10 สุดยอดนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ชาวฝรั่งเศสกับผลงานเด่นและวาทะเด็ด

ประเทศฝรั่งเศสขึ้นชื่อว่ามีความโดดเด่นและครองความยิ่งใหญ่ด้านศิลปะมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แต่ความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์ของพวกเขาก็มิได้เป็นรองใครแม้แต่น้อย ฝรั่งเศสมีนักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศสระดับแนวหน้าของโลกในทุกยุคทุกสมัย พวกเขาคิดค้นและพัฒนาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์สร้างความเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่ความเจริญก้าวหน้าของโลกมาโดยตลอด และต่อไปนี้คือ 10 สุดยอดนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ชาวฝรั่งเศสกับผลงานเด่นและวาทะเด็ดของพวกเขา

 

1. มารี คูรี (Marie Curie)marie-curie-1

มารี คูรี (ค.ศ. 1867 – 1934) นักฟิสิกส์และนักเคมีชาวโปแลนด์ที่ต่อมากลายเป็นพลเมืองของฝรั่งเศส เป็นผู้บุกเบิกงานวิจัยด้านกัมมันตภาพรังสีและเป็นผู้ค้นพบธาตุเรเดียมที่ใช้รักษาโรคมะเร็งที่ทำให้คนตายเป็นอันดับหนึ่งมาทุกยุคสมัย เธอเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รางวัลโนเบล เป็นคนแรกและผู้หญิงเพียงคนเดียวที่ได้รางวัลโนเบล 2 ครั้ง และเป็นเพียงคนเดียวที่ได้รางวัลโนเบลด้านวิทยาศาสตร์ 2 สาขา มารี คูรีเป็นหนึ่งในผู้หญิงที่เก่งที่สุดและได้รับการยกย่องมากที่สุดในโลก แม้จะขัดสนเรื่องการเงินและถูกกีดกันจากการเป็นผู้หญิง มารีได้ต่อสู้ดิ้นรนโดยหยุดเรียนเพื่อทำงานส่งให้พี่สาวของเธอเรียนจนจบก่อน แล้วให้พี่สาวส่งเธอเรียนด้านฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ที่กรุงปารีสตามที่เธอตั้งใจ

มารีเริ่มค้นคว้าด้านกัมมันตภาพรังสีร่วมกับสามีคือปิแอร์ คูรีจนค้นพบว่ามีพลังงานถูกปล่อยออกมาจากแร่พิตช์เบลนด์ และได้พยายามแยกธาตุใหม่ออกจากแร่พิตช์เบลนด์ หลังจากใช้เวลาค้นคว้าราว 7 ปีเธอก็สามารถแยกธาตุใหม่ที่เธอเรียกว่าเรเดียมได้สำเร็จ ผลงานนี้ทำให้มารีและสามีได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ หลังจากปิแอร์เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ มารียังคงมุ่งมั่นค้นคว้าต่อไปโดยมุ่งไปที่การใช้ประโยชน์ของเรเดียมในทางการแพทย์ จนเธอได้รับรางวัลโนเบลครั้งที่สองในสาขาเคมี เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 มารีได้ตั้งหน่วยเอกซเรย์เคลื่อนที่ตระเวนรักษาทหารที่บาดเจ็บตามที่ต่างๆ หลังสงครามมารีได้กลับมาทำงานวิจัยอีกครั้ง แต่ผลกระทบจากการสัมผัสกับรังสีของเรเดียมเป็นเวลานานทำให้ไขกระดูกเธอถูกทำลายและเสียชีวิต การค้นพบที่ช่วยชีวิตผู้คนได้จำนวนมาก กลับต้องแลกด้วยชีวิตของเธอ

ผลงานเด่น :

– รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์จากผลงานการค้นพบธาตุเรเดียม
– รางวัลโนเบลสาขาเคมีจากผลงานการค้นคว้าหาประโยชน์จากธาตุเรเดียม

วาทะเด็ด :

– “One never notices what has been done; one can only see what remains to be done.” → ไม่มีใครสนใจในสิ่งที่ทำสำเร็จไปแล้ว; เขามองเห็นแต่เพียงสิ่งที่ยังคงต้องทำเท่านั้น

– “You must never be fearful of what you are doing when it is right.” → คุณไม่ต้องกลัวในสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่เมื่อมันถูกต้อง

marie-curie-2

 

2. หลุยส์ ปาสเตอร์ (Louis Pasteur)louis-pasteur-1

หลุยส์ ปาสเตอร์ (ค.ศ. 1822 – 1895) นักเคมีและนักจุลชีววิทยาชาวฝรั่งเศส ผู้ดำรงตำแหน่งเป็นอาจารย์ในสถาบันการศึกษาหลายแห่ง เป็นผู้ที่ค้นพบว่าการเน่าเสียของอาหารเกิดจากสิ่งมีชีวิตเล็กๆที่เขาเรียกว่าจุลินทรีย์ ปาสเตอร์พบว่าจุลินทรีย์ส่งผลเสียมากมายทำให้เขาทำการค้นคว้าเกี่ยวกับจุลินทรีย์อย่างต่อเนื่องจนค้นพบวิธีการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ได้ด้วยวิธีพาสเจอร์ไรส์(Pasteurization) การค้นพบนี้ทำให้สาขาวิชาจุลชีววิทยาโดดเด่นก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว

ต่อมาปาสเตอร์ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับโรคระบาดในสัตว์ และได้คิดค้นวัคซีนป้องกันโรคที่ร้ายแรงที่สุดตอนนั้นคือโรคแอนแทรกซ์ได้สำเร็จ ตามด้วยการค้นคว้าหาวัคซีนป้องกันโรคอหิวาตกโรคในไก่ แต่การค้นพบวัคซีนที่สร้างชื่อเสียงให้กับเขามากที่สุดคือวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าซึ่งเป็นโรคที่ทำให้คนตายไปพอสมควร และจากการพบวัคซีนนี้ทำให้ค้นพบวัคซีนป้องกันโรคอีกมากมาย เช่น อหิวาตกโรค วัณโรค และโรคคอตีบ นับว่าเป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์เป็นอย่างมาก ปีค.ศ. 1888 ปาสเตอร์ได้ก่อตั้งสถาบันปาสเตอร์ (Pasteur Institute) ขึ้นที่กรุงปารีส จากนั้นสถาบันปาสเตอร์ก็ได้ก่อตั้งขึ้นอีกหลายแห่งในประเทศต่างๆทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยภายใต้ชื่อ “สถานเสาวภา” เพื่อใช้เป็นสถานที่ทดลองค้นคว้าเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโรคติดต่อชนิดต่างๆ

ผลงานเด่น :

– คิดค้นวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า
– ค้นพบจุลินทรีย์เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการเน่าเสีย
– คิดค้นวิธีการทำพาสเจอร์ไรซ์

วาทะเด็ด :

– “Fortune favors the prepared mind.” → โชคชะตามีไว้สำหรับคนที่เตรียมตัวเตรียมใจไว้แล้ว
– “Science knows no country, because knowledge belongs to humanity, and is the torch which illuminates the world.” → วิทยาศาสตร์ไม่รู้จักประเทศ เพราะความรู้เป็นของมนุษยชาติและเป็นไฟฉายที่ส่องสว่างแก่โลก

louis-pasteur-2

 

3. เรอเน เดการ์ต (René Descartes)rene-descartes-1

เรอเน เดการ์ต (ค.ศ. 1596 – 1650) เป็นนักปรัชญาและนักคณิตศาสตร์ชาวฝรั่งเศสผู้คิดวิธีหาสัจจะในวิชาวิทยาศาสตร์และในชีวิตโดยเชื่อมั่นว่าตรรกะและวิธีพิสูจน์ของคณิตศาสตร์สามารถเชื่อมโยงและเป็นกุญแจไขความลึกลับต่างๆได้ เขาเป็นผู้ที่บุกเบิกปรัชญาสมัยใหม่ แนวคิดของเขามีผลต่อนักคิดร่วมสมัยไปจนถึงนักปรัชญารุ่นต่อมา เดการ์ตเป็นเจ้าของความคิดและวาทะอันโด่งดัง “เพราะฉันคิด ฉันจึงมีอยู่” (I think, therefore I am) ผลงานสุดยอดของเดการ์ตคือการสร้างวิชาเรขาคณิตวิเคราะห์ (Analytic Geometry) ซึ่งได้จากการรวมพีชคณิตกับเรขาคณิตเข้าด้วยกันทั้งๆที่ในอดีตนักคณิตศาสตร์ทั้งหลายเคยคิดว่าวิชาทั้งสองนี้ไม่เกี่ยวข้องกันเลย อันมีผลทำให้วิชาทั้งสองได้พัฒนาซึ่งกันและกันมาจนทุกวันนี้

มีตำนานเล่าว่าวันหนึ่งเดการ์ตเห็นแมลงวันบินวนไปมาในห้อง เขาพยายามจะระบุตำแหน่งของแมลงวันบนผนังห้องจึงได้จินตนาการว่าผนังห้องมีแกนสองแกนที่ตั้งฉากกัน จากนั้นตำแหน่งของแมลงวันก็สามารถระบุได้จากระยะทางที่มันอยู่ห่างจากแกนทั้งสอง ทำให้เกิดวิทยาการสาขาใหม่เป็นระบบการบอกตำแหน่งซึ่งมีแกนสองแกนตั้งฉากกัน จุดตัดของแกนทั้งสองเรียกจุดกำเนิด เดการ์ตได้แสดงให้เห็นว่าตำแหน่งของจุดทุกจุดบนระนาบ (เรียกระนาบคาร์ทีเซียน) สามารถระบุได้ด้วยตัวเลข 2 ค่าซึ่งบอกระยะทางของจุดนั้นในแนวนอนและแนวดิ่ง และเส้นตรง เส้นโค้ง วงรี วงกลม ไฮเปอร์โบลา พาราโบลา ฯลฯ สามารถแทนได้ด้วยสมการพีชคณิต ดังนั้นการแก้โจทย์เรขาคณิตก็อาจทำได้โดยการแก้โจทย์พีชคณิต ในเวลาต่อมาพิกัดคาร์ทีเซียนใน 2 มิติก็ได้รับการต่อยอดให้ครอบคลุมทั้ง 3 มิติ วิชาเรขาคณิตที่มีสมการพีชคณิตกำกับทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถวิเคราะห์การเคลื่อนที่ได้ทุกรูปแบบ เดการ์ตจึงได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาของวิชาเรขาคณิตวิเคราะห์

ผลงานเด่น :

– สร้างวิชาเรขาคณิตวิเคราะห์
– วางรากฐานปรัชญากลุ่มเหตุผลนิยม (Rationalism) ซึ่งเป็นแนวคิดปรัชญาหลักในยุโรปสมัยศตวรรษที่ 17 และ 18

วาทะเด็ด :

– “It is not enough to have a good mind; the main thing is to use it well.” → การมีสติปัญญาที่ดียังไม่เพียงพอ สิ่งสำคัญคือต้องใช้มันได้ดีด้วย

 

4. อ็องตวน ลาวัวซีเย (Antoine Lavoisier)antoine-lavoisier-1

อ็องตวน ลาวัวซีเย (ค.ศ. 1743 – 1794) เป็นนักเคมีคนสำคัญชาวฝรั่งเศสผู้เป็นศูนย์กลางของการปฏิวัติด้านเคมีในศตวรรษที่ 18 ผลงานสำคัญของอ็องตวนได้แก่การค้นพบทฤษฎีการเผาไหม้ที่เกิดจากปฏิกิริยาเคมีระหว่างออกซิเจนกับเชื้อเพลิง และการค้นพบกฏทรงมวลที่ว่ามวลของสารก่อนทำปฏิกิริยาจะเท่ากับมวลของสารหลังทำปฏิกิริยาเสมอซึ่งเป็นหลักสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในวิชาเคมี เขาเป็นคนตั้งชื่อก๊าซออกซิเจนและก๊าซไฮโดรเจน เป็นผู้พัฒนาการผลิตดินปืนและการใช้ดินประสิวในการเกษตรของฝรั่งเศส นอกจากนี้เขายังทำนายการมีอยู่ของซิลิกอนและยังเป็นคนแรกที่ระบุว่ากำมะถันเป็นธาตุไม่ใช่สารประกอบ อ็องตวนมีผลงานสำคัญมากมายจนได้รับการยกย่องเป็น “บิดาแห่งเคมีสมัยใหม่”

นอกจากงานด้านวิทยาศาสตร์แล้วอ็องตวนยังศึกษากฎหมายและการเมืองจนได้เป็นเนติบัณฑิต เขาได้เป็นเจ้าพนักงานเก็บอากรซึ่งเขาก็ได้ปรับปรุงระบบภาษีอากรและการคลัง พร้อมกับพัฒนาหน่วยวัดในระบบเมตริกให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศฝรั่งเศส แต่เมื่อเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศสคณะปฏิวัติได้กล่าวหาว่าอ็องตวนฉ้อฉลคดโกงเป็นขบถต่อแผ่นดินถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยกิโยติน โลกจึงต้องสูญเสียอัจฉริยบุคคลด้านวิทยาศาสตร์จากความวุ่นวายทางการเมือง และยิ่งน่าเศร้าใจเมื่อหลังจากการเสียชีวิตของเขาเพียงปีเดียวรัฐบาลฝรั่งเศสก็ให้เขาพ้นข้อกล่าวหาโดยระบุว่าเป็นการตัดสินที่ผิดพลาด

ผลงานเด่น :

– ค้นพบทฤษฎีการเผาไหม้
– ค้นพบกฏทรงมวล
– พัฒนาระบบเมตริก

วาทะเด็ด :

– “In nature nothing is created, nothing is lost, everything changes.” → ในธรรมชาติไม่มีอะไรถูกสร้างขึ้น, ไม่มีอะไรสูญหาย, ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไป

antoine-lavoisier-2

 

5. ปีแยร์-ซีมง ลาปลัส (Pierre-Simon Laplace)pierre-simon-laplace-1

ปีแยร์-ซีมง ลาปลัส (ค.ศ. 1749 – 1827) นักคณิตศาสตร์ นักฟิสิกส์ และนักดาราศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่อีกคนหนึ่งของฝรั่งเศส ผลงานของเขามีความสำคัญต่อการพัฒนาด้านวิศวกรรม คณิตศาสตร์ และดาราศาสตร์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานหนังสือเกี่ยวกับกลศาสตร์ท้องฟ้าในชื่อ Mécanique céleste (Celestial Mechanics) จำนวน 5 เล่มของเขานั้นได้รับการยกย่องว่ามีความสำคัญต่อความก้าวหน้าของคณิตศาสตร์และฟิสิกส์มากที่สุดเล่มหนึ่งอาจเป็นรองแค่หนังสือ Principia ของ Isaac Newton เท่านั้น ลาปลัสมีผลงานสำคัญทางคณิตศาสตร์หลายอย่าง เขาเป็นผู้พัฒนาทฤษฎีความน่าจะเป็นแบบเบย์ซึ่งถูกนำไปใช้งานอย่างกว้างขวาง เป็นผู้คิดค้นสมการลาปลัส (Laplace’s Equation) และการแปลงลาปลัส (Laplace transform) ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากในวิชาแคลคูลัสและฟิสิกส์ นอกจากนี้เขายังมีผลงานอื่นๆทั้งด้านคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ และดาราศาสตร์อีกมากมาย

ลาปลัสเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งในช่วงที่มีการปฏิวัติฝรั่งเศส เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการชั่งตวงวัดซึ่งได้กำหนดความยาวมาตรฐานเป็นหน่วยเมตรที่เราใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ช่วงที่จักรพรรดินโปเลียนครองอำนาจเขาได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาและเป็นประธานวุฒิสภาในเวลาต่อมา พอราชวงศ์บูร์บงกลับมามีอำนาจอีกครั้งเขาก็สามารถเข้ากับฝ่ายราชวงศ์ได้ดีมีตำแหน่งในสภาขุนนาง และต่อมาได้รับบรรดาศักดิ์เป็นเคานต์และมาร์ควิส ลาปลัสทำงานวิจัยอยู่ที่สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งฝรั่งเศสอย่างยาวนานกว่า 30 ปีและมีผลงานอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งสถาบันได้คัดค้านการออกกฎหมายลงโทษสื่อเสรี เขาในฐานะผู้อำนวยการสถาบันจึงตัดสินใจลาออกและเสียชีวิตไม่นานหลังจากนั้น ลาปลัสมีผลงานโดดเด่นในด้านคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ และดาราศาสตร์คล้ายกับนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่อย่าง Isaac Newton เขาจึงมักถูกเรียกเป็น “Newton of France”

ผลงานเด่น :

– หนังสือกลศาสตร์ท้องฟ้า Celestial Mechanics
– พัฒนาทฤษฎีความน่าจะเป็นแบบเบย์
– คิดค้นสมการลาปลัส (Laplace’s Equation)

วาทะเด็ด :

– “What we know here is very little, but what we are ignorant of is immense.” → สิ่งที่เรารู้ขณะนี้มีน้อยมาก แต่สิ่งที่เราไม่รู้นั้นมีมากมายมหาศาล

pierre-simon-laplace-2

 

6. แบลซ ปัสกาล (Blaise Pascal)blaise-pascal-1

แบลซ ปัสกาล (ค.ศ. 1623 – 1662) นักคณิตศาสตร์ นักฟิสิกส์ และนักปรัชญาคนสำคัญของฝรั่งเศสผู้มีผลงานสำคัญมากมายหลายด้าน เขาเป็นหนึ่งในคนที่วางแนวคิดพื้นฐานของวิชาความน่าจะเป็น เป็นผู้ที่ศึกษาและนำเสนอตารางสัมประสิทธิ์ทวินามที่เรียกว่าสามเหลี่ยมปัสกาล (Pascal’s triangle) และยังเป็นผู้ประดิษฐ์เครื่องคิดเลขเครื่องแรกของโลกที่ใช้งานได้จริงโดยใช้ระบบกลไกแบบฟันเฟือง ปัสกาลสนใจศึกษาเรื่องพลศาสตร์ของไหลและเป็นผู้คิดค้นกฎของปัสกาล (Pascal’s law) อันเป็นหลักการสำคัญที่นำไปสู่การประดิษฐ์แม่แรงและเครื่องอัดไฮดรอลิก นอกจากนี้เขายังศึกษาทดลองเกี่ยวกับความดันอากาศและสูญญากาศทำให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องนี้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น

ปัสกาลถือเป็นนักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะอีกคนหนึ่ง ผลงานสำคัญด้านคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ของเขาส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงที่เขายังเป็นวัยรุ่นและอายุยังไม่มาก พอเป็นผู้ใหญ่เขาหันไปสนใจทางด้านศาสนาและปรัชญา และสร้างผลงานสำคัญด้านความคิดทางศาสนาและความคิดเชิงปรัญชาผ่านทางงานเขียนหลายชิ้น ที่โดดเด่นมากได้แก่ผลงาน The Provincial Letters และ The Pensées ซึ่งได้รับความนิยมและมีอิทธิพลต่อผู้คนในวงกว้าง รวมทั้งยังได้รับการยกย่องในฝีมือและชั้นเชิงการประพันธ์ที่ยอดเยี่ยมมาก น่าเสียดายที่ปัสกาลมีสุขภาพไม่ดีและต้องเสียชีวิตไปด้วยโรคมะเร็งกระเพาะอาหารด้วยวัยเพียง 39 ปีเท่านั้น ชื่อ “ปัสกาล” ถูกนำไปใช้เป็นหน่วยความดันในระบบเอสไอเพื่อเป็นเกียรติแก่ผลงานทางวิทยาศาสตร์ของเขา

ผลงานเด่น :

– วางแนวคิดพื้นฐานของวิชาความน่าจะเป็น
– คิดค้นสามเหลี่ยมปัสกาล (Pascal’s triangle)
– คิดค้นกฎของปัสกาล (Pascal’s law)
– ประดิษฐ์เครื่องคิดเลขเครื่องแรกของโลก

วาทะเด็ด :

– “It is the fight alone that pleases us, not the victory.” → การต่อสู้เท่านั้นที่ทำให้เราพอใจ ไม่ใช่ชัยชนะ
– “I have made this letter longer than usual, only because I have not had the time to make it shorter.” → ฉันเขียนจดหมายนี้ยาวกว่าปกติ เพียงเพราะว่าฉันไม่มีเวลาทำให้มันสั้นลงกว่านี้

blaise-pascal-2

 

7. ปีแยร์ เดอ แฟร์มา (Pierre de Fermat)pierre-de-fermat-1

ปีแยร์ เดอ แฟร์มา (ค.ศ. 1607 – 1665) มีอาชีพเป็นนักกฎหมายแต่ชอบศึกษาค้นคว้าคณิตศาสตร์ ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้พัฒนาทฤษฎีพื้นฐานที่นำไปสู่การค้นพบวิชา​​แคลคูลัส เขามีผลงานโดดเด่นในเรื่องทฤษฎีจำนวน เรขาคณิตวิเคราะห์ ความน่าจะเป็น รวมไปถึงเรื่องคุณสมบัติของแสง แฟร์มาริเริ่มบุกเบิกวิชาเรขาคณิตวิเคราะห์ในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับเรอเน เดการ์ตผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้สร้างวิชาเรขาคณิตวิเคราะห์ แฟร์มาเป็นผู้ค้นพบวิธีการต้นแบบของการหาจุดสูงสุด จุดต่ำสุด และเส้นสัมผัสของเส้นโค้งซึ่งคล้ายกับในวิชาแคลคูลัสเชิงอนุพันธ์ เขายังเป็นคนแรกที่หาค่าอินทิกรัลของฟังชั่นกำลัง วิธีการของเขาสามารถลดการหาค่าเป็นผลรวมของอนุกรมเรขาคณิต ทำให้ได้สูตรที่ช่วยให้ไอแซก นิวตันและกอทท์ฟรีด ไลบ์นิซพัฒนาวิชาแคลคูลัสได้สำเร็จ แต่สิ่งที่ทำให้แฟร์มามีชื่อเสียงโด่งดังทั่วโลกคือการเสนอทฤษฎีที่เรียกว่าทฤษฎีบทสุดท้ายของแฟร์มา

เนื่องจากแฟร์มาไม่ได้เป็นนักคณิตศาสตร์อาชีพจึงไม่คิดจะตีพิมพ์ผลงานวิจัยใดๆ แต่ชอบเขียนโจทย์และคำตอบในจดหมายแล้วส่งไปให้เพื่อนฝูงอ่าน หลังจากที่แฟร์มาเสียชีวิตทายาทจึงนำจดหมาย และเอกสารต่างๆออกเผยแพร่ ทำให้นักคณิตศาสตร์ทั้งโลกรู้จักทฤษฎีบทสุดท้ายของแฟร์มาที่เสนอว่า ถ้า x, y, z เป็นจำนวนเต็มที่มีค่ามากกว่า 0 (คือเลข 1, 2, 3, …) และ n เป็นจำนวนเต็มที่มีค่ามากกว่า 2 (คือเลข 3, 4, 5, 5,…) สมการ xn + yn = zn ไม่มีทางเป็นไปได้ หรืออาจกล่าวว่าไม่สามารถหาค่า x, y, z ที่สอดคล้องกับสมการได้ ไม่มีใครสามารถพิสูจน์ทฤษฎีนี้ได้เลยจนเวลาผ่านไปเป็นร้อยปี ยังมีผู้คนพยายามพิสูจน์ทฤษฎีนี้อยู่ ทำให้มีความตื่นตัวในการศึกษาคณิตศาสตร์กันอย่างกว้างขวาง ในที่สุดแอนดรูว์ ไวลส์ (Andrew Wiles) นักคณิตศาสตร์ชาวอังกฤษได้พิสูจน์ทฤษฎีบทนี้ได้สำเร็จหลังจากเวลาผ่านไป 357 ปี ส่งผลให้เขาเป็นผู้มีชื่อเสียงก้องโลกและได้รับรางวัลอาเบลซึ่งเปรียบเสมือนกับรางวัลโนเบลสาขาคณิตศาสตร์ นับว่าแฟร์มาเป็นนักคณิตศาสตร์สมัครเล่นที่ได้รับการยกย่องและมีชื่อเสียงมากที่สุด

ผลงานเด่น :

– พัฒนาทฤษฎีพื้นฐานที่นำไปสู่การค้นพบวิชา​​แคลคูลัส
– พัฒนาเรขาคณิตวิเคราะห์
– พัฒนาทฤษฎีความน่าจะเป็นร่วมกับปัสกาล
– ปรับปรุงทฤษฎีจำนวน

วาทะเด็ด :

– “And perhaps, posterity will thank me for having shown it that the ancients did not know everything.” → และบางทีอนุชนคนรุ่นหลังจะขอบคุณฉันที่แสดงให้เห็นว่าคนในสมัยก่อนไม่ได้รู้หมดทุกอย่าง

pierre-de-fermat-3

 

8.​ หลุยส์ เดอ เบรย (Louis de Broglie)​louis-de-broglie-1

หลุยส์ เดอ เบรย (ค.ศ. 1892 – 1987) นักฟิสิกส์คนสำคัญของฝรั่งเศสผู้มีส่วนสำคัญในการพัฒนากลศาสตร์ควอนตัม เขาเป็นผู้ค้นพบธรรมชาติคลื่นของอิเล็กตรอนและเสนอว่าสสารทั้งหมดมีคุณสมบัติของคลื่นที่เรียกว่าทวิภาคของคลื่น–อนุภาค (Wave–particle duality) ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นแกนกลางของทฤษฎีกลศาสตร์ควอนตัม ทฤษฎีคลื่นนำร่อง (Pilot wave theory) ที่คิดค้นโดยเดอ เบรยถูกนำไปคิดค้นต่อยอดโดย Erwin Schrödinger สร้างสูตรกลศาสตร์คลื่นที่เรียกว่าสมการชเรอดิงเงอร์ซึ่งได้ปฏิวัติกลศาสตร์ควอนตัมอย่างมาก เดอ เบรยเสนอผลงานการคิดค้นที่น่าอัศจรรย์นี้ในวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของเขา หลังจากนั้นไม่นานก็มีคนทดลองยืนยันการค้นพบของเขา ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์

หลังได้รับรางวัลสำคัญแล้วเดอ เบรยยังคงทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาคำอธิบายเชิงสาเหตุของกลศาสตร์คลื่น รวมทั้งงานอื่นๆที่เขาสนใจ เดอ เบรยเข้าเป็นสมาชิกของสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งฝรั่งเศสและต่อมาได้รับตำแหน่งเลขานุการถาวรของสถาบันไปจนกระทั่งเกษียณอายุ เขาเป็นแรงบันดาลใจและให้การสนับสนุนในการก่อตั้งรวมทั้งเป็นสมาชิกชุดแรกของสถาบัน International Academy of Quantum Molecular Science (IAQMS) เขายังเป็นนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำคนแรกที่เรียกร้องให้มีการจัดตั้งห้องปฏิบัติการนานาชาติซึ่งเป็นข้อเสนอที่นำไปสู่การจัดตั้งองค์การเพื่อการวิจัยนิวเคลียร์แห่งยุโรปหรือ CERN เดอ เบรยเกิดในครอบครัวขุนนางชั้นสูงมีบรรดาศักดิ์เป็นดยุกแห่งฝรั่งเศส แต่เป็นคนที่มุ่งมั่นอยู่กับการทำงานด้านวิทยาศาสตร์และไม่เคยแต่งงาน

ผลงานเด่น :

– ผู้ค้นพบธรรมชาติคลื่นของอิเล็กตรอน
– แนวคิดทวิภาคของคลื่น–อนุภาค
– รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์

วาทะเด็ด :

– “The actual state of our knowledge is always provisional and… there must be, beyond what is actually known, immense new regions to discover.” → สถานะที่แท้จริงของความรู้ของเรานั้นเป็นแบบชั่วคราวเสมอ และ… จะต้องมีพื้นที่ใหม่ๆอีกมากมายให้ค้นพบ นอกเหนือจากที่รู้จริง

louis-de-broglie-2

 

9.​ อ็องเดร-มารี อ็องแปร์​ (André-Marie Ampère)andre-marie-ampere-1

อ็องเดร-มารี อ็องแปร์ (ค.ศ. 1775 – 1836) นักฟิสิกส์และนักคณิตศาสตร์ชาวฝรั่งเศสผู้ค้นพบและพัฒนาทฤษฎีแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetism) เขาทำการศึกษาทดลองจนค้นพบความสัมพันธ์ระหว่างสนามแม่เหล็กที่ถูกสร้างขึ้นกับกระแสไฟฟ้าที่ไหลผ่านตัวนำซึ่งนำไปสู่การคิดค้นกฎของแอมแปร์ (Ampere’s law) และกฏมือขวา (Ampère’s right hand grip rule) ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของทฤษฎีแม่เหล็กไฟฟ้า ในทางทฤษฎีอ็องแปร์ได้เสนอการมีอยู่ของอนุภาคที่ทำหน้าที่เป็นองค์ประกอบของทั้งไฟฟ้าและแม่เหล็กซึ่งก็คืออิเล็กตรอน ก่อนหน้าที่จะมีการค้นพบอิเล็กตรอนจริงหลายสิบปี นอกจากนี้เขายังเป็นผู้ประดิษฐ์โซลินอยด์ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในอุปกรณ์แม่เหล็กไฟฟ้า

อ็องแปร์สนใจศึกษาหลายด้านทั้งคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ และดาราศาสตร์ รวมทั้งวิชาเคมีที่เขาสนใจเป็นพิเศษ ก่อนหน้าที่เขาจะศึกษาเกี่ยวกับแม่เหล็กไฟฟ้าเขามีผลงานด้านเคมีมาก่อน อ็องแปร์เป็นผู้ค้นพบและตั้งชื่อธาตุฟลูออรีน เขาเสนอว่าสารประกอบที่เราเรียกว่าไฮโดรเจนฟลูออไรด์ในปัจจุบันประกอบด้วยไฮโดรเจนและธาตุใหม่ซึ่งมีคุณสมบัติคล้ายกับคลอรีน โดยที่ธาตุใหม่นี้สามารถแยกได้ด้วยกระแสไฟฟ้า เจ็ดสิบกว่าปีต่อมามีผู้สามารถแยกธาตุฟลูออรีนได้จริงโดยใช้อิเล็กโทรลิซิสซึ่งเป็นวิธีที่เขาเสนอไว้ นอกจากนี้เขายังจัดกลุ่มธาตุที่ค้นพบแล้วในสมัยนั้นด้วยคุณสมบัติของธาตุ ก่อนที่ Dmitri Mendeleev จะสร้างตารางธาตุมากกว่า 50 ปี หน่วยวัดกระแสไฟฟ้า แอมแปร์ (Ampere) ถูกตั้งตามชื่อของเขาเพื่อเป็นเกียรติแก่ผลงานการคิดค้นที่สำคัญของเขา

ผลงานเด่น :

– คิดค้นกฎของแอมแปร์ (Ampere’s law)
– ค้นพบธาตุฟลูออไรด์

วาทะเด็ด :

– “My father… never required me to study anything, but he knew how to inspire in me a great desire for knowledge.” → พ่อของฉัน… ไม่เคยต้องการให้ฉันเรียนอะไรเลย แต่เขารู้วิธีที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้ฉันปรารถนาความรู้อย่างมาก

andre-marie-ampere-2

 

10.​ อ็องรี ปวงกาเร (Henri Poincaré)henri-poincare-1

อ็องรี ปวงกาเร (ค.ศ. 1854 – 1912) นักคณิตศาสตร์และนักฟิสิกส์ชาวฝรั่งเศสผู้ได้รับการยกย่องเป็นพหูสูตที่รู้ลึกซึ้งในแทบทุกศาสตร์คนสุดท้ายของโลก เขาเป็นผู้พัฒนาคณิตศาสตร์มากมายหลายอย่างหลายด้าน ทั้งด้านพีชคณิต เรขาคณิต และทฤษฎีตัวเลข รวมถึงคิดค้นคณิตศาสตร์สาขาใหม่ได้แก่ทฤษฎีความอลวน (Chaos theory) และวิชาโทโปโลยี (Topology) มีรายชื่อสูตร ทฤษฎี และวิธีการทางคณิตศาสตร์ที่ตั้งชื่อเรียกตามชื่อของเขายาวเหยียดเป็นหน้ากระดาษ ถือเป็นผู้ที่มีผลงานด้านคณิตศาสตร์มากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ นอกจากนี้เขายังเป็นผู้เสนอปัญหาทางคณิตศาสตร์ที่เรียกว่าการคาดการณ์ของปวงกาเร (Poincaré conjecture) ที่เป็นหนึ่งในปัญหาคณิตศาสตร์ที่ยากที่สุดซึ่งต้องใช้เวลานับร้อยปีกว่าจะมีคนพิสูจน์ได้สำเร็จ

ปวงกาเรมีผลงานในด้านฟิสิกส์ที่สำคัญและโดดเด่นไม่แพ้ด้านคณิตศาสตร์ เขาเป็นผู้แก้ปัญหาการทำนายการเคลื่อนที่ของกลุ่มดาวหลายดวงที่มีปฏิสัมพันธ์กับแรงโน้มถ่วงซึ่งกันและกัน (n-body problem) ปัญหานี้คลุมเครือค้างคามากว่าร้อยปีตั้งแต่ยุคของ Isaac Newton ปวงกาเรมีส่วนสำคัญในการพัฒนาทฤษฎีสัมพัทธภาพ ความสัมพันธ์ระหว่างมวลกับพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังสือ Science and Hypothesis มีส่วนสร้างแรงบันดาลใจให้ Albert Einstein คิดค้นทฤษฎีสัมพัทธภาพได้สำเร็จ นอกจากนี้เขายังเป็นคนแรกที่เสนอการมีอยู่ของคลื่นความโน้มถ่วงซึ่งได้รับการพิสูจน์ว่ามีอยู่จริงในเวลาต่อมา แม้ว่าปวงกาเรจะมีผลงานสำคัญมากมายแต่เขาไม่เคยได้รับรางวัลโนเบล ทั้งๆที่เขาได้รับการเสนอชื่อถึง 51 ครั้ง ขณะที่เพื่อนนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำที่ให้การยกย่องเขาต่างได้รับรางวัลโนเบลกันแทบหมดทุกคน

ผลงานเด่น :

– คิดค้นทฤษฎีความอลวน (Chaos theory)
– คิดค้นวิชาโทโปโลยี (Topology)
– แก้ปัญหา n-body problem
– พัฒนาทฤษฎสัมพัทธภาพ

วาทะเด็ด :

– “The scientist does not study nature because it is useful; he studies it because he delights in it, and he delights in it because it is beautiful.” → นักวิทยาศาสตร์ไม่ได้ศึกษาธรรมชาติเพราะมันมีประโยชน์ เขาศึกษามันเพราะเขาชื่นชอบมัน และเขาชื่นชอบมันเพราะว่ามันสวยงาม

henri-poincare-2

 

ข้อมูลและภาพจาก   wikipedia, newworldencyclopedia, famousscientists

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *