ก้าวต่อไปของแหล่งพลังงานทดแทนอาจจะอยู่ใต้เท้าของเรานี่เอง

นักวิทยาศาสตร์กำลังพยายามค้นหาแนวทางใหม่ๆที่จะเก็บเกี่ยวพลังงานจากรอบๆตัวเรา ในเมืองที่ทันสมัยอาจมีการผลิตไฟฟ้าจากการย่ำเท้าของคนเดินถนนด้วยเทคโนโลยีจากบริษัท Pavegen หรือรายอื่น แต่ด้วยต้นทุนที่สูงทำให้การใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ถูกจำกัดอยู่ในพื้นที่สาธารณะ เช่น แหล่งช้อปปิ้ง หรือตามสนามกีฬา

แต่ด้วยเทคนิคใหม่ที่เพิ่งพัฒนาขึ้นโดยมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน (UW-M) อาจทำให้พื้นไม้ที่ใช้กันตามบ้านเป็นที่เก็บเกี่ยวพลังงาน โดยพื้นไม้ยังมีราคาเกือบจะเท่าเดิม

แผ่นเก็บพลังงานของ Pavegen ใช้การเหนี่ยวนำของอิเล็กโตรแมกเนติกในการผลิตไฟฟ้า แต่วัสดุที่พัฒนาโดยทีมวิจัยของ UW-M ใช้หลักการการเกิดไฟฟ้าจากการขัดถู หรือ triboelectric effect ซึ่งสามารถสร้างประจุไฟฟ้าที่ส่วนใหญ่มักเป็นไฟฟ้าสถิตด้วยแรงเสียดทานของวัตถุสองชนิดที่เสียดสีกัน

Wang เคยทดลองระบบที่คล้ายกันซึ่งสามารถเก็บพลังงานจากการเคลื่อนที่ของล้อรถยนต์ ไฟฟ้าถูกสร้างผ่านเส้นใยนาโนเซลลูโลสหนาน้อยกว่าหนึ่งมิลลิเมตรที่ถูกฝังอยู่ในพื้นไม้ เส้นใยนาโนบางส่วนจะถูกเคลือบด้วยสารเคมี เมื่อมาสัมผัสกับเส้นใยที่ไม่ได้เคลือบสารผ่านแรงสั่นสะเทือนจากการย่ำเท้าบนผิวของพื้นไม้ มันจะสร้างประจุไฟฟ้า สามารถนำไปใช้กับหลอดไฟแสงสว่าง ใช้ชาร์จแบตเตอรี่ หรือใช้กับเครื่องใช้อย่างอื่นในบ้านได้ พลังงานที่ได้ของระบบนี้สามารถเพิ่มขึ้นได้โดยการสร้างหลายๆชั้น

triboelectric-wood-floor-2

เส้นใยนาโนเป็นวัสดุที่ราคาถูก และเนื่องจากมันแค่ฝังในเนื้อไม้ที่ใช้ทำพื้น ทีมงานเชื่อว่าเทคโนโลยีนี้จะมีราคาใกล้เคียงกับพื้นไม้ทั่วไป และมีความทนทานเหมือนกับพื้นไม้มาตรฐาน

“การทดสอบขั้นต้นของเราในห้องแล็บพบว่ามันสามารถใช้งานได้หลายล้านครั้งโดยไม่มีปัญหา” Wang กล่าว “เรายังไม่ได้คำนวณว่ามันจะใช้งานได้กี่ปี แต่ผมคิดว่าด้วยการออกแบบที่เหมาะสมมันจะสามารถใช้งานได้นานเท่ากับตัวพื้นไม้เอง”

ทีมงานกำลังทำให้ระบบมีประสิทธิภาพสูงสุดด้วยความหวังที่จะสร้างต้นแบบนำไปวางบริเวณที่มีการเดินผ่านมากๆภายในมหาวิทยาลัยเพื่อแสดงแนวคิดและเทคโนโลยี และระบบนี้อาจจะถูกนำไปใช้ในแผ่นพื้นแบบอื่นๆอีกด้วย

 

ข้อมูลและภาพจาก  wisc.edu

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *