พบมหานครแห่งอาณาจักรมายาที่หายสาบสูญซ่อนอยู่ในป่าทึบของกัวเตมาลา

ภายใต้ผืนป่าหนาทึบกินอาณาบริเวณ 2,100 ตารา​งกิโลเมตรของประเทศกัวเตมาลาที่ไม่สามารถมองเห็นสิ่งใดนอกจากต้นไม้ที่ปกคลุมอย่างหนาแน่นทั่วทั้งบริเวณ มีมหานครแห่งอาณาจักรมายาที่หายสาบสูญซ่อนตัวอยู่อย่างเงียบเชียบ นักวิจัยได้ใช้เทคโนโลยี LiDAR ทำแผนที่บริเวณนี้ขึ้นใหม่เอาผืนป่าที่ปกคลุมอยู่ออกไป เผยให้เห็นสิ่งก่อสร้างของชาวมายันที่ไม่เคยพบเจอจำนวนมากซ่อนอยู่ใต้ผืนป่า มีทั้งบ้าน อาคาร ถนน กำแพง ป้อมปราการ วิหาร และพีระมิดขนาดใหญ่ คาดว่ามหานครโบราณแห่งนี้มีประชากรไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน

อาณาจักรมายาเริ่มต้นขึ้นราว 4,000 ปีก่อน มีอาณาเขตอยู่ในอเมริกากลาง บริเวณประเทศเม็กซิโก เบลีซ และกัวเตมาลา เจริญรุ่งเรืองสุดขีดในช่วงปี ค.ศ. 250 – 909 ก่อนจะเสื่อมถอยและล่มสลายไปหลังจากกองทัพสเปนเข้าไปยึดครองในศตวรรษที่ 16 ชาวมายันมีความรู้ด้านดาราศาสตร์ คณิตศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ที่น่าทึ่ง หลักฐานบางอย่างที่เหลืออยู่บ่งชี้ว่าพวกเขาเจริญก้าวหน้ายิ่งกว่าชาวกรีกและชาวจีนโบราณ

ancient-maya-city-discover-by-lidar-2

ทีมวิจัยใช้เทคโนโลยี LiDAR (Light Detection And Ranging) ในการสำรวจใต้ผืนป่าขนาดมหึมา อุปกรณ์ยิงแสงเลเซอร์ถูกติดตั้งบนเครื่องบินที่บินอยู่เหนือผืนป่า สาดลำแสงเลเซอร์ที่สามารถลอดผ่านกิ่งใบของต้นไม้ลงถึงพื้นดิน เซ็นเซอร์ที่อุปกรณ์ทำการวัดแสงที่สะท้อนกลับขึ้นมา ข้อมูลที่ได้ถูกนำมาคำนวณด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ แล้วจึงแปลงให้เป็นแผนที่ภูมิประเทศที่ไม่มีต้นไม้ปกคลุม

ancient-maya-city-discover-by-lidar-3

ภายใต้ผืนป่า Peten พื้นที่ 2,100 ตารางกิโลเมตรในกัวเตมาลา บริเวณชายแดนเม็กซิโกและเบลีซ นักวิจัยพบสิ่งก่อสร้างของชาวมายันกว่า 60,000 รายการ เป็นตัวเมืองใหญ่ที่ประกอบด้วยบ้าน ทางเดิน ป้อมปราการ สถานประกอบพิธี รวมทั้งกำแพงที่ยาว 14 กิโลเมตร และพีระมิดขนาดใหญ่ นักโบราณคดีพบว่ามหานครโบราณนี้ใหญ่กว่าที่พวกเขาคิดไว้มาก

ancient-maya-city-discover-by-lidar-4

นอกจากนี้พวกเขายังพบระบบชลประทานที่ก้าวหน้าและการเพาะปลูกแบบขั้นบันได ซึ่งมีความจำเป็นต่อการดำรงชีพของประชากรในอาณาจักรมายาตลอดหลายศตวรรษแห่งความเจริญรุ่งเรือง จำนวนประชากรจึงถูกประเมินใหม่เพิ่มจากไม่กี่ล้านเป็น 10 – 20 ล้านคน และจากโครงสร้างกำแพงและป้อมปราการได้บ่งชี้ว่ามีสงครามเกิดขึ้นมากกว่าที่เคยรู้กัน

“ผมคิดว่านี่เป็นหนึ่งในความก้าวหน้าที่สุดของงานโบราณคดีเกี่ยวกับอาณาจักรมายาในรอบ 150 ปี” Stephen Houston ศาสตราจารย์ด้านโบราณคดีที่มหาวิทยาลัยบราวน์ ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าว “ผมรู้ว่ามันฟังดูเกินจริงไปหน่อย แต่เมื่อผมได้เห็นภาพแผนที่แล้ว มันทำให้ผมน้ำตาไหล”

ancient-maya-city-discover-by-lidar-5

แต่การค้นพบด้วยเทคโนโลยี LiDAR นี้เป็นเพียงแค่การเริ่มต้นเท่านั้น ยังคงมีสิ่งที่จะค้นพบต่อไปอีกมากเกี่ยวกับการผงาดขึ้นของอาณาจักรมายา รวมทั้งความเจริญรุ่งเรืองสุดขีดและการล่มสลาย ข้อมูลจาก LiDAR เพียงแค่ชี้สถานที่แห่งใหม่ที่จะต้องเข้าไปค้นหาคำตอบด้วยการเข้าสำรวจและการขุดค้นในพื้นที่จริง

“นั่นคือสิ่งที่ท้าทาย” Thomas Garrison หนึ่งในทีมวิจัยกล่าว “ตอนนี้เรามีข้อมูลมากมาย แต่คำถามคือเราจะจัดการมันอย่างไรและเราจะเดินหน้ากันอย่างไร เรายังไม่ได้เข้าไปที่นั่น เรายังไม่ได้ตรวจสอบพวกมันเลย แต่บอกได้ว่าเรารู้สึกตื่นเต้นมาก”

 

ข้อมูลและภาพจาก ithaca.edu, dailymail.co.uk

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *