10 สุดยอดนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ชาวเยอรมันกับผลงานเด่นและวาทะเด็ด

ประเทศเยอรมันเป็นประเทศที่ทรงอิทธิพลทางเศรษฐกิจและทางการทหารเป็นอันดับต้นๆของโลกมาอย่างยาวนานหลายร้อยปี ชาวเยอรมันมีความก้าวหน้าและพัฒนาการระดับสูงในแทบทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านวิทยาศาสตร์ มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆของโลกหลายต่อหลายอย่างถือกำเนิดจากประเทศเยอรมัน พวกเขามีนักวิทยาศาสตร์ระดับแนวหน้าของโลกจำนวนมากในทุกยุคทุกสมัย อันเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เยอรมันมีความเจริญก้าวหน้าและเป็นผู้นำของโลกตลอดมาจนถึงทุกวันนี้

และต่อไปนี้คือ 10 สุดยอดนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ชาวเยอรมันกับผลงานเด่นและวาทะเด็ดของพวกเขา

1. อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein)albert-einstein-1

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (ค.ศ. 1879 – 1955) นักฟิสิกส์ทฤษฎีชาวเยอรมันเชื้อสายยิวถือสัญชาติสวิสและอเมริกัน เป็นผู้คิดค้นทฤษฎีสัมพัทธภาพหนึ่งในสองเสาหลักของฟิสิกส์สมัยใหม่ร่วมกับกลศาสตร์ควอนตัม เขาเป็นเจ้าของสูตรที่โด่งดังที่สุดในโลก E = mc2 ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์จากการอธิบายปรากฏการณ์โฟโตอิเล็กทริกและจากการทำประโยชน์แก่ฟิสิกส์ทฤษฎี หลังจากที่ไอน์สไตน์ค้นพบทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปในปีค.ศ. 1915 เขาก็กลายเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยธรรมดานักสำหรับนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่ง เขาเป็นที่เคารพนับถือในความรู้แจ้งเห็นจริงในจักรวาลซึ่งช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักวิทยาศาสตร์จำนวนมาก กลายเป็นแบบอย่างและสัญลักษณ์ของความฉลาดหรือความอัจฉริยะ ดังคำที่มีผู้ยกย่องเขาว่า “ไอน์สไตน์มีความหมายเดียวกันกับอัจฉริยะ”

ไอน์สไตน์ถือว่าเป็นผู้ที่เรียนรู้ได้ช้าเนื่องจากมีความบกพร่องทางการอ่านเขียน (Dyslexia) แต่เขากลับบอกว่าการพัฒนาทฤษฎีของเขาเป็นผลมาจากความเชื่องช้านี่เอง เพราะเขามีเวลาครุ่นคิดถึงอวกาศและเวลามากกว่าเด็กคนอื่น ในช่วงเริ่มต้นทำงานวิจัยไอน์สไตน์คิดว่ากลศาสตร์ของนิวตันไม่เพียงพอที่จะรวมกฎของกลศาสตร์ดั้งเดิมหรือกลศาสตร์ของนิวตันเข้ากับกฎของสนามแม่เหล็กไฟฟ้าได้ นำไปสู่การคิดค้นพัฒนาทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ ต่อมาเขาได้ขยายทฤษฎีให้ครอบคลุมไปถึงสนามแรงโน้มถ่วงด้วยจึงเกิดเป็นทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปซึ่งใช้อธิบายโครงสร้างของจักรวาลได้ เขายังมีผลงานด้านกลศาสตร์เชิงสถิติและทฤษฎีควอนตัม รวมไปถึงทฤษฎีอนุภาคและการเคลื่อนที่ของโมเลกุล ไอน์สไตน์ได้ตีพิมพ์ผลงานทางวิทยาศาสตร์มากกว่า 300 ชิ้นและงานอื่นที่ไม่ใช่วิทยาศาสตร์อีกกว่า 150 ชิ้น ทุกวันนี้ไอน์สไตน์ยังคงเป็นที่รู้จักดีในฐานะนักวิทยาศาสตร์ที่โด่งดังที่สุดทั้งในวงการวิทยาศาสตร์และนอกวงการ

ผลงานเด่น :

– ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ
– ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป
– ทฤษฎีโฟตอนกับความเกี่ยวพันระหว่างคลื่นและอนุภาค
– ทฤษฎีควอนตัมเกี่ยวกับการเคลื่อนที่ของอะตอมในของแข็ง

วาทะเด็ด :

– “Imagination is more important than knowledge.” → จินตนาการสำคัญกว่าความรู้
– “Politics is for the present, but an equation is for eternity.” → การเมืองนั้นแสนสั้น แต่สมการคงอยู่ชั่วนิรันดร์

albert-einstein-2

 

2. โยฮันน์ คาร์ล ฟรีดริช เกาส์ (Johann Carl Friedrich Gauss)carl-friedrich-gauss-1

ฟรีดริช เกาส์ (ค.ศ. 1777 – 1855) นักคณิตศาสตร์ชาวเยอรมัน เจ้าของฉายา “เจ้าชายแห่งคณิตศาสตร์” (Prince of Mathematics) ผู้มีผลงานโดดเด่นในหลากหลายสาขา ได้แก่ ทฤษฎีจำนวน, พีชคณิต, สถิติ, คณิตวิเคราะห์, เรขาคณิต, ทฤษฎีเมตริก, ยีออเดซี, ธรณีฟิสิกส์, กลศาสตร์, ไฟฟ้าสถิต และดาราศาสตร์ เกาส์เป็นอัจฉริยบุคคลระดับเดียวกับไอน์ไสตน์ ไม่ว่าเขาจะจับเรื่องใดก็จะพบความรู้ที่สำคัญและพบวิธีคำนวณใหม่ซึ่งเป็นรากฐานของวิชานั้นอยู่เสมอ นักคณิตศาสตร์รุ่นหลังต่างก็ยอมรับว่ามีเกาส์อยู่ทุกที่ในวิชาคณิตศาสตร์ “Gauss lives everywhere in mathematics”

ตอนเกาส์อายุ 7 ขวบเขาใช้เวลาไม่กี่วินาทีตอบโจทย์การบวกเลขตั้งแต่ 1 ถึง 100 ในห้องเรียนจนคุณครูตะลึง ยิ่งเมื่อทราบวิธีคิดยิ่งทึ่งมาก อายุ 19 ปีค้นพบวิธีการสร้างรูป 17 เหลี่ยมด้านเท่าโดยใช้วงเวียนและไม้บรรทัดเท่านั้น ซึ่งยุคลิดได้เคยแสดงการสร้างรูป 3, 4, 5 และ 15 เหลี่ยมด้านเท่าโดยใช้ไม้บรรทัดและวงเวียน แล้วหลังจากนั้นอีก 2,000 ปี ยังไม่มีใครทำได้เพิ่มอีกเลย อายุ 21 ปีค้นพบทฤษฎีจำนวน อายุ 23 ปีค้นพบวิธีการคำนวณที่เรียกว่า “วิธีกำลังสองน้อยที่สุด” ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของทฤษฎีการประมาณค่าที่เรายังใช้กันอยู่ในปัจจุบัน นำไปใช้คำนวณวิถีวงโคจรดาวเคราะห์น้อยซีรีสจากข้อมูลที่มีเพียงน้อยนิดสำเร็จ เกาส์ยังมีผลงานอีกมากมายในหลากหลายสาขาวิชา เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นนักคณิตศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดนับจากยุคโบราณ

ผลงานเด่น :

– คิดค้นทฤษฎีจำนวนสมัยใหม่
– เป็นผู้แรกที่สามารถพิสูจน์ทฤษฎีบทมูลฐานของพีชคณิตซึ่งเป็นวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของเขา
– คิดค้นวิธีกำลังสองน้อยที่สุด
– พัฒนาเรขาคณิตนอกระบบยุคลิด
– ค้นพบทฤษฎีของฟังก์ชันเชิงวงรี

วาทะเด็ด :

– “It is not knowledge, but the act of learning, not possession but the act of getting there, which grants the greatest enjoyment.” → ไม่ใช่ความรู้แต่เป็นการกระทำแห่งการเรียนรู้ ไม่ใช่การครอบครองแต่เป็นการกระทำเพื่อไปถึงที่นั่น ซึ่งทำให้ได้รับความเพลิดเพลินมากที่สุด
– “Mathematics is the queen of sciences and number theory is the queen of mathematics.” → คณิตศาสตร์เป็นราชินีของวิทยาศาสตร์และทฤษฎีจำนวนเป็นราชินีของคณิตศาสตร์

carl-friedrich-gauss-3

3. มักซ์ พลังค์ (Max Planck)max-planck-1

มักซ์ พลังค์ (ค.ศ. 1858 – 1947) เป็นนักฟิสิกส์ทฤษฎีชาวเยอรมันผู้ค้นพบก้อนพลังงานเล็กๆที่เรียกว่า “energy quanta” และเป็นผู้บุกเบิกการศึกษาทฤษฎีควอนตัมซึ่งได้ปฏิวัติความเข้าใจเกี่ยวกับอะตอมและอนุภาคย่อยของอะตอม แบบเดียวกับที่ทฤษฎีสัมพัทธภาพของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ได้ปฏิวัติความเข้าใจเกี่ยวกับอวกาศและเวลา และทั้งสองทฤษฎีนี้ก็เป็นเสาหลักของฟิสิกส์ในปัจจุบัน พลังค์ศึกษาปัญหาการแผ่รังสีของวัตถุดำและได้เสนอกฎการแผ่รังสีของวัตถุดำของพลังค์ (Planck black-body radiation law) โดยใช้แนวคิดว่าพลังงานคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าต้องถูกปลดปล่อยในรูปของอนุภาคเล็กๆเรียกว่า ควอนตา มิได้ถูกปลดปล่อยเป็น “ก้อน” พลังงานใหญ่ และมีพลังงานอยู่ค่าหนึ่งขึ้นอยู่กับความถี่ของการแผ่รังสี ผลงานนี้ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์และกลายเป็นพื้นฐานสำคัญของทฤษฎีควอนตัม

ในกฎการแผ่รังสีของวัตถุดำของพลังค์เขาได้เสนอสมการ E = nhv (เรียกว่า Planck’s postulate) เพื่อหาค่าพลังงานที่ถูกปลดปล่อย และทดลองหา h (ค่าคงที่ของพลังค์) ในสมการได้ใกล้เคียงกับค่าที่ใช้ในปัจจุบันอย่างมาก ทั้งสมการพลังงานและค่าคงที่ของพลังค์เป็นพื้นฐานสำคัญอย่างยิ่งในวิชากลศาสตร์ควอนตัม ไอน์สไตน์ได้นำสมการนี้ของพลังค์ไปปรับใช้ในการอธิบายปรากฏการณ์โฟโตอิเล็กทริกซึ่งทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบล ความสำเร็จของพลังค์ได้รับการยกย่องอย่างสูง สมาคมฟิสิกส์เยอรมันได้นำชื่อเขาไปตั้งชื่อรางวัลระดับสูงสุดที่มอบให้แก่นักฟิสิกส์คือรางวัลเหรียญมักซ์ พลังค์ (Max Planck Medal) ซึ่งพลังค์เป็นผู้ได้รับในปีแรกร่วมกับไอน์สไตน์ แต่น่าเศร้าใจที่บั้นปลายชีวิตพลังค์ต้องพบกับโศกนาฏกรรมของครอบครัวเนื่องจากภรรยาและลูกอีก 4 คนต้องมาเสียชีวิตในช่วงระหว่างสงครามโลก รวมทั้งบ้านของเขาก็ถูกถล่มด้วยระเบิดจนเสียหายหมด ตัวเขาจึงต้องอยู่ในสภาพสิ้นหวังจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

ผลงานเด่น :

– คิดค้นกฎการแผ่รังสีของวัตถุดำของพลังค์
– บุกเบิกการศึกษาทฤษฎีควอนตัม
– รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์

วาทะเด็ด :

– “When you change the way you look at things, the things you look at change.” → เมื่อคุณเปลี่ยนวิธีมองสิ่งต่างๆ สิ่งที่คุณมองจะเปลี่ยนไป
– “Science cannot solve the ultimate mystery of nature. And that is because, in the last analysis, we ourselves are a part of the mystery that we are trying to solve.” → วิทยาศาสตร์ไม่สามารถไขความลึกลับขั้นสูงสุดของธรรมชาติได้ และนั่นเป็นเพราะว่าในการวิเคราะห์ครั้งสุดท้ายเราเองก็เป็นส่วนหนึ่งของความลึกลับที่เรากำลังพยายามหาคำตอบ

max-planck-2

 

4. แวร์เนอร์ ไฮเซนแบร์ก (Werner Heisenberg)werner-heisenberg-08

แวร์เนอร์ ไฮเซนแบร์ก (ค.ศ 1901 – 1976) เป็นนักฟิสิกส์ทฤษฎีคนสำคัญหนึ่งในผู้บุกเบิกวิชากลศาสตร์ควอนตัม ผลงานการคิดค้นด้านทฤษฎีควอนตัมหลายอย่างได้สร้างรากฐานและมีส่วนให้วิชากลศาสตร์ควอนตัมก้าวหน้าอย่างมาก โดยเฉพาะหลักความไม่แน่นอนของไฮเซนแบร์กและกลศาสตร์เมทริกซ์ซึ่งทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์สำหรับ “การสร้างกลศาสตร์ควอนตัม, การประยุกต์ใช้ซึ่งนำไปสู่การค้นพบอัญรูปของไฮโดรเจน” ขณะที่มีอายุเพียง 31 ปี ถือว่าเป็นผู้ชนะรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ที่มีอายุน้อยมาก (เป็นอันดับ 2 ในประวัติศาสตร์) นอกจากนี้เขายังได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นหนึ่งในบุคคลที่มีอิทธิพลมากที่สุดในฟิสิกส์นิวเคลียร์ ฟิสิกส์อนุภาค และทฤษฎีสนามควอนตัม

ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เยอรมันได้เริ่มโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ขึ้นโดยได้ระดมนักวิทยาศาสตร์ชั้นแนวหน้าของเยอรมันมาร่วมในโครงการเป็นจำนวนมาก ไฮเซนแบร์กเข้าร่วมในการพัฒนาเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์อันเป็นหัวใจของโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ แต่สหรัฐอเมริกาสามารถสร้างระเบิดปรมาณูได้สำเร็จก่อนอันเป็นผลให้สัมพันธมิตรเป็นฝ่ายชนะสงคราม ว่ากันว่าไฮเซนแบร์กตั้งใจให้โครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ล้มเหลวเพื่อมิให้นาซีได้ใช้ระเบิดปรมาณูไปสร้างหายนะให้กับโลก แต่ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ยังคงเป็นปริศนาและเป็นที่ถกเถียงกันถึงปัจจุบัน หลังสงครามเขาได้ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารสูงสุดของสถาบันวิจัยด้านฟิสิกส์ Max Planck Institute for Physics นานกว่า 20 ปีจวบจนกระทั่งเกษียณอายุ ไฮเซนแบร์กได้รับการยกย่องเป็นนักฟิสิกส์ทีสำคัญที่สุดอีกคนหนึ่งของโลกในช่วงศตวรรษที่ 20

ผลงานเด่น :

– คิดค้นหลักความไม่แน่นอนของไฮเซนแบร์ก
– คิดค้นกลศาสตร์เมทริกซ์
– วางรากฐานและแนวคิดของกลศาสตร์ควอนตัม

วาทะเด็ด :

– “Not only is the Universe stranger than we think, it is stranger than we can think.” → จักรวาลไม่เพียงแปลกกว่าที่เราคิดเท่านั้น แต่มันยังแปลกกว่าที่เราสามารถจะคิดได้อีกด้วย
– “If we made atomic bombs, we would bring about a terrible change in the world. Who knows what would happen from this?” → ถ้าเราสร้างระเบิดปรมาณู เราจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เลวร้ายในโลก ใครจะรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นจากนี้?

werner-heisenberg-09

 

5. โยฮันเนส เคปเลอร์ (Johannes Kepler)johannes-kepler-12

โยฮันเนส เคปเลอร์ (ค.ศ 1571 – 1630) เป็นนักดาราศาสตร์และนักคณิตศาสตร์ผู้ค้นพบกฎการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์อย่างมาก เคปเลอร์สนับสนุนแนวคิดระบบดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของ Nicolaus Copernicus เขาศึกษาคำนวณวิเคราะห์ข้อมูลการเคลื่อนที่ของดาวอังคารเป็นเวลานานถึง 17 ปีจนยืนยันได้ว่าดาวเคราะห์โคจรรอบดวงอาทิตย์และนำไปสู่ข้อสรุปที่เป็นกฎทางคณิตศาสตร์ 3 ข้อที่ใช้อธิบายการโคจรของดาวเคราะห์รอบดวงอาทิตย์อันเป็นพื้นฐานสำคัญทางดาราศาสตร์ การค้นพบกฎการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์ 3 ข้อของเคปเลอร์เป็นผลงานที่ยิ่งใหญ่ในทางดาราศาสตร์ และที่สำคัญ Isaac Newton ได้อาศัยอ้างอิงกฎของเคปเลอร์ในการคิดค้นกฎแรงโน้มถ่วงสากลซึ่งเป็นเสาหลักของการศึกษาทางดาราศาสตร์ตลอดช่วง 3 ศตวรรษที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน

นอกจากผลงานยิ่งใหญ่อย่างการค้นพบกฎการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์แล้วเคปเลอร์ยังมีผลงานและความสำเร็จอื่นอีกมากมายทั้งด้านฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ ได้แก่ ค้นพบกฎกําลังสองผกผันของความเข้มของแสง, ออกแบบสร้างกล้องโทรทรรศน์แบบหักเหแสงและอธิบายหลักการทำงานของกล้องโทรทรรศน์เป็นคนแรก, เป็นคนแรกที่ระบุสาเหตุที่ถูกต้องของปรากฏการณ์น้ำขึ้นน้ำลงบนโลกว่าเกิดจากดวงจันทร์ส่งแรงมากระทำ นอกจากนี้เคปเลอร์ยังเป็นคนแรกที่บอกว่าดวงอาทิตย์มีการหมุนรอบตัวเอง รวมทั้งผลงานอื่นๆอีกหลายอย่าง ผลงานของเคปเลอร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้นพบกฎการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์มีส่วนสำคัญต่อการการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์อย่างมาก เคปเลอร์ถือเป็นนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญอีกคนหนึ่งของโลก

ผลงานเด่น :

– ค้นพบกฎการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์

วาทะเด็ด :

– “I much prefer the sharpest criticism of a single intelligent man to the thoughtless approval of the masses.” → ฉันชอบการวิพากษ์วิจารณ์ที่เฉียบแหลมของคนฉลาดคนเดียวมากกว่าความเห็นชอบที่ไม่มีความคิดของมวลชน

johannes-kepler-16

 

6. ฟริทซ์ ฮาเบอร์ (Fritz Haber)fritz-haber-1

ฟริทซ์ ฮาเบอร์ (ค.ศ. 1868 – 1934) เป็นนักเคมีชาวเยอรมันผู้คิดค้นวิธีสังเคราะห์แอมโมเนียจากก๊าซไนโตรเจนและก๊าซไฮโดรเจนให้ได้ในปริมาณมากๆ ทำให้สามารถผลิตแอมโมเนียในระดับอุตสาหกรรมได้ ฮาเบอร์คิดค้นวิธีสังเคราะห์แอมโมเนียด้วยปฏิกิริยาเคมี 3H2 + N2 → 2NH3 ภายใต้อุณหภูมิและความดันสูงพร้อมกับใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาเป็นผลสำเร็จในปี 1908 ปีถัดมา Carl Bosch นำวิธีของฮาเบอร์ไปพัฒนาต่อในระดับอุตสาหกรรมจนสำเร็จกลายเป็นกระบวนการฮาเบอร์-บ็อช (Haber–Bosch process) ที่สามารถผลิตแอมโมเนียได้จำนวนมากซึ่งมีประโยชน์ต่อโลกอย่างมหาศาล เพราะแอมโมเนียเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตปุ๋ยไนโตรเจนซึ่งทำให้เกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิตผลทางการเกษตรได้มากจนเพียงพอสำหรับจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลาได้ ผลงานนี้ทำให้ฮาเบอร์ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมี นอกจากนี้เขายังร่วมกับ Max Born คิดค้น Born-Haber cycle ซึ่งเป็นวิธีหาพลังงานโครงผลึก

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 ฮาเบอร์ช่วยกองทัพเยอรมันพัฒนาก๊าซพิษจากก๊าซคลอรีนและก๊าซอื่นๆใช้เป็นอาวุธสงครามซึ่งได้คร่าชีวิตทหารฝ่ายสัมพันธมิตรไปหลายพันคน ทำให้เขากลายเป็นอาชญากรสงครามในสายตาของชาวโลก ผู้คนในแวดวงนักวิชาการพากันวิพากษ์วิจารณ์และประท้วงการมอบรางวัลโนเบลให้แก่เขา และสุดท้ายเขาก็ต้องชดใช้กรรมเมื่อเวลาต่อมาเขาถูกอดอล์ฟ ฮิตเลอร์บังคับให้ออกจากงาน เมื่อเขาหนีไปอยู่ต่างประเทศก็ไม่มีใครต้อนรับ ไม่มีงานทำ ต้องอยู่อย่างยากลำบากจนเสียชีวิต อย่างไรก็ดีผลงานของฮาเบอร์มีคุณค่ามหาศาลต่อชาวโลกเพราะอาหารพื้นฐานของประชากรโลกในปัจจุบันครึ่งหนึ่งขึ้นอยู่กับกระบวนการฮาเบอร์-บ็อชที่เขาเป็นคนคิดค้น

ผลงานเด่น :

– คิดค้นกระบวนการฮาเบอร์-บ็อช
– คิดค้นวิธีหาพลังงานโครงผลึก
– รางวัลโนเบลสาขาเคมี

วาทะเด็ด :

– “In peace-time the scientist belongs to humanity, in war-time to his fatherland.” → ในยามสงบนักวิทยาศาสตร์เป็นของมนุษยชาติ, ในยามสงครามเป็นของมาตุภูมิของเขา

fritz-haber-2

 

7. กอทท์ฟรีด วิลเฮล์ม ไลบ์นิซ (Gottfried Wilhelm Leibniz)gottfried-wilhelm-leibniz-1

กอทท์ฟรีด วิลเฮล์ม ไลบ์นิซ (ค.ศ. 1646 – 1716) เป็นนักปรัชญาและนักคณิตศาสตร์ชาวเยอรมันผู้เป็นพหูสูตคนหนึ่งของยุคนั้น เป็นเสาหลักของนักปรัชญากลุ่มเหตุผลนิยม (Rationalism) ร่วมกับเรอเน เดการ์ต ไลบ์นิซเป็นคนแรกที่ใช้คำว่า “ฟังก์ชัน” สำหรับอธิบายปริมาณที่เกี่ยวข้องกับเส้นโค้ง เช่น ความชันของเส้นโค้งหรือจุดบนเส้นโค้ง เขายังเป็นผู้ริเริ่มใช้สัญลักษณ์และเครื่องหมายต่างๆในวิชาคณิตศาสตร์มากมาย ใช้วงเล็บในการแยกเทอมต่างๆในวิชาพีชคณิต ใช้จุดแสดงการคูณแทนเครื่องหมายคูณที่มักสับสนกับตัวอักษร x และใช้ ∫ แทนผลรวมด้วยมีลักษณะเหมือน s ซึ่งมาจากคำว่า sum การรู้จักใช้สัญลักษณ์ต่างๆที่กระชับรัดกุมและสื่อความหมายดีนี้มีผลให้ผลงานคณิตศาสตร์ในยุโรปก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว แต่ผลงานที่สำคัญที่สุดของไลบ์นิซคือการคิดค้นพัฒนาวิชาแคลคูลัสซึ่งส่งผลให้เปลี่ยนโฉมของวิทยาศาสตร์ และทำให้วิทยาศาสตร์โดยเฉพาะฟิสิกส์เป็นวิชาที่ทรงพลังมาก เพราะสามารถใช้แคลคูลัสศึกษาปัญหาที่ยากและซับซ้อนจากการมีหลายตัวแปรได้ดี

ไลบ์นิซคิดวิธีหาพื้นที่โดยการรวมพื้นที่เล็กๆเข้าด้วยกันและหาปริมาตรโดยการรวมปริมาตรเล็กๆ รวมถึงการหาความยาวโดยการรวมความยาวท่อนสั้นๆ ไลบ์นิซเรียกเทคนิคเหล่านี้ว่า calculus และตีพิมพ์เป็นหนังสือในปี 1684 แต่ก่อนหน้านั้นไอแซก นิวตันได้คิดวิธีคำนวณเพื่อใช้แก้ปัญหากลศาสตร์ที่เกี่ยวกับการเคลื่อนที่ซึ่งเขาเรียกว่า fluxion ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกับ calculus ของไลบ์นิซ เพียงแต่นิวตันไม่ได้ตีพิมพ์เป็นหนังสือ แต่ได้สอดแทรกทั้งทฤษฎีและการประยุกต์ใช้ไว้ในหนังสือหลายเล่มที่พิมพ์ก่อนปี 1684 นิวตันได้โจมตีไลบ์นิซว่าแอบขโมยความคิดของเขาไป แต่ไลบ์นิซได้ปฏิเสธอย่างแข็งขันและย้ำว่าไม่เคยเห็นหรืออ่านงาน fluxion ของนิวตันเลย เนื่องจากนิวตันเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้มีอิทธิพลมากที่สุดในโลก บรรดาเพื่อนฝูงและลูกศิษย์ต่างก็ออกมาสนับสนุนเขา ไลบ์นิซจึงถูกประนามและถูกเกลียดชังโดยคนอังกฤษทั้งประเทศ ทุกวันนี้นักประวัติศาสตร์คณิตศาสตร์ได้เห็นพ้องกันว่าไลบ์นิซและนิวตันสร้างแคลคูลัสขึ้นมาโดยไม่มีใครลอกเลียนใคร และนิวตันสร้างได้ก่อนไลบ์นิซประมาณ 10 ปี (แต่ไม่ตีพิมพ์) แต่สัญลักษณ์และเครื่องหมายของไลบ์นิซได้รับความนิยมมากกว่า นอกจากนี้ไลบ์นิซยังเป็นคนแรกที่ประดิษฐ์เครื่องคำนวณที่คูณ หาร และหารากที่สองได้ รวมทั้งเป็นผู้คิดค้นระบบเลขฐานสองซึ่งเป็นพื้นฐานการทำงานของคอมพิวเตอร์อีกด้วย

ผลงานเด่น :

– คิดค้นวิชาแคลคูลัส
– คิดค้นและริเริ่มใช้สัญลักษณ์และเครื่องหมายทางคณิตศาสตร์ที่สำคัญจำนวนมาก
– คิดค้นระบบเลขฐานสอง

วาทะเด็ด :

– “Music is the pleasure the human mind experiences from counting without being aware that it is counting.” → ดนตรีคือความสุขที่จิตใจมนุษย์สัมผัสได้จากการนับโดยที่ไม่รู้ตัวว่ามันคือการนับ

gottfried-wilhelm-leibniz-3

 

8. มักซ์ บอร์น (Max Born)max-born-01

มักซ์ บอร์น (ค.ศ 1882 – 1970) เป็นนักฟิสิกส์และนักคณิตศาสตร์ผู้มีส่วนสำคัญในการพัฒนากลศาสตร์ควอนตัม ผลงานด้านทฤษฎีควอนตัมของเขาหลายอย่างมีส่วนให้วิชากลศาสตร์ควอนตัมก้าวหน้าอย่างมาก โดยเฉพาะการคิดค้นกลศาสตร์เมทริกซ์และการคิดค้นฟังก์ชั่นความหนาแน่นความน่าจะเป็นซึ่งกลายเป็นมาตรฐานในการตีความหมายของกลศาสตร์ควอนตัมและทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ นอกจากนี้เขายังมีผลงานในด้านฟิสิกส์สถานะของแข็งและทัศนศาสตร์ รวมทั้งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของนักฟิสิกส์คนสำคัญในยุคนั้นจำนวนมาก มีส่วนสำคัญทำให้มหาวิทยาลัยเกิททิงเงินกลายเป็นศูนย์วิจัยฟิสิกส์ระดับแนวหน้าแห่งหนึ่งของโลก ผู้ช่วยและลูกศิษย์ที่เคยทำวิจัยอยู่กับเขาได้รับรางวัลโนเบลไปหลายคน

เนื่องจากมักซ์ บอร์นมีเชื้อสายยิวดังนั้นเมื่อพรรคนาซีที่นำโดยอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ครองอำนาจในเยอรมัน เขาจำต้องหนีภัยการเมืองไปอยู่ที่ประเทศอังกฤษ สอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์อยู่ระยะหนึ่งก่อนที่จะย้ายไปปักหลักถาวรเป็นศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยเอดินบะระในสกอตแลนด์ ที่นั่นเขามีผลงานวิจัยมากมายและเขียนตำราฟิสิกส์เล่มสำคัญอีกหลายเล่ม เขาทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัยเอดินบะระจนกระทั่งเกษียณอายุแล้วจึงกลับไปใช้ชีวิตบั้นปลายในเยอรมัน มักซ์ บอร์นถือเป็นนักฟิสิกส์คนสำคัญอีกคนหนึ่งของโลกในช่วงศตวรรษที่ 20

ผลงานเด่น :

– คิดค้นกลศาสตร์เมทริกซ์
– คิดค้นฟังก์ชั่นความหนาแน่นความน่าจะเป็น

วาทะเด็ด :

– “Those who say that the study of science makes a man an atheist, must be rather silly people.” → คนที่บอกว่าการศึกษาวิทยาศาสตร์ทำให้คนไม่เชื่อในพระเจ้าจะต้องเป็นคนปัญญานิ่ม

9. แบร์นฮาร์ด รีมันน์ (Bernhard Riemann)bernhard-riemann-1

แบร์นฮาร์ด รีมันน์ (ค.ศ. 1826 – 1866) เป็นนักคณิตศาสตร์ชาวเยอรมันผู้มีผลงานโดดเด่นในสาขาคณิตวิเคราะห์ ทฤษฎีจำนวน และเรขาคณิตเชิงอนุพันธ์ที่ไอน์สไตน์นำไปใช้ในการสร้างทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป รีมันน์เก่งคณิตศาสตร์ตั้งแต่เด็ก วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของเขาสร้างความประทับใจให้กับฟรีดริช เกาส์สุดยอดนักคณิตศาสตร์แห่งยุคมาก ถึงกับชื่นชมว่ามีคุณค่าสูงส่งเกินมาตรฐานของวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกเพราะผลงานนี้ได้ทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่มากมาย เช่น Riemann Surfaces, Theory of Holomorphic Functions, Topology, Algebraic Geometry และ Differential Geometry รีมันน์ทำงานเป็นอาจารย์สอนคณิตศาสตร์จนได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ และได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกต่างชาติของราชสมาคมแห่งลอนดอน (Royal Society of London) และสภาวิจัยวิทยาศาสตร์ของฝรั่งเศส (French Academy of Sciences)

รีมันน์ในวัย 33 ปีได้เสนอฟังก์ชันหนึ่งซึ่งมีโดเมนเป็นจำนวนเชิงซ้อนเรียกว่า Riemann zeta function และตั้งสมมุติฐานว่าคำตอบที่ทำให้ค่าของฟังก์ชันนี้เท่ากับศูนย์คือจำนวนเต็มคู่ลบ (-2, -4, -6, …) กับจำนวนเชิงซ้อนที่จะต้องมีส่วนจริง (real part) เท่ากับ ½ เท่านั้น จากปี ค.ศ. 1859 จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครสามารถพิสูจน์สมมติฐานนี้ได้ โจทย์นี้จึงเป็นโจทย์คณิตศาสตร์ที่ยากที่สุดโจทย์หนึ่งของโลก ดาฟิด ฮิลแบร์ต (David Hilbert) นักคณิตศาสตร์ชื่อดังอีกคนหนึ่งถึงกับบอกว่าถ้าเขานอนหลับไปหลายศตวรรษแล้วตื่นขึ้นมา คำถามแรกที่เขาจะถามผู้คนรอบข้างคือมีใครพิสูจน์สมมติฐานของรีมันน์ (The Riemann Hypothesis) ได้แล้วบ้าง ถึงวันนี้ถ้าใครพิสูจน์สมมติฐานนี้ได้ว่าจริงหรือไม่จริง สถาบัน Clay Mathematics Institute ก็จะมอบเงินรางวัล 1 ล้านเหรียญให้แก่ผู้นั้น ปัจจุบันนักคณิตศาสตร์ได้พบว่าเทคนิคการวิเคราะห์สมมติฐานของรีมันน์ สามารถนำไปใช้ในการแก้ปัญหาอื่นๆได้อีกหลายเรื่อง เช่น Quantum Chaos, Cryptography และ Network Design น่าเสียดายที่รีมันน์อายุสั้นแค่เพียง 39 ปีมิฉะนั้นวิชาคณิตศาสตร์อาจมีความก้าวหน้ามากกว่านี้

ผลงานเด่น :

– ทฤษฎีฟังก์ชันตัวแปรเชิงซ้อน
– Riemann surface ซึ่งริเริ่มนำโทโพโลยีมาใช้ในวิชาคณิตวิเคราะห์
– พัฒนาแนวคิดเรื่องอินทิกรัลที่รู้จักดีในชื่อ Riemann integral
– พัฒนาเรขาคณิตเชิงอนุพันธ์

วาทะเด็ด :

– “The greatest strategy is doomed if it’s implemented badly.” → กลยุทธ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดจะถึงคราวเคราะห์หากนำไปใช้ในทางที่ผิด

bernhard-riemann-3

 

10. โยฮันน์ กูเทนแบร์ก (Johann Gutenberg)johannes-gutenberg-1

โยฮันน์ กูเทนแบร์ก (ค.ศ. 1400 – 1468) เป็นช่างเหล็ก ช่างทอง และนักประดิษฐ์ชาวเยอรมันผู้พัฒนาเทคโนโลยีการพิมพ์ซึ่งนำไปสู่การปฏิวัติการพิมพ์อันเป็นก้าวสำคัญของการเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ของมนุษย์ กูเทนแบร์กไม่ได้เพียงแค่ประดิษฐ์แท่นพิมพ์แบบกดรุ่นใหม่ที่พัฒนาจากเครื่องอัดแบบเกลียวที่ใช้ทำเหล้าองุ่นเท่านั้น เขายังคิดค้นเทคนิคการนำโลหะผสมมาหล่อเป็นตัวพิมพ์แบบถอดได้ซึ่งช่วยให้สามารถผลิตตัวพิมพ์ได้รวดเร็วแม่นยำ ต้นทุนต่ำ และทนทาน รวมทั้งการนำหมึกพิมพ์แบบผสมน้ำมันมาใช้ในการพิมพ์หนังสือ กูเทนแบร์กใช้เวลานานหลายปีในการพัฒนาระบบและอุปกรณ์การพิมพ์ของเขาจนสำเร็จในปี 1455 โดยผลงานสำคัญชิ้นแรกเป็นการพิมพ์คัมภีร์ไบเบิลฉบับกูเทนแบร์กที่มักเรียกกันว่าไบเบิล 42 บรรทัด (42-line Bible) ซึ่งพิมพ์ออกมาราว 180 เล่ม

การพัฒนาเทคโนโลยีการพิมพ์ของกูเทนแบร์กส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายทั่วโลก หนังสือถูกผลิตขึ้นมากมายมหาศาล ข่าวสารถูกส่งต่อแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ความรู้ได้รับการเผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวางก่อให้เกิดการพัฒนาตามมาอย่างต่อเนื่อง คล้ายๆกับการเกิดขึ้นของอินเตอร์เน็ตในปัจจุบัน แต่น่าเสียดายที่กูเทนแบร์กกลับไม่ได้รับอานิสงส์ใดๆจากการทุ่มเทต่อสิ่งนี้เลย เนื่องจากเขาได้กู้ยืมเงินจากนายทุนมาทำการพัฒนาเทคโนโลยี แต่ก่อนที่มันจะสามารถสร้างรายได้เขากลับถูกนายทุนฟ้องเรียกเงินคืนและถูกศาลตัดสินให้กิจการทั้งหมดของเขาตกเป็นของนายทุน ส่วนตัวเขากลายเป็นบุคคลล้มละลาย

ผลงานเด่น :

– พัฒนาเทคโนโลยีการพิมพ์
– ประดิษฐ์แท่นพิมพ์แบบกดรุ่นถอดตัวพิมพ์ได้


วาทะเด็ด :

– “God suffers in the multitude of souls whom His word can not reach.” → พระเจ้าทนทุกข์ทรมานในหมู่คนผู้ซึ่งคำพูดของพระองค์ไม่สามารถเข้าถึงได้

johannes-gutenberg-2

 

ข้อมูลและภาพจาก   wikipedia, biography, britannica

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *