ดาวเคราะห์ดวงที่ 9 อาจมีดวงจันทร์บริวาร และนั่นคือช่องทางที่เราจะค้นพบมัน

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีหลักฐานหลายอย่างบ่งชี้ว่าอาจมีดาวเคราะห์ดวงที่ 9 ซ่อนตัวอยู่ที่ชายขอบของระบบสุริยะ แต่ยังไม่มีผู้ใดค้นพบมัน ล่าสุดนักวิจัยเสนอว่าดาวเคราะห์ลึกลับนี้อาจมีดวงจันทร์บริวาร และบริวารของมันนั่นเองที่จะเป็นกุญแจสำคัญช่วยชี้ช่องทางให้เราสืบเสาะไปจนถึงตัวมันได้ในที่สุด

ดาวเคราะห์ดวงที่ 9 (Planet Nine), ถ้ามันมีอยู่จริง, แฝงตัวอยู่นอกวงโคจรของดาวเนปจูนในบริเวณแถบน้ำแข็งที่เรียกว่าแถบไคเปอร์ นักวิทยาศาสตร์เสนอการมีอยู่ของดาวเคราะห์ดวงที่ 9 เป็นครั้งแรกในงานวิจัยเมื่อปี 2016 เพื่อใช้อธิบายวงโคจรที่ผิดปกติของวัตถุหลายอย่างในแถบไคเปอร์ นักวิจัยเชื่อว่าดาวเคราะห์ดวงที่ 9 มีมวลมากกว่าโลกราว 5 – 10 เท่า โคจรรอบดวงอาทิตย์ที่ระยะห่างประมาณ 400 – 800 AU ( 1 AU คือระยะทางเฉลี่ยระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์)

แม้จะมีหลักฐานหลายอย่างสนับสนุนการมีอยู่ของมัน แต่การค้นหามันให้พบมิใช่เป็นเรื่องง่ายๆ เนื่องจากมันอยู่ไกลมาก แสงสะท้อนจากมันอ่อนจางเกินกว่าจะตรวจจับได้ หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมเรากลับสามารถค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่อยู่ไกลกว่านับล้านเท่าได้ นั่นเป็นเพราะว่าเราตรวจพบดาวเคราะห์เหล่านั้นได้ในขณะที่มันเคลื่อนที่ผ่านหน้าดาวฤกษ์ แต่ในระบบสุริยะเราสามารถเห็นดาวเคราะห์เคลื่อนที่ผ่านดวงอาทิตย์เฉพาะดาวเคราะห์ชั้นในคือดาวพุธกับดาวศุกร์เท่านั้น อีกวิธีที่จะสังเกตเห็นได้คือตรวจจับในขณะที่มันเคลื่อนที่ผ่านแหล่งกำเนิดแสงที่อยู่ห่างไกล เช่น กาแล็กซีหรือดวงดาวในทางช้างเผือก แต่มีโอกาสน้อยมากที่จะค้นพบด้วยวิธีนี้ ล่าสุดมีนักวิจัยเชื่อว่าเราอาจสามารถค้นหามันพบได้ด้วยวิธีอื่น

Man Ho Chan นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮ่องกงได้ใช้การประมาณขนาดและแรงโน้มถ่วงของดาวเคราะห์ดวงที่ 9 รวมกับวัตถุนอกดาวเนปจูนที่อยู่ใกล้พอที่จะถูกดึงเข้าสู่วงโคจรถาวรรอบดาวเคราะห์ลึกลับนี้ เพื่อประเมินดวงจันทร์บริวารที่เป็นไปได้ของดาวเคราะห์ดวงที่ 9 เขาพบว่าอาจมีดวงจันทร์มากถึง 20 ดวงสามารถโคจรรอบดาวเคราะห์ดวงที่ 9 ซึ่งดวงจันทร์แต่ละดวงอาจมีขนาดประมาณ 100 กิโลเมตร ที่น่าสนใจยิ่งคือคำถามที่ว่าทำไมดวงจันทร์เล็กๆเหล่านี้ซึ่งน่าจะหาพบยากยิ่งกว่าดาวเคราะห์ดวงที่ 9 กลับอาจเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่การค้นพบดาวเคราะห์ลึกลับที่เรากำลังพยายามค้นหา

คำตอบก็คือผลกระทบจากแรงโน้มถ่วงที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “Tidal Heating” แรงโน้มถ่วงที่ดาวเคราะห์และดวงจันทร์บริวารกระทำต่อกันซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงทิศทางไปตามการหมุนรอบและวงโคจรก่อให้เกิดการเสียดสีและกลายเป็นความร้อนภายในดวงจันทร์ ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นและเห็นได้ชัดในดวงจันทร์ไอโอของดาวพฤหัสบดีซึ่งได้สะสมพลังงานความร้อนจนแกนกลางหลอมเหลวก่อให้เกิดภูเขาไฟปะทุมากที่สุดในระบบสุริยะ

ดวงจันทร์ของดาวเคราะห์ดวงที่ 9 ที่ผ่านการสะสมพลังงานความร้อนจากปรากฏการณ์ Tidal Heating มาเป็นเวลานานอาจทำให้มีอุณหภูมิสูงขึ้นอยู่ที่ประมาณ -173 °C (ในอวกาศมีอุณภูมิเฉลี่ยประมาณ -271 °C) และหากดวงจันทร์ของดาวเคราะห์ดวงที่ 9 ดวงใดดวงหนึ่งมีอุณหภูมิสูงขนาดนี้ พวกมันก็น่าจะปล่อยสัญญาณวิทยุจางๆที่กล้องโทรทรรศน์ซึ่งได้รับการปรับแต่งมาอย่างดีสามารถตรวจจับได้ เมื่อเราพบดวงจันทร์บริวารของมันแล้วเราก็จะสามารถค้นพบดาวเคราะห์ลึกลับนี้ได้ไม่ยาก

“นี่เป็นวิธีการทางอ้อมแบบใหม่ในการตรวจสอบสมมติฐานของดาวเคราะห์ดวงที่ 9 และเปิดเผยคุณสมบัติพื้นฐานของมัน” Chan กล่าว

เรื่องที่เกี่่ยวข้อง
นาซายอมรับแล้วว่าดาวเคราะห์ดวงที่ 9 มีอยู่จริงและอาจเป็นซูเปอร์เอิร์ธที่หายสาบสูญไป
พบเบาะแสใหม่ในการตามล่าหาดาวเคราะห์ดวงที่ 9 สนับสนุนการมีอยู่จริง
ดาวเคราะห์ดวงที่เก้าคือต้นเหตุที่ทำให้ดวงอาทิตย์เอียงผิดปกติ?
หรือว่าดวงอาทิตย์ของเราจะขโมยดาวเคราะห์ดวงที่เก้า (Planet 9) มาจากระบบดาวอื่น?

ข้อมูลและภาพจาก   livescience, sciencealert

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *