10 เรื่องจริงอันน่าทึ่งของ “หมึกกระดอง” ที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน

หมึกกระดอง (Cuttlefish) มีชื่อเป็นปลาแต่ไม่ใช่ปลา มันเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังพวกเซฟาโลพอด (Cephalopod) เหมือนกับหมึกกล้วย (Squid), หมึกยักษ์หรือหมึกสาย (Octopus) และหอยงวงช้าง (Nautilus) หมึกกระดองมีทั้งหมด 120 สายพันธุ์ ส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่เป็นคู่หรือตามลำพังตัวเดียว ไม่ได้อยู่รวมเป็นฝูงใหญ่เหมือนหมึกกล้วย มีแขนหรือหนวด 8 อันและมีหนวดพิเศษที่ยืดออกได้สำหรับล่าเหยื่ออีก 2 อัน โดยทั่วไปจะมีขนาดประมาณ 15-25 เซนติเมตร แต่หมึกกระดองยักษ์ออสเตรเลียซึ่งเป็นชนิดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดมีลำตัวยาวถึง 50 เซนติเมตรและหนักกว่า 10 กิโลกรัม

หมึกกระดองมีความโดดเด่นตรงที่สามารถเปลี่ยนสีผิวได้รวดเร็วและหลากหลาย สามารถปรับสีสันและลวดลายบนลำตัวให้กลมกลืนเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้อย่างยอดเยี่ยม จนถูกเรียกเป็นจอมพรางตัวแห่งท้องทะเล แต่นั่นเป็นเพียงหนึ่งในความสามารถพิเศษของมันเท่านั้น หมึกกระดองยังมีคุณสมบัติและความสามารถที่แปลกและเหลือเชื่ออีกมากมาย และต่อไปนี้คือ 10 เรื่องจริงอันน่าทึ่งของ “หมึกกระดอง” ที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน

 
1. มีความฉลาดระดับนับจำนวนได้

หมึกกระดองมีสมองที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังและเป็นที่รู้กันดีในเรื่องความฉลาด ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับหมึกกระดองที่น่าสนใจที่สุดประการหนึ่งคือตัวอ่อนของหมึกกระดองสามารถเรียนรู้ได้แม้ในขณะที่พวกมันอยู่ในไข่ จากงานวิจัยพบว่าหมึกกระดองอายุหนึ่งเดือนสามารถบอกความแตกต่างระหว่างกล่องที่มีกุ้ง 4 ตัวกับกล่องที่มีกุ้ง 5 ตัวได้อย่างง่ายดาย นักวิจัยบอกว่าความสามารถของหมึกกระดองในการเปรียบเทียบปริมาณนั้นเทียบได้กับความสามารถของเด็กอายุ 12 เดือน และยังพบว่ามันสามารถเรียนรู้ที่จะรอคอยเพื่อทางเลือกที่ดีกว่า

 
2. มี 3 หัวใจและเลือดสีเขียวแกมน้ำเงิน

หมึกกระดองมีหัวใจ 3 ดวงแยกออกจากกันเหมือนกับญาติๆพวกเซฟาโลพอดชนิดอื่น หัวใจชุดแรกมี 2 ดวงเรียกว่า Branchial Hearts หรือ Accessory Heart ทำหน้าที่ปั๊มเลือดส่งไปเติมออกซิเจนที่เหงือกแต่ละข้าง หัวใจอีกดวงเรียกว่า Systemic Heart ทำหน้าที่ปั๊มเลือดที่เติมออกซิเจนแล้วไปยังส่วนต่างๆของร่างกาย เลือดของหมึกกระดองมีสีเขียวแกมน้ำเงินเนื่องจากมีโปรตีนชนิดมีทองแดงเป็นส่วนประกอบที่เรียกว่าเฮโมไซยานินซึ่งทำหน้าที่ลำเลียงออกซิเจน (แบบเดียวกับเฮโมโกลบินในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เฮโมโกลบินเป็นโปรตีนชนิดมีเหล็กเป็นส่วนประกอบทำให้เลือดมีสีแดง)

 
3. เปลี่ยนสีผิวได้ในเวลา 0.3 วินาที

หมึกกระดองมักถูกเรียกว่า “กิ้งก่าแห่งท้องทะเล” เนื่องจากความสามารถในการเปลี่ยนสีของพวกมัน โดยสามารถเปลี่ยนสีเพื่อปรับให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ภายในเวลาเพียง 0.3 วินาทีเท่านั้น ด้วยเซลล์พิเศษในผิวหนังของมันที่เรียกว่า Chromatophores ซึ่งเป็นเซลล์สร้างสีที่มีอยู่หลายประเภทสามารถสร้างสีเหลือง สีแดง สีส้ม สีน้ำตาล และสีดำ เซลล์เหล่านี้สามารถใช้อย่างอิสระหรือร่วมกันเพื่อสร้างสีและลวดลายต่างๆ ช่วยให้มันจำลองรูปร่างและพื้นผิวของปะการังหรือสาหร่ายที่อยู่ใกล้เคียงอย่างแม่นยำ หมึกกระดองพรางตัวเพื่อซ่อนตัวให้หลุดพ้นจากสายตาผู้ล่า และยังพรางตัวเพื่อล่าเหยื่ออีกด้วย

 
4. มีตาวิเศษมองเห็นได้รอบทิศทาง

หมึกกระดองมีดวงตาที่มีรูปร่างเป็นเอกลักษณ์ แปลกตา และมหัศจรรย์ ดวงตาของหมึกกระดองได้รับการพัฒนาอย่างดีตั้งแต่แรกเกิดเพื่อให้สามารถเริ่มล่าสัตว์ได้ทันทีเมื่อมันฟักออกมา มันมีรูม่านตารูปตัว W ซึ่งช่วยให้มันมีช่วงการมองเห็นในแนวนอนที่กว้างขึ้น มันสามารถขยับเลนส์ตาได้อย่างรวดเร็วเพื่อช่วยการโฟกัสไปที่วัตถุ หมึกกระดองสามารถเห็นได้รอบทิศทางรวมทั้งด้านหลังด้วยเพียงแค่ขยับตา นอกจากนี้ดวงตาของหมึกกระดองยังมีความไวสูงต่อแสงโพลาไรซ์ มีสัตว์ไม่มากนักที่สามารถตรวจจับความแตกต่างของโพลาไรซ์ของแสงได้ หมึกกระดองเป็นหนึ่งในสัตว์ที่เก่งที่สุดในเรื่องนี้

 
5. สามารถสื่อสารด้วยสีแม้ตาบอดสี

แม้หมึกกระดองจะมีดวงตาที่ยอดเยี่ยมแต่มันกลับเป็นสัตว์ที่ตาบอดสี เนื่องจากมันมีเซลล์แยกสีเพียงชนิดเดียว (มนุษย์มี 3 ชนิดคือเซลล์ที่ไวต่อแสงสีแดง, น้ำเงิน, เขียว) ดังนั้นในทางทฤษฎีจึงมองเห็นแค่สีขาวและดำ แต่เนื่องจากมันสามารถตรวจจับแสงโพลาไรซ์ได้จึงช่วยชดเชยข้อบกพร่องเรื่องตาบอดสี พวกมันใช้ความแตกต่างของโพลาไรซ์ของแสงแยกแยะการเปลี่ยนแปลงของสีได้ และในทางสังคมหมึกกระดองสื่อสารกันผ่านการเปลี่ยนสี พวกมันใช้การแสดงสีสันเพื่อบ่งบอกให้หมึกกระดองตัวอื่นรู้ถึงอารมณ์และความต้องการของมัน เช่น ถ้าแสดงสีเข้มขึ้นหมายถึงจะโจมตี, ถ้าคงสีซีดเอาไว้แสดงว่าไม่ต้องการมีปัญหาใดๆ หรือหมึกกระดองตัวเมียหากเปลี่ยนสีเป็นสีเทาแสดงว่าต้องการผสมพันธุ์

 
6. ควบคุมการลอยตัวด้วยกระดอง

กระดอง (Cuttlebone) เป็นอวัยวะสำคัญที่เป็นเอกลักษณ์ของหมึกกระดอง หมึกชนิดอื่นไม่มี มันดูคล้ายกระดูกแต่ความจริงไม่ใช่ กระดองคือเปลือกภายในที่ทำจากอะราโกไนต์ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของแคลเซียมคาร์บอเนต มีโครงสร้างเป็นรูพรุนคล้ายโครงข่ายของห้องเล็กๆ หมึกกระดองควบคุมการลอยตัวขึ้นลงในน้ำได้อย่างง่ายดายโดยการปรับระดับก๊าซในห้องด้านหน้าและระดับน้ำในห้องด้านหลังของกระดอง เช่น หากต้องการจมลงมันจะเติมน้ำเข้าไปในกระดองเพิ่ม ในทางตรงกันข้ามหากต้องการลอยตัวขึ้นมันก็จะเติมก๊าซเข้าไปแทนที่น้ำ กระดองจะยุบตัวภายใต้แรงกดดันของน้ำที่ระดับความลึก 200 ถึง 600 เมตรขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ด้วยเหตุนี้ปลาหมึกจึงชอบอยู่ในน้ำตื้น กระดองของหมึกกระดองยังเป็นแหล่งเติมแคลเซียมชั้นดีสำหรับนกหลายชนิดอีกด้วย

 
7. เคลื่อนที่ด้วยไอพ่นและเดินได้ด้วย

หมึกกระดองเป็นสัตว์ที่ค่อนข้างว่องไว ว่ายน้ำเก่ง เคลื่อนที่ในน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากการใช้ครีบและหนวดในการว่ายน้ำและควบคุมการเคลื่อนที่แล้ว หมึกกระดองยังสามารถเคลื่อนที่อย่างรวดเร็วผ่านการขับเคลื่อนด้วยไอพ่น มันสามารถเติมน้ำเข้าไปในตัวแล้วพ่นน้ำออกมาอย่างรวดเร็วทางช่องใต้หนวดด้วยระบบกาลักน้ำ มันสามารถควบคุมทิศทางและปริมาณน้ำที่พ่นออกมาได้ตามต้องการ ทำให้สามารถขับเคลื่อนตัวเองไปในทิศทางและความเร็วที่แตกต่างกัน โดยใช้ครีบและหนวดช่วยบังคับทิศทางและการทรงตัว หมึกกระดองยังรู้จักใช้การพ่นน้ำเพื่อค้นหาเหยื่อซึ่งซ่อนตัวอยู่ในทรายอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีหมึกกระดองบางสายพันธุ์สามารถใช้หนวดของมันเป็นเท้าเดินไปตามพื้นทะเลได้ด้วย

 
8. ปลอมแปลงเพศหลอกพวกเดียวกัน

หมึกกระดองไม่เพียงเก่งในเรื่องการพรางตัวให้พ้นจากสายตาของนักล่าและเหยื่อของมัน แต่มันยังสามารถปลอมแปลงเพศเพื่อหลอกพวกเดียวกันได้อีกด้วย ในฤดูผสมพันธุ์หมึกกระดองตัวผู้ที่ตัวเล็กไม่อาจใช้วิธีการต่อสู้เพื่อแย่งชิงตัวเมีย มันจึงต้องใช้วิธีปลอมตัวเป็นตัวเมียด้วยการเปลี่ยนสีและท่าทางให้เหมือนกับตัวเมียที่กำลังอุ้มไข่ พร้อมกับซ่อนหนวดคู่ที่สี่ซึ่งทำหน้าที่เป็นอวัยวะสืบพันธุ์ของตัวผู้ ในขณะเข้าไปหาตัวเมียที่มีตัวผู้ตัวโตคอยเฝ้าอยู่ มีงานวิจัยยืนยันว่าการปลอมตัวของมันได้ผล เกือบครึ่งหนึ่งของนักปลอมตัวได้ครอบครองตัวเมีย บางครั้งหมึกกระดองตัวผู้ยังใช้วิธีแตกต่างออกไป เช่น เปลี่ยนครึ่งหนึ่งของร่างกายให้เหมือนตัวเมียให้ตัวผู้อีกตัวเห็นพร้อมกับส่งสัญญาณว่าไม่สนใจ ในขณะที่อีกครึ่งหนึ่งของร่างกายสร้างสีสันเพื่อดึงดูดตัวเมียอีกตัวหนึ่งอย่างเต็มที่

 
9. ใช้หมึกสร้างตัวปลอมล่อหลอกศัตรู

เวลาถูกศัตรูจู่โจมหมึกกระดองไม่ได้ว่ายน้ำหนีอย่างเดียว แต่มันยังมีกลยุทธ์การป้องกันตัวที่โดดเด่นที่สุดอีกอย่างหนึ่งคือการพ่นหมึก หมึกกระดองสามารถปล่อยหมึกได้สองวิธี แบบแรกเป็นการปล่อยหมึกให้เหมือนม่านควันที่ทำให้ศัตรูของมันมองไม่เห็นหรือเห็นไม่ชัดในขณะที่มันกำลังหลบหนี แบบที่สองเป็นการสร้างตัวปลอมขึ้นมาล่อหลอกศัตรู โดยการปล่อยหมึกที่มีขนาดใกล้เคียงกับขนาดของตัวมันเพื่อลวงศัตรูให้เข้าใจผิดจู่โจมตัวปลอมในขณะที่มันหนีไปอีกทางหนึ่ง หมึกของหมึกกระดองยังเป็นทรัพยากรที่มีค่าสำหรับมนุษย์อีกด้วย มนุษย์ใช้หมึกเพื่อทำให้พาสต้าและข้าวมีสีเข้มขึ้นและมีรสชาติที่ดีขึ้น และยังใช้เป็นสีย้อมสำหรับวัสดุต่างๆ โดยเฉพาะสีซีเปียที่มีการใช้งานมาอย่างยาวนานตั้งแต่อารยธรรมกรีก-โรมัน คำว่าซีเปีย (Sepia) มาจากคำภาษากรีกหมายถึงหมึกกระดอง

 
10. ล่าเหยื่อด้วยวิธีการสะกดจิต

พฤติกรรมที่น่าสนใจอย่างยิ่งอีกอย่างหนึ่งของหมึกกระดองคือมันสามารถสะกดจิตเหยื่อได้โดยใช้การเปลี่ยนสีอันน่าทึ่งของมัน หมึกกระดองมีความสามารถอันยอดเยี่ยมในการแสดงสีสันลวดลายสลับเปลี่ยนเคลื่อนที่ไปมาตามร่างกายของพวกมันอย่างรวดเร็ว และสิ่งนี้ดึงดูดความสนใจของเหยื่อให้หยุดและเฝ้าดู ซึ่งบางคนอาจมองว่าเป็น “การสะกดจิต” เมื่อเหยื่อหยุดและมองดูการแสดงแสงสีที่ฉูดฉาดจนเคลิบเคลิ้ม หมึกกระดองจะพุ่งเข้าโจมตีทันที กว่าเหยื่อจะรู้ตัวว่าเป็นกลลวงก็ถูกจับนิ่งอยู่ใต้หนวดอันทรงพลังของหมึกกระดองเสียแล้ว

 

ข้อมูลและภาพจาก facts.net, treehugger, mentalfloss

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *