นิโคลา เทสลา อัจฉริยะเดียวดายผู้สร้างความสว่างไสวให้กับโลกแต่ไร้คนจดจำ

นิโคลา เทสลา (Nikola Tesla) เป็นนักประดิษฐ์ นักฟิสิกส์ และวิศวกรไฟฟ้าผู้สร้างนวัตกรรมล้ำยุคที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ เขาเป็นผู้พัฒนาระบบไฟฟ้ากระแสสลับอันเป็นระบบพลังงานพื้นฐานที่ใช้งานทั่วโลกในปัจจุบัน เทสลาเป็นผู้ประดิษฐ์และค้นพบเทคโนโลยีใหม่ที่สำคัญมากมาย เช่น มอเตอร์ไฟฟ้า ขดลวดเทสลา รีโมตคอนโทรล และเทคโนโลยีไร้สาย แต่เนื่องจากเทสลามีแนวคิดล้ำยุคและจินตนาการก้าวไกลเกินกว่าผู้คนยุคเดียวกันมาก ทำให้เขาถูกมองว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่อง บั้นปลายชีวิตเทสลาต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวเดียวดายและจบชีวิตอย่างน่าเศร้าไร้คนเหลียวแล นี่คือนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่แต่กลับไม่ค่อยเป็นที่รู้จักเท่ากับผลงานของเขา เขาคือ ‘อัจฉริยะที่โลกลืม’

 
วิญญาณนักประดิษฐ์ถ่ายทอดมาจากแม่

เทสลาเป็นชาวเซอร์เบียน-อเมริกันเกิดเมื่อปี 1856 ที่หมู่บ้าน Smiljan ในจักรวรรดิออสเตรีย (ปัจจุบันคือโครเอเชีย) เทสลาผูกพันกับไฟฟ้าตั้งแต่เกิด เขาเกิดมาในคืนที่มีพายุสายฟ้าแลบแปลบปลาบ แม่ของเขาเรียกทารกน้อยแรกเกิดว่า “เด็กแห่งแสงสว่าง” (Child of Light) พ่อของเทสลาเป็นบาทหลวง แม่มีความสามารถพิเศษในการประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้ในบ้านและยังสามารถจำบทกวีมหากาพย์ของเซอร์เบียได้เป็นอย่างดีทั้งที่ไม่เคยได้เรียนหนังสือในโรงเรียน เทสลาบอกว่าความสำเร็จของเขาในฐานะนักประดิษฐ์และความสามารถในการจดจำสิ่งต่างๆได้เหมือนกับถ่ายภาพเก็บไว้ในสมอง (Eidetic memory) รวมทั้งความคิดสร้างสรรค์ของเขานั้นเป็นการถ่ายทอดผ่านทางสายเลือดและอิทธิพลที่ได้รับจากแม่ของเขาเอง

 
เก่งระดับอัจฉริยะแต่เรียนไม่จบ

nikola-tesla-2

ปี 1861 เทสลาเข้าเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนใน Smiljan เรียนได้ปีเดียวก็ต้องย้ายตามครอบครัวไปอยู่ที่เมือง Gospić ที่อยู่ไม่ไกลกันและเรียนจบชั้นประถมที่นั่น ปี 1870 ย้ายไปเรียนชั้นมัธยมที่เมือง Karlovac ที่นี่เขาได้เริ่มสนใจ “ปรากฏการณ์ลึกลับ” ของไฟฟ้าและอยากเรียนรู้ในพลังอันมหัศจรรย์นี้ ที่โรงเรียนแห่งนี้เทสลาได้ฉายแววความอัจฉริยะด้วยการคิดแก้โจทย์แคลคูลัสยากๆในใจจนอาจารย์ทึ่ง เขาใช้เวลาเพียง 3 ปีเรียนจบหลักสูตร 4 ปีของที่นี่

เทสลากลับบ้านที่ Smiljan ในปี 1873 แล้วเขาติดเชื้ออหิวาตกโรค นอนป่วยอยู่นาน 9 เดือนเกือบตายไปหลายครั้ง พ่อของเขาซึ่งเดิมอยากให้เทสลาบวชเป็นพระได้ให้สัญญากับเขาว่าหากเขาหายดีจะส่งเขาเข้าเรียนในโรงเรียนวิศวกรรมที่ดีที่สุด ปีถัดมาเขาเลี่ยงการถูกเกณฑ์ทหารด้วยการหนีไปอยู่ที่เมือง Tomingaj แต่งชุดนายพรานสำรวจป่าตามแถบภูเขา การได้อยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติทำให้เขาแข็งแรงขึ้นทั้้งร่างกายและจิตใจ ระหว่างนี้เขาอ่านหนังสือจำนวนมาก เทสลาบอกในภายหลังว่างานของ Mark Twain นักเขียนผู้มีอารมณขันชาวอเมริกันช่วยทำให้เขาฟื้นตัวจากโรคร้ายได้อย่างน่าอัศจรรย์

ปี 1875 เทสลาได้ทุนไปเรียนที่วิทยาลัยโพลีเทคนิคออสเตรียในเมือง Graz ประเทศออสเตรเลีย ปีแรกเขาไม่เคยขาดเรียน ได้เกรดสูงที่สุดเป็นดาวรุ่งของมหาวิทยาลัย ปีที่ 2 เทสลาขัดแย้งกับอาจารย์ในเรื่องเครื่องกำเนิดไฟฟ้า Gramme dynamo ที่เขาเห็นว่าไม่จำเป็นต้องมีคอมมิวเตเตอร์ (Commutator) ปีเดียวกันเขาต้องสูญเสียทุนการศึกษาไปและกลายเป็นเด็กติดการพนัน ปีที่ 3 เขายังติดการพนันเล่นเสียจนหมดตัวแต่ก็ได้กลับคืนมาในภายหลัง พอถึงเวลาสอบจึงไม่ได้เตรียมตัวสอบ ขอเลื่อนก็ไม่ได้ เขาไม่ได้รับเกรดเทอมสุดท้ายของปีที่ 3 และเรียนไม่จบมหาวิทยาลัย
 

ทำงานให้ ‘เอดิสัน’ คู่ปรับในอนาคต

nikola-tesla-3

ปี 1881 เทสลาไปทำงานกับ Tivadar Puskás นักประดิษฐ์ชาวฮังการี ในเมืองบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี เป็นหัวหน้าช่างไฟฟ้าที่ชุมสายโทรศัพท์ในเมืองบูดาเปสต์ ที่นี่เขาได้ปรับปรุงอุปกรณ์ที่สถานีจนทำงานได้อย่างดีเยี่ยมแต่ไม่เคยจดสิทธิบัตรหรือได้รับการเผยแพร่ ปีถัดมาเจ้านายส่งเขาไปทำงานที่กรุงปารีสกับ Continental Edison Company บริษัทของโทมัส เอดิสัน นักประดิษฐ์ชาวอเมริกันผู้โด่งดัง เขาทำงานในแผนกติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างซึ่งทำให้เขาได้รับประสบการณ์ด้านวิศวกรรมไฟฟ้าอย่างมาก ด้วยความเก่งทั้งด้านวิศวกรรมและฟิสิกส์ เขาจึงได้รับมอบหมายให้ออกแบบและปรับปรุงเจนเนอเรเตอร์ (เครื่องกำเนิดไฟฟ้า) และมอเตอร์ รวมทั้งส่งเขาไปแก้ปัญหาตามสาขาต่างๆของบริษัททั่วทั้งฝรั่งเศสและเยอรมัน

ปี 1884 เจ้านายที่กำกับดูแลงานที่ปารีสต้องกลับไปบริหารงานที่บริษัท Edison Machine Works ซึ่งกำลังทำงานสร้างระบบไฟฟ้าขนาดใหญ่ในกรุงนิวยอร์ก เขาชวนเทสลาไปทำงานด้วย เทสลาจึงย้ายไปอยู่ที่อเมริกาตอนกลางปี และได้ทำงานแก้ปัญหาการติดตั้งระบบไฟฟ้าและปรับปรุงเจนเนอเรเตอร์เหมือนตอนอยู่ที่ปารีส แต่ทำงานได้แค่ 6 เดือนก็ลาออกไปด้วยสาเหตุที่ยังคลุมเครือ ว่ากันว่าสาเหตุสำคัญเป็นเพราะเอดิสันให้เทสลาปรับปรุงเจนเนอเรเตอร์และมอเตอร์ของเขาที่ประสิทธิภาพต่ำ และบอกว่าจะจ่ายโบนัสให้ 50,000 ดอลลาร์ (มูลค่าปัจจุบันเกิน 1 ล้านดอลลาร์) ถ้าเทสลาทำได้สำเร็จ เมื่อเทสลาทำสำเร็จจริงเอดิสันกลับ ‘เบี้ยว’ ไม่ยอมจ่าย อ้างว่าแค่พูดเล่นขำๆ
 

เปิดบริษัทเองครั้งแรกก็เจอนายทุนเจ้าเล่ห์

nikola-tesla-4

หลังออกจากบริษัทของเอดิสัน เทสลาได้ดำเนินการจดสิทธิบัตรเรื่องระบบไฟอาร์ก (Arc lighting) ที่เป็นระบบไฟแสงสว่างที่นิยมใช้ภายนอกอาคารหรือเป็นไฟถนน ทนายที่เขาจ้างมาช่วยในเรื่องการยื่นขอจดสิทธิบัตรได้แนะนำกลุ่มนักลงทุนที่สนใจและยินดีลงทุนเปิดบริษัทผลิตอุปกรณ์และสร้างระบบไฟอาร์กในชื่อของเทสลา Tesla Electric Light & Manufacturing จึงถือกำเนิดขึ้น เทสลาได้ออกแบบหลอดไฟอาร์ก สวิทช์ และปรับปรุงเจนเนอเรเตอร์กระแสตรงซึ่งทำให้เขาได้รับสิทธิบัตรเป็นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา เทสลาได้สร้างและติดตั้งระบบที่เมือง Rahway ในรัฐนิวเจอร์ซีย์ ระบบใหม่ของเทสลาได้รับคำชมจากสื่อมวลชนว่าเป็นระบบที่ก้าวหน้าทันสมัยมาก

กลุ่มนายทุนของบริษัทไม่ค่อยสนใจไอเดียของเทสลาเรื่องมอเตอร์และระบบจ่ายไฟฟ้ากระแสสลับ หลังจากที่ระบบติดตั้งเสร็จและเดินเครื่องแล้วในปี 1866 พวกเขาเห็นว่าธุรกิจด้านการผลิตอุปกรณ์มีการแข่งขันมากและเลือกที่จะทำบริษัทผลิตไฟฟ้าอย่างเดียว จึงไปเปิดบริษัทใหม่และปิดบริษัทของเทสลาโดยไม่เหลือเงินไว้เขาเลย เทสลาเสียสิทธิ์การเป็นเจ้าของสิทธิบัตรเนื่องจากเขามอบให้กับบริษัทแลกกับการถือหุ้นไปแล้ว หลังจากนั้นจึงเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากของเทสลา เขาต้องไปรับงานซ่อมไฟฟ้าต่างๆและงานขุดร่องน้ำค่าแรงวันละ 2 ดอลลาร์เพื่อประทังชีวิต
 

สุดยอดนักประดิษฐ์แห่งศตวรรษ

nikola-tesla-5

ปลายปี 1886 เทสลาได้พบกับ Charles Peck และ Alfred Brown ผู้ซึ่งเชี่ยวชาญในการจัดตั้งบริษัทและหาประโยชน์ทางการเงินจากสิ่งประดิษฐ์และสิทธิบัตร ทั้งสองตกลงสนับสนุนด้านการเงินแก่เทสลาและดูแลเรื่องผลประโยชน์ในสิทธิบัตร พวกเขาได้จัดตั้ง Tesla Electric Company ขึ้นในปี 1887 แบ่งผลกำไรกันลงตัว เทสลาได้ไปหนึ่งในสาม อีกหนึ่งในสามเป็นของ Peck และ Brown ส่วนที่เหลือเป็นกองทุนสำหรับการพัฒนา พวกเขาได้สร้างห้องแล็บให้กับเทสลาในนิวยอร์กซึ่งเป็นที่ที่เทสลาได้ประดิษฐ์และพัฒนาอุปกรณ์ชนิดใหม่มากมาย ผลงานการประดิษฐ์และการพัฒนาที่สำคัญของเทสลา ได้แก่

ระบบไฟฟ้ากระแสสลับ (Alternating Current System) – แม้ว่าเทสลาจะไม่ใช่คนแรกที่คิดค้นหรือพัฒนาไฟฟ้ากระแสสลับ แต่ระบบที่เขาออกแบบและพัฒนาขึ้นซึ่งประกอบด้วยเจนเนอเรเตอร์ หม้อแปลงไฟฟ้า สายส่ง และระบบจ่ายไฟมีประสิทธิภาพสูงและราคาถูก จึงเป็นที่นิยมใช้แพร่หลายทั่วโลก

nikola-tesla-6

มอเตอร์เหนี่ยวนำ (Induction Motors) – เทสลาพัฒนามอเตอร์เหนี่ยวนำที่ทำงานกับไฟฟ้ากระแสสลับในปี 1887 สร้างแรงขับเคลื่อนสำคัญต่อการเลือกใช้ระบบไฟฟ้ากระแสสลับ เนื่องจากก่อนหน้านี้ยังไม่มีมอเตอร์ที่มีประสิทธิภาพดีพอ ไฟฟ้ากระแสสลับจึงยังไม่ค่อยได้รับความนิยม มอเตอร์เหนี่ยวนำเป็นส่วนประกอบสำคัญของพัดลม เครื่องดูดฝุ่น เครื่องซักผ้า และอุปกรณ์ไฟฟ้าเกือบทุกชนิด รวมไปถึงเครื่องจักรที่ใช้พลังงานไฟฟ้า เป็นอุปกรณ์พื้นฐานที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในปัจจุบัน

nikola-tesla-7

ขดลวดเทสลา (Tesla Coil) – เป็นอุปกรณ์ที่สามารถสร้างแรงดันไฟฟ้าระดับสูงมากโดยอาศัยหลักการเรโซแนนซ์ในวงจรไฟฟ้า ขดลวดเทสลาสามารถสร้างประกายไฟคล้ายฟ้าแลบฟ้าผ่า ปัจจุบันถูกใช้ในวงการบันเทิง ภาพยนตร์ และการศึกษา

nikola-tesla-8

วิทยุ (Radio) – เทสลาพัฒนาอุปกรณ์ส่งสัญญาณวิทยุที่พร้อมทดสอบในปี 1895 แต่โชคไม่ดีห้องปฏิบัติการของเขาไฟไหม้ การทดสอบจึงถูกเลื่อนออกไป ต่อมาเขาได้รับสิทธิบัตรวิทยุในปี 1990 ช่วงเวลาใกล้เคียงกันในยุโรป Guglielmo Marconi ได้รับสิทธิบัตรวิทยุในปี 1896 แต่วิทยุของ Marconi แตกต่างกับของเทสลาค่อนข้างมาก มีเพียง 2 วงจรส่งสัญญาณได้ไม่ไกล ส่วนของเทสลามีวงจรซับซ้อนสัญญาณแข็งแรงกว่าส่งไปได้ไกลกว่ามาก ต่อมา Marconi ประสบผลสำเร็จกับการพัฒนาวิทยุของเขาโดยมีการใช้อุปกรณ์บางอย่างจากสิทธิบัตรของเทสลา จึงได้รับสิทธบัตรในสหรัฐฯและได้ชื่อว่าเป็นผู้ประดิษฐ์วิทยุ เทสลายื่นฟ้องศาล ต่อมาในปี 1943 ศาลสูงตัดสินให้สิทธิบัตรเป็นของเทสลา แต่ตอนนั้นนักประดิษฐ์ทั้งสองคนเสียชีวิตไปแล้ว

nikola-tesla-10

รีโมตคอนโทรล (Remote Control) – เทสลาประดิษฐ์รีโมตคอนโทรลโดยใช้สัญญาณวิทยุในปี 1898 ก่อนที่ชาวโลกจะมีรีโมตทีวีใช้เกือบ 60 ปี เขายื่นขอจดสิทธิบัตรแต่น่าเสียดายที่ไม่ได้รับอนุมัติ เทสลาจึงสร้างเรือบังคับวิทยุ เรียกว่า Teleautomaton สาธิตต่อสาธารณะชนในนิทรรศการด้านไฟฟ้าในปีเดียวกัน เรือบังคับวิทยุของเทสลานอกจากจะเป็นต้นแบบของรีโมตคอนโทรลทั้งหลายแล้ว ยังเป็นต้นแบบของโดรนที่กำลังได้รับความนิยมอย่างสูงในปัจจุบัน

nikola-tesla-9

หลอดไฟนีออน (Neon Lamps) – เทสลาไม่ใช่เป็นคนประดิษฐ์หลอดฟลูออเรสเซนต์และหลอดนีออน แต่เขาได้พัฒนาให้หลอดไฟทั้งสองชนิดก้าวหน้าอย่างมาก ในงาน World’s Columbian Exposition ปี 1893 เทสลาได้พัฒนาหลอดนีออนให้พับโค้งงอได้ทำเป็นป้ายไฟตัวอักษรและสัญลักษณ์ ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบและนิยมนำไปใช้กันทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน

nikola-tesla-11

นอกจากนี้เทสลายังสร้างสิ่งประดิษฐ์อื่นอีกมาก เช่น Tesla Turbine เครื่องจักรกังหันไร้ใบพัด, Shadowgraphs เครื่องถ่ายภาพด้วยรังสีเอ็กซ์, Tesla’s Oscillator เครื่องกำเนิดสัญญาณความถี่สูง รวมทั้งเทคโนโลยีการส่งพลังงานแบบไร้สายที่ปัจจุบันกำลังได้รับความนิยม เทสลาเป็นเจ้าของสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ราว 300 รายการ มีส่วนช่วยต่อความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของโลกอย่างมาก ปี 1895 บริษัท Nikola Tesla Company ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลสิ่งประดิษฐ์และสิทธิบัตรของเทสลาทั้งหมด
 

สงครามกระแสไฟฟ้าจุดไฟสว่างไสวทั่วโลก

nikola-tesla-12

เมื่อเทสลาพัฒนามอเตอร์เหนี่ยวนำที่ทำงานกับไฟฟ้ากระแสสลับสำเร็จในปี 1887 นับเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามกระแสไฟฟ้า (The War of Currents) บริษัท Westinghouse Electric & Manufacturing Company ของจอร์จ เวสติงเฮาส์ วิศวกรและนักธุรกิจชาวอเมริกัน ได้ซื้อลิขสิทธิ์มอเตอร์เหนี่ยวนำและแบบหม้อแปลงไฟฟ้าของเทสลา รวมทั้งจ้างเทสลาไปเป็นที่ปรึกษาด้วยค่าจ้างสูงลิ่ว 2,000 ดอลลาร์ต่อเดือน (มูลค่าปัจจุบันราว 54,500 ดอลลาร์) เพื่อไปสร้างโรงไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) แข่งกับบริษัท Edison Electric Light Company ของเอดิสันที่ใช้ระบบไฟฟ้ากระแสตรง (DC) ซึ่งเป็นเจ้าตลาดอยู่ในขณะนั้น

การแข่งขันเข้มข้นขึ้นตามมาด้วยปฏิบัติการเชิงจิตวิทยา ฝ่ายเอดิสันพยายามชี้นำผู้ใช้ให้เห็นข้อเสียของไฟฟ้ากระแสสลับ เน้นไปที่ว่ามีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ จำลองเหตุการณ์ให้เห็นชัดด้วยการเอาไฟฟ้ากระแสสลับช็อตสัตว์ต่างๆ ตั้งแต่สุนัข แมว ม้า ไปจนถึงช้าง และถ่ายภาพยนตร์ออกเผยแพร่ ต่อมายังได้ประดิษฐ์เก้าอี้ไฟฟ้าที่ใช้ประหารชีวิตคน เพื่อให้ผู้คนกลัวไม่กล้าใช้ไฟฟ้ากระแสสลับ ฝ่ายเวสติงเฮาส์ที่มีเทสลาเป็นผู้ออกแบบระบบจึงต้องแสดงให้เห็นข้อดีที่เหนือกว่าในเรื่องสามารถส่งไฟฟ้าได้ไกลกว่ามาก ราคาถูกกว่ามาก และไม่ได้เป็นอันตรายมากอย่างที่อีกฝ่ายบอก

ปี 1893 มีเหตุการณ์สำคัญอันเป็นจุดตัดสินของสงครามคือ งานนิทรรศการ World’s Columbian Exposition ที่เมืองชิคาโก งานใหญ่มากเป็นการจัดเพื่อฉลองครบรอบ 400 ปีที่โคลัมบัสพบดินแดนใหม่ (ทวีปอเมริกา) มีผู้ร่วมงานถึง 27 ล้านคน บริษัทของเวสติงเฮาส์ชนะการประมูลระบบไฟฟ้าแสงสว่างสำหรับงานทั้งหมดโดยใช้ไฟฟ้ากระแสสลับ ด้วยราคาเพียงครึ่งหนึ่งของฝ่ายเอดิสันที่เสนอด้วยระบบไฟฟ้ากระแสตรง แล้วเวสติงเฮาส์และเทสลาก็ได้แสดงถึงประสิทธิภาพและความมั่นคงของระบบไฟฟ้ากระแสสลับที่จ่ายไฟให้กับหลอดไฟเกือบหนึ่งแสนดวง นอกจากนี้ในงานเทสลายังได้แสดงเทคโนโลยีใหม่อย่างอื่นอีก เช่น หลอดไฟไร้สาย หลอดไฟนีออน ฯลฯ

ปีเดียวกันหลังงานนิทรรศการ บริษัทของเวสติงเฮาส์ยังได้รับงานสร้างระบบจ่ายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่น้ำตกไนแองการาโดยใช้ระบบเดียวกันกับในงานนิทรรศการ ซึ่งประสบความสำเร็จด้วยดีและกลายเป็นแบบอย่างของระบบไฟฟ้าทั่วโลก ต่อมาบริษัท General Electric ที่เอดิสันเป็นหนึ่งผู้ก่อตั้งได้ซื้อลิขสิทธิ์ระบบไฟฟ้ากระแสสลับของเทสลาต่อจากเวสติงเฮาส์ แล้วเปลี่ยนมาทำระบบไฟฟ้ากระแสสลับ ทำให้บริษัทของเวสติงเฮาส์และเอดิสันกลายเป็นสองยักษ์ใหญ่ในกิจการด้านไฟฟ้าของโลก แต่เทสลาไม่ได้ผลประโยชน์ใดๆจากสิทธิบัตรไฟฟ้ากระแสสลับอีกเลยเนื่องจากก่อนหน้านี้ได้ขายขาดให้กับเวสติงเฮาส์ไปแล้วในราคาแสนย่อมเยาว์

nikola-tesla-13
 
 
ผู้คิดค้นเทคโนโลยีล้ำยุคหรือนักฝันสติเฟื่อง

nikola-tesla-14

เทสลาทุ่มเทเวลาและความพยายามที่จะพัฒนาการส่งพลังงานไฟฟ้าแบบไร้สายโดยต่อยอดจากหลอดไฟไร้สายที่เขาทำสำเร็จมาแล้ว เทสลามีเป้าหมายยิ่งใหญ่เขาคิดว่านี่ไม่เพียงแต่เป็นวิธีส่งพลังงานไปได้ทั่วโลกเท่านั้น มันยังสามารถส่งสัญญาณการสื่อสารไปได้ทั่วโลกอีกด้วย เขายังมีแนวคิดจะทำโลกทั้งใบให้เป็นสื่อนำไฟฟ้าเพื่อให้สามารถส่งกระแสไฟฟ้าไปให้คนทุกคนในโลกได้ใช้กระแสไฟฟ้าอย่างเสรี

ปี 1899 เทสลาได้สร้างสถานีทดลองที่เมือง Colorado Springs ที่ประกอบด้วยขดลวดขนาดใหญ่สามารถสร้างความดันไฟฟ้าหลายล้านโวลต์ สามารถปล่อยประกายไฟยาวถึง 41 เมตร เพื่อทดลองแนวคิดด้านการส่งพลังงาน ระหว่างอยู่ที่นี่เทสลาได้สังเกตพบสัญญาณประหลาดจากเครื่องรับ เขาคิดว่าสัญญาณส่งมาจากดาวอื่น ไม่มีใครเชื่อเขา แต่ภายหลังได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นจริง

nikola-tesla-15

ปี 1901 เทสลาทำโครงการใหญ่สร้างหอคอยสูง 57 เมตร เรียกว่า Wardenclyffe Tower ที่เมือง Shoreham บนเกาะ Long Island เพื่อทดลองส่งพลังงานไฟฟ้าข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก หอคอยเสร็จราวกลางปี 1902 เทสลาไปทำงานทดลองที่หอคอยได้ราว 3 ปีก็เกิดปัญหาเงินทุนหมด ประกอบกับเทสลามีหนี้สินมาก เขาจึงต้องจำนองหอคอยใช้หนี้ แล้วหอคอยก็ถูกยึดไปในปี 1915 สุดท้ายเทสลากลายเป็นบุคคลล้มละลาย

nikola-tesla-16

ปี 1932 เทสลาในวัย 76 ปีอ้างว่าเขาได้ประดิษฐ์มอเตอร์ที่ทำงานด้วยรังสีคอสมิก ปีถัดมาเทสลาบอกกับผู้สื่อข่าวว่าหลังจากทำงานมานาน 35 ปีเขาใกล้ที่จะพิสูจน์พลังงานรูปแบบใหม่ที่หากนำมาใช้กับอุปกรณ์จะมีอายุใช้งานนานถึง 500 ปี รวมถึงกำลังพัฒนาวิธีถ่ายภาพเรตินาเพื่อบันทึกความคิดของมนุษย์ ปี 1934 เทสลาบอกว่าเขาได้ออกแบบอาวุธลำแสงมหาประลัย (Death Ray) ที่มีอานุภาพร้ายแรงขนาดแยกโลกของเราให้แตกออกเป็นสองส่วนได้แต่ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียด ด้วยแนวคิดที่ล้ำยุคและจินตนาการก้าวไกลเกินกว่าผู้คนยุคเดียวกันของเทสลา และการประกาศต่อสื่อมวลชลถึงเป้าหมายและแนวคิดที่ใครๆก็คิดว่าเป็นไปไม่ได้ เขาจึงถูกเรียกเป็น “นักวิทยาศาสตร์สติเฟื่อง”
 
อัจฉริยะผู้เดียวดายไร้คนจดจำ

nikola-tesla-17

เทสลาเป็นคนหน้าตาดีและสุภาพจึงมีผู้หญิงหลายคนพยายามแข่งขันกันเพื่อเอาชนะใจเขา แต่เทสลากลับไม่เคยแต่งงานหรือมีความสัมพันธ์กับผู้หญิงคนไหน เทสลาบอกว่าการถือพรหมจรรย์ของเขานั้นช่วยได้มากในเรื่องการทำงานทางวิทยาศาสตร์ เทสลาทุ่มเทเวลาท้้งหมดให้กับการทำงาน เขาทำงานทุกวันตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น กินมื้อเย็นคนเดียวเวลา 2 ทุ่ม 10 นาทีตรง น้อยครั้งที่จะร่วมโต้ะกับคนอื่น แล้วจะกลับไปทำงานต่อถึงตีสามเป็นประจำ

เทสลาใช้เงินที่เขาได้จากการทำงานและค่าสิทธิบัตรจำนวนมหาศาลกับงานค้นคว้าทดลองจนหมด ช่วงหลังจึงไม่ค่อยมีเงินใช้จ่าย ปั้นปลายชีวิตเขาต้องอยู่คนเดียว พักตามโรงแรมในนิวยอร์กเปลี่ยนโรงแรมทุกสองสามปีโดยไม่จ่ายค่าโรงแรม หลังสุดมาพักที่ New Yorker Hotel อยู่หลายปี เทสลาเสียชีวิตที่โรงแรมนี้ในปี 1943 ด้วยโรคหัวใจล้มเหลวในวัย 86 ปี หลังจากเทสลาเสียชีวิต FBI ได้สั่งทุกฝ่ายว่าเรื่องราวทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับเทสลาต้องถูกจัดการอย่างลับที่สุด และต้องรักษาความลับของสิ่งประดิษฐ์ของเขาให้เป็นความลับตลอดไป

เรื่องราวของเทสลาผู้เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีผลงานที่สร้างคุณประโยชน์แก่โลกอย่างมหาศาลซึ่งสมควรได้รับการยกย่างเชิดชูในระดับสูงสุดจึงถูกปิดเงียบนานหลายสิบปีจนคนรุ่นหลังไม่รู้จัก จนถึงปี 1960 หน่วยสำหรับวัดความความหนาแน่นของเส้นแรงแม่เหล็กถูกตั้งชื่อว่า “เทสลา” เพื่อเป็นเกียรติแก่เขา และในปี 2005 เทสลาได้รับการเสนอชื่อเป็น 1 ใน 100 คนสำหรับการโหวตเป็น “The Greatest American” โดยช่อง Discovery ชื่อของเทสลาจึงกลับมาอยู่ในความสนใจอีกครั้ง ปัจจุบันเทสลาได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ของโลก

nikola-tesla-18

 
 
ข้อมูลและภาพจาก wikipedia, history, smithsonianmag

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *