พืชใต้ดินหน้าตาประหลาดถูกพบอีกครั้งหลังจากเข้าใจว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว 150 ปี

พืชหน้าตาประหลาดคล้ายเอเลียนที่อาศัยอยู่ใต้ดินในป่าดงดิบของประเทศมาเลเซีย โผล่ขึ้นมาให้เห็นเฉพาะตอนที่ออกดอก ถูกค้นพบอีกครั้งหลังจากสันนิษฐานว่าสูญพันธ์ุไปนานแล้ว ครั้งล่าสุดที่มีคนพบเห็นมันคือเมื่อ 151 ปีที่แล้ว

พืชชนิดนี้ถูกค้นพบครั้งแรกโดยนักพฤกษศาสตร์ชาวอิตาลีชื่อ Odoardo Beccari เมื่อปี 1866 ในป่าดงดิบทางตะวันตกของรัฐซาราวัก ประเทศมาเลเซีย เขาได้บันทึก วาดรูป และเรียกพืชพันธุ์ใหม่นี้ว่า Thismia neptunis แต่นับจากที่พบมันเป็นครั้งแรกแล้วก็ไม่มีใครได้เห็นพืชชนิดนี้อีกเลย จนถูกสันนิษฐานว่าน่าจะสูญพันธุ์ไปแล้ว

จนกระทั่งเดือนมกราคม 2017 เมื่อนักพฤกษศาสตร์จากสถาบันวิจัยพืชของสาธารณรัฐเช็กได้เข้ามาสำรวจป่าดงดิบในพื้นที่เดียวกัน และได้สะดุดกับเจ้า Thismia neptunis ที่กำลังออกดอกท่ามกลางใบไม้ที่หล่นอยู่กลาดเกลื่อน และพวกเขาได้กลายเป็นคนกลุ่มแรกที่มีโอกาสถ่ายรูปมัน

weird-plants-thismia-neptunis-rediscover-2

มันเป็นพืชที่จัดอยู่ในกลุ่ม myco-heterotroph (พวกพืชอาศัยรา) ใช้เวลาทั้งชีวิตอาศัยอยู่ใต้ดิน ไม่มีการสังเคราะห์แสงโดยสิ้นเชิง ไม่มีทั้งใบและคลอโรฟิลล์ มันอาศัยราที่มีความสัมพันธ์แบบการอยู่ร่วมกันกับพืชอื่นที่อยู่บนดินในการแลกเปลี่ยนน้ำและสารอาหาร

โดยธรรมชาติของพวกมันที่เป็นพืชอาศัยรา Thismia neptunis จึงเป็นพืชที่ค่อนข้างลึกลับ มีแนวโน้มที่จะอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบเขตร้อน โครงสร้างของมันส่วนใหญ่อยู่ใต้ดิน จะปรากฏโฉมเหนือพื้นดินเฉพาะตอนที่ออกดอกเท่านั้น และด้วยรูปร่างหน้าตาที่ประหลาดจึงอาจถูกเข้าใจว่าเป็นพวกแมลง ช่วงเวลาที่จะได้เห็นมันมีเพียงสั้นๆแค่สองสามสัปดาห์ที่ออกดอกและไม่ได้เกิดขึ้นทุกปีเราจึงรู้เรื่องราวของมันน้อยมาก หรืออาจได้เห็นมันเพียงแค่ครั้งเดียว

Thismia neptunis จัดเป็นพืชที่แปลกประหลาดอย่างมากทีเดียว และเมื่อได้ย้อนกลับไปดูรูปของมันที่ถูกวาดไว้เมื่อ 151 ปีก่อนยิ่งประทับใจอย่างมากกับฝีมือการวาดรูปที่ให้รายละเอียดได้อย่างยอดเยี่ยม เห็นแล้วรู้สึกถึงความแปลกประหลาดของพืชชนิดนี้ได้อย่างแท้จริง

weird-plants-thismia-neptunis-rediscover-3

 
 
ข้อมูลและภาพจาก iflscience, sciencealert

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *