบจากระยะเวลามันเผชิญกับอุณหภูมิที่สูงด้วย” Albright กล่าว “ปัจจัยเหล่านี้เกิดขึ้นพร้อมกันทำให้เกิดภัยพิบัติที่เป็นอยู่ในขณะนี้”

สถานการณ์ทั่วโลก

gbr-historic-bleaching-03

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับ GBR เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ปรากฏการณ์ฟอกขาวทั่วโลกเป็นเวลานานโดยเอลนีโญกำลังดำเนินอยู่ขณะนี้ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ปะการังตายต่อเนื่องยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์

Mark Eakin ผู้ประสานงานโครงการเฝ้าติดตามปะการัง บอกว่าเหตุการณ์ซึ่งเริ่มขึ้นในปี 2014 ในมหาสมุทรแปซิฟิกจะมีต่อเนื่องไปจนผ่านปี 2017

“เราคิดว่ามันเป็นปรากฏการณ์ฟอกขาวทั่วโลก ถ้าหากมันแพร่กระจายไปในมหาสมุทรที่สำคัญทั้งสามแห่ง คือมหาสมุทรอินเดีย แอตแลนติก และแปซิฟิก” Eakin กล่าวและบอกเพิ่มเติมว่าจากรายงานในปัจจุบันการฟอกขาวมีการขยายตัวมากกว่าครึ่งหนึ่งของซีกโลกใต้ และที่ที่มีการฟอกขาวรุนแรงได้แก่ในนิวแคลิโดเนีย ฟิจิ และภาคใต้ของอินโดนีเซีย เช่นเดียวกับใน GBR

แม้แต่ปะการังที่เติบโตอย่างรวดเร็วยังใช้เวลาหลายทศวรรษในการพัฒนา ดังนั้นแนวปะการังที่เสียหายจะต้องใช้เวลานานก่อนที่พวกมันจะฟื้นฟูสภาพให้มีความสมบูรณ์เหมือนเดิม

และเวลาของการฟื้นฟูอาจจะหยุดชะงักไป เหตุการณ์ที่เกิดการฟอกขาวทั่วโลกได้ขยายตัวและเพิ่มระดับความรุนแรงตั้งแต่เกิดขึ้นครั้งแรกที่ได้รับการบันทึกไว้ในปี 1998

“เราเจอกับสภาพอุณหภูมิสูงเป็นเวลานานที่เป็นสาเหตุให้เกิดการฟอกขาวกลับมาซ้ำแล้วซ้ำอีก เราเห็นพื้นที่ที่ได้รับอุณหภูมิสูงมา 2-3 ปีต่อเนื่อง ดังนั้นจึงไม่มีเวลาพอสำหรับปะการังที่จะฟื้นคืนสภาพ” เขากล่าว

เหตุการณ์ฟอกขาวทั้งโลกเมื่อปี 1998 เกิดจากปรากฏการณ์เอลนิโญที่รุนแรงที่สุด แต่เนื่องจากอุณหภูมิมหาสมุทรเพิ่มขึ้นดังนั้นแม้แต่เอลนีโญที่ไม่รุนแรงก็สามารถทำลายแนวปะการังได้ทั่วโลก และปรากฏการณ์ฟอกขาวทั่วโลกที่เป็นอยู่ในขณะนี้ได้เเริ่มขึ้นในปี 2014 ก่อนที่เอลนีโญในปัจจุบันจะเกิดขึ้น

สำหรับ GBR ทั้งๆที่มีการฟอกขาวขั้นรุนแรง แต่อาจจะยังมีความหวังที่มันจะฟื้นคืนสภาพ ด้านบนของแนวปะการังที่มีความเสียหายมากที่สุดนั้นมันเคยมีสภาพที่ดีมากมาก่อน ซึ่งควรจะสามารถกลับมามีสภาพสมบูรณ์ได้

“และส่วนที่ต่ำกว่าสองในสามของ GBR ยังคงอยู่ในสภาพดีมาก มีการฟอกสีในพื้นที่เหล่านั้นไม่มาก ดังนั้นมันจึงเป็นความหวังของคนจำนวนมาก” Albright กล่าว

“เราอาจจะเจอกับปรากฏการณ์ฟอกขาวได้ในอีก 10 ปีข้างหน้าซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นคืนสภาพของแนวปะการัง” เธอกล่าว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *