10 สุดยอดนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ชาวอเมริกันกับผลงานเด่นและวาทะเด็ด

ประเทศสหรัฐอเมริกาก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1776 ผ่านเวลามาเพียงแค่สองร้อยกว่าปีชาวอเมริกันได้พัฒนาประเทศของพวกเขาให้เจริญก้าวหน้าได้อย่างเหลือเชื่อ สหรัฐอเมริกามีพัฒนาการสูงมากในแทบทุกด้านจนกลายเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกมาถึงทุกวันนี้ โดยเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์สหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำของโลกในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมอย่างแท้จริง นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันทั้งที่กำเนิดบนแผ่นดินสหรัฐอเมริกาและที่อพยพมาจากที่อื่นได้คิดค้นผลงานสำคัญอันนำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และความเปลี่ยนแปลงในชีวิตของชาวโลกอย่างมากมายมหาศาล

และต่อไปนี้คือ 10 สุดยอดนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ชาวอเมริกันกับผลงานเด่นและวาทะเด็ดของพวกเขา

1. อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein)albert-einstein-1

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (ค.ศ. 1879 – 1955) นักฟิสิกส์ทฤษฎีชาวเยอรมันเชื้อสายยิวถือสัญชาติสวิสและอเมริกัน เป็นผู้คิดค้นทฤษฎีสัมพัทธภาพหนึ่งในสองเสาหลักของฟิสิกส์สมัยใหม่ร่วมกับกลศาสตร์ควอนตัม เขาเป็นเจ้าของสูตรที่โด่งดังที่สุดในโลก E = mc2 ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์จากการอธิบายปรากฏการณ์โฟโตอิเล็กทริกและจากการทำประโยชน์แก่ฟิสิกส์ทฤษฎี หลังจากที่ไอน์สไตน์ค้นพบทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปในปีค.ศ. 1915 เขาก็กลายเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยธรรมดานักสำหรับนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่ง เขาเป็นที่เคารพนับถือในความรู้แจ้งเห็นจริงในจักรวาลซึ่งช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักวิทยาศาสตร์จำนวนมาก กลายเป็นแบบอย่างและสัญลักษณ์ของความฉลาดหรือความอัจฉริยะ ดังคำที่มีผู้ยกย่องเขาว่า “ไอน์สไตน์มีความหมายเดียวกันกับอัจฉริยะ”

ไอน์สไตน์ถือว่าเป็นผู้ที่เรียนรู้ได้ช้าเนื่องจากมีความบกพร่องทางการอ่านเขียน (Dyslexia) แต่เขากลับบอกว่าการพัฒนาทฤษฎีของเขาเป็นผลมาจากความเชื่องช้านี่เอง เพราะเขามีเวลาครุ่นคิดถึงอวกาศและเวลามากกว่าเด็กคนอื่น ในช่วงเริ่มต้นทำงานวิจัยไอน์สไตน์คิดว่ากลศาสตร์ของนิวตันไม่เพียงพอที่จะรวมกฎของกลศาสตร์ดั้งเดิมหรือกลศาสตร์ของนิวตันเข้ากับกฎของสนามแม่เหล็กไฟฟ้าได้ นำไปสู่การคิดค้นพัฒนาทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ ต่อมาเขาได้ขยายทฤษฎีให้ครอบคลุมไปถึงสนามแรงโน้มถ่วงด้วยจึงเกิดเป็นทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปซึ่งใช้อธิบายโครงสร้างของจักรวาลได้ เขายังมีผลงานด้านกลศาสตร์เชิงสถิติและทฤษฎีควอนตัม รวมไปถึงทฤษฎีอนุภาคและการเคลื่อนที่ของโมเลกุล ไอน์สไตน์ได้ตีพิมพ์ผลงานทางวิทยาศาสตร์มากกว่า 300 ชิ้นและงานอื่นที่ไม่ใช่วิทยาศาสตร์อีกกว่า 150 ชิ้น ทุกวันนี้ไอน์สไตน์ยังคงเป็นที่รู้จักดีในฐานะนักวิทยาศาสตร์ที่โด่งดังที่สุดทั้งในวงการวิทยาศาสตร์และนอกวงการ

ผลงานเด่น :

– ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ
– ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป
– ทฤษฎีโฟตอนกับความเกี่ยวพันระหว่างคลื่นและอนุภาค
– ทฤษฎีควอนตัมเกี่ยวกับการเคลื่อนที่ของอะตอมในของแข็ง

วาทะเด็ด :

– “Imagination is more important than knowledge.” → จินตนาการสำคัญกว่าความรู้
– “Politics is for the present, but an equation is for eternity.” → การเมืองนั้นแสนสั้น แต่สมการคงอยู่ชั่วนิรันดร์

albert-einstein-2

 

2. นิโคลา เทสลา (Nikola Tesla)nikola-tesla-1

นิโคลา เทสลา (ค.ศ. 1856 – 1943) เป็นนักประดิษฐ์ นักฟิสิกส์ และวิศวกรไฟฟ้าชาวเซอร์เบียน-อเมริกัน เป็นผู้สร้างนวัตกรรมล้ำยุคที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่ง สิทธิบัตรของเทสลาและผลงานเชิงทฤษฎีของเขากลายเป็นพื้นฐานของระบบไฟฟ้ากระแสสลับที่ใช้งานทั่วโลกในปัจจุบันได้แก่ ระบบจ่ายกำลังหลายเฟส และมอเตอร์ไฟฟ้ากระแสสลับ เป็นผู้ประดิษฐ์และค้นพบเทคโนโลยีใหม่มากมาย เช่น ขดลวดเทสลา (Tesla coil) เครื่องวัดความเร็วติดรถยนต์ เครื่องกระจายเสียงผ่านวิทยุ วิธีการเปลี่ยนสนามแม่เหล็กเป็นสนามไฟฟ้าซึ่งเป็นที่มาของหน่วยวัดสนามแม่เหล็กเทสลาซึ่งวิศวกรรุ่นหลังตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่เขา นอกจากนี้เขายังได้ศึกษาค้นคว้าเทคโนโลยีล้ำยุคเรื่องการส่งผ่านพลังงานแบบไร้สายหรือเทคโนโลยี wireless ที่ปัจจุบันกำลังเฟื่องฟู

เทสลาเป็นนักประดิษฐ์ยุคเดียวกันเอดิสันแถมยังเป็นคู่แข่งกัน เอดิสันสนับสนุนการใช้ไฟฟ้ากระแสตรงส่วนเทสลาพัฒนาไฟฟ้ากระแสสลับจนถึงกับเกิดสงครามกระแสไฟฟ้า (War of Currents) ซึ่งส่งผลต่ออุตสาหกรรมในยุคนั้นอย่างมาก เทสลามีแนวคิดล้ำยุคมีจินตนาการก้าวไกลเกินกว่าผู้คนยุคเดียวกันมาก เช่น เขามีแนวคิดจะทำโลกทั้งใบให้เป็นสื่อนำไฟฟ้าเพื่อให้สามารถส่งกระแสไฟฟ้าไปให้คนทุกคนในโลกได้ใช้กระแสไฟฟ้าอย่างเสรี หรือคิดสร้างอาวุธลำแสงมหาประลัยที่มีอานุภาพร้ายแรงขนาดแยกโลกของเราให้แตกออกเป็นสองส่วนได้ จนถูกเรียกว่านักวิทยาศาสตร์สติเฟื่อง (mad scientist) หลังจากเทสลาเสียชีวิต FBI ได้สั่งทุกฝ่ายว่าเรื่องราวทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับเทสลาต้องถูกจัดการอย่างลับที่สุด และต้องรักษาความลับของสิ่งประดิษฐ์ของเขาให้เป็นความลับตลอดไป นี่คือนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่แต่กลับไม่ค่อยเป็นที่รู้จักเท่ากับผลงานของเขา เขาคือ ‘อัจฉริยะที่โลกลืม’

ผลงานเด่น :

– ประดิษฐ์ขดลวดเทสลา
– ประดิษฐ์มอเตอร์ไฟฟ้ากระแสสลับ
– ประดิษฐ์หลอดฟลูออเรสเซนต์
– คิดค้นวิธีการสื่อสารแบบไร้สาย
– คิดค้นรีโมตคอนโทรล

วาทะเด็ด :

– “If your hate could be turned into electricity, it would light up the whole world.” → หากความเกลียดชังของคุณสามารถเปลี่ยนเป็นกระแสไฟฟ้าได้ มันคงจะทำให้โลกทั้งใบสว่างไสวเลยทีเดียว
– “The scientists of today think deeply instead of clearly. One must be sane to think clearly, but one can think deeply and be quite insane.” → นักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันนี้คิดแบบลึกซึ้งแทนที่จะคิดอย่างชัดแจ้ง คนเราต้องมีสติที่จะคิดอย่างชัดแจ้ง แต่ก็สามารถคิดให้ลึกซึ้งและบ้าคลั่งได้

nikola-tesla-2

 

3. ทอมัส เอดิสัน (Thomas Edison)thomas-edison-1

ทอมัส เอดิสัน (ค.ศ. 1847 – 1931) เป็นยอดนักประดิษฐ์คนสำคัญของโลกชาวอเมริกา ผลงานของเขาหลายชิ้นได้เปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนให้เป็นสังคมสมัยใหม่ เอดิสันเป็นตัวอย่างของคนที่ประสบความสำเร็จด้วยความอุตสาหะขยันหมั่นเพียร เขาแทบจะไม่เคยได้เรียนหนังสือในโรงเรียน แต่ทำการศึกษาค้นคว้าทดลองด้วยตัวเองตั้งแต่วัยเด็กจนถึงบั้นปลายของชีวิต เอดิสันสามารถนำเงินที่ได้จากการขายสิทธิบัตรผลงานที่เขาประดิษฐ์ได้ชิ้นแรกมาสร้างโรงงานที่มีห้องปฏิบัติการวิจัยในตัวซึ่งกลายเป็นต้นแบบของโรงงานอุตสาหกรรมสมัยใหม่ด้วยวัยเพียง 23 ปี

แม้ว่าเอดิสันจะไม่ใช่คนแรกที่ประดิษฐ์หลอดไฟฟ้า แต่เขาเป็นผู้ที่คิดค้นพัฒนาหลอดไฟฟ้าที่ใช้งานตามบ้านเรือนได้สำเร็จ ไม่เพียงเท่านี้เขายังเป็นผู้สร้างโรงจ่ายกระแสไฟฟ้าที่เมืองนิวยอร์ก ลากสายไฟฟ้าไปทั่วเมืองให้ทุกคนมีโอกาสใช้ไฟฟ้าอย่างทั่วถึงกัน และส่งผลให้การใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วโลกเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง เอดิสันเป็นผู้ประดิษฐ์เครื่องบันทึกเสียง, เครื่องบันทึกภาพเคลื่อนไหว ซึ่งต่อมาเขาได้นำมารวมกันกลายเป็นเครื่องถ่ายทำภาพยนตร์ เขายังเป็นผู้ประดิษฐ์แบตเตอรี่ เครื่องผสมปูนซิเมนต์ และสิ่งประดิษฐ์อื่นๆอีกนับพันชิ้น เอดิสันมีสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ภายใต้ชื่อของเขาเป็นจำนวนถึง 1,093 ชิ้น ก่อตั้งบริษัทด้านไฟฟ้าอีกหลายบริษัทรวมทั้งเจเนอรัลอิเล็กทริก (General Electric) บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ของโลก

ผลงานเด่น :

– ประดิษฐ์หลอดไฟฟ้า
– ประดิษฐ์เครื่องบันทึกเสียง
– ประดิษฐ์เครื่องถ่ายภาพเคลื่อนไหว
– ประดิษฐ์แบตเตอรี่

วาทะเด็ด :

– “Genius is one percent inspiration and ninety-nine percent perspiration.” → อัจฉริยะเกิดจากแรงบันดาลใจเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ และอีก 99 เปอร์เซ็นต์คือความอุตสาหะ
– “I have not failed. I’ve just found 10,000 ways that won’t work.” → ผมไม่ได้ล้มเหลวนะ ผมเพิ่งจะพบ 10,000 วิธีที่มันใช้ไม่ได้

thomas-edison-2

 

4. ไลนัส พอลิง (Linus Pauling)linus-pauling-1

ไลนัส พอลิง (ค.ศ. 1901 – 1994) เป็นนักเคมี นักชีวเคมี และนักเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพชาวอเมริกันหนึ่งในผู้ริเริ่มสาขาวิชาเคมีควอนตัมและอณูชีววิทยา เขาตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการกว่า 1,000 ชิ้น พอลิงเป็นคนเดียวในประวัติศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบลเดี่ยว (ไม่ร่วมกับคนอื่น) 2 ครั้ง ผลงานการค้นพบธรรมชาติของพันธะเคมีของเขาเป็นรากฐานสำคัญของวิชาเคมีสมัยใหม่และยังเป็นพื้นฐานของวิชาชีววิทยาโมเลกุลอีกด้วย ผลงานนี้ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมี พอลิงยังมีผลงานการศึกษากลศาสตร์ควอนตัมและเป็นคนแรกๆที่ประยุกต์ทฤษฎีควอนตัมมาใช้กับโครงสร้างของโมเลกุล นอกจากนี้เขายังศึกษาเกี่ยวกับโมเลกุลของสารอินทรีย์รวมทั้งโครงสร้างของ DNA และงานของเขามีส่วนสำคัญต่อการค้นพบแบบจำลองโมเลกุลของ DNA ที่ถูกต้องในเวลาต่อมา

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 พอลิงให้ความช่วยเหลือกองทัพสหรัฐด้วยพัฒนาน้ำเลือดพลาสมาสังเคราะห์เพื่อใช้ในการถ่ายเลือดฉุกเฉินในสถานการณ์สู้รบ และออกแบบเครื่องวัดออกซิเจนเพื่อใช้ในเรือดำน้ำและเครื่องบิน หลังสงครามเครื่องมือดังกล่าวถูกดัดแปลงใช้กับตู้อบเด็กทารกและผู้ป่วยผ่าตัด แต่หลังสงครามพอลิงร่วมกับอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ตั้งกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ด้านนิวเคลียร์เพื่อเตือนสาธารณชนถึงอันตรายในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และต่อต้านการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ เขาต่อสู้เรื่องนี้อย่างจริงจังจนถูกรัฐบาลยกเลิกพาสปอร์ตทำให้เขาออกนอกประเทศไม่ได้ รวมทั้งถูกเรียกตัวให้ไปชี้แจงกับสภาคองเกรส แต่ในที่สุดเขาก็ประสบความสำเร็จ พอลิงได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพสำหรับการทำงานต่อสู้เพื่อห้ามการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ เขาได้รับรางวัลนี้ในวันเดียวกับที่สนธิสัญญาห้ามทดลองอาวุธนิวเคลียร์มีผลบังคับใช้

ผลงานเด่น :

– ค้นพบธรรมชาติของพันธะเคมี
– ริเริ่มสาขาเคมีควอนตัมและอณูชีววิทยา
– รางวัลโนเบลสาขาเคมี
– รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ

วาทะเด็ด :

– “The best way to have a good idea is to have a lot of ideas” → วิธีที่ดีที่สุดในการมีไอเดียที่ดีคือการมีไอเดียจำนวนมากๆ
– “Satisfaction of one’s curiosity is one of the greatest sources of happiness in life” → ความพึงพอใจในความอยากรู้อยากเห็นของคนเป็นหนึ่งในแหล่งที่มาของความสุขที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต

linus-pauling-2

 

5. ริชาร์ด ไฟน์แมน (Richard Feynman)richard-feynman-1

ริชาร์ด ไฟน์แมน (ค.ศ. 1918 – 1988) เป็นนักฟิสิกส์ทฤษฎีชาวอเมริกันผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นนักฟิสิกส์ที่ทรงคุณค่าและมีอิทธิพลมากที่สุดหลังยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ผลงานสำคัญของเขาคือการพัฒนาทฤษฎีพลศาสตร์ไฟฟ้าควอนตัม (Quantum Electrodynamics) หรือ QED ไฟน์แมนคิดค้นแผนภาพ Feynman Diagram และเทคนิค Feynman Path Integrals ขึ้นมาเพื่อใช้อธิบายและแก้ปัญหา QED อย่างได้ผล ทำให้ QED มีการพัฒนาอย่างกว้างขวางและมีความสมบูรณ์ ผลงานนี้ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ไฟน์แมนยังมีผลงานด้านฟิสิกส์เกี่ยวกับสภาพของไหลยิ่งยวดของฮีเลียมเหลวและฟิสิกส์อนุภาคอีกด้วย รวมทั้งมีบทบาทสำคัญในโครงการแมนฮัตตันที่สร้างระเบิดปรมาณูเป็นผลสำเร็จ เขาเป็นผู้ที่มีความคิดกว้างไกล เมื่อ 60 ปีก่อนได้เสนอแนวคิดการผลิตในระดับอะตอมที่เขามองเห็นถึงศักยภาพและความเป็นไปได้ซึ่งปัจจุบันกำลังเจริญรุ่งเรืองคือนาโนเทคโนโลยี จนเขาได้รับการยกย่องเป็นบิดาแห่งนาโนเทคโนโลยี

ไฟน์แมนเป็นผู้ที่มีบุคลิกโดดเด่นซึ่งแตกต่างจากนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ เขาชอบวาดรูป เขียนหนังสือ เล่นละคร และที่ชอบเป็นพิเศษคือการตีกลองบองโก เป็นคนอารมณ์ดีสอนหนังสือได้สนุกสนานมีชีวิตชีวา สามารถอธิบายทฤษฏียากๆอย่างทฤษฎีพลศาสตร์ไฟฟ้าควอนตัมให้เด็กชั้นมัธยมปลายเข้าใจได้ เป็นอาจารย์ฟิสิกส์ในฝันของนักเรียนทุกคน บันทึกการสอนต่างๆของเขากลายมาเป็นชุดตำราฟิสิกส์ชื่อ Feynman Lectures on Physics ที่รู้จักกันดีทั่ววงการฟิสิกส์โลก ไฟน์แมนมีชีวิตรักที่ทั้งประทับใจและเศร้าสะเทือนใจจนมีการนำเรื่องราวของเขาไปสร้างภาพยนต์เรื่อง “Infinity” ก่อนเสียชีวิตไม่นานไฟน์แมนยังได้แสดงความอัจฉริยะอีกครั้งจากการไขปริศนาการระเบิดของกระสวยอวกาศแชลเลนเจอร์ซึ่งเป็นที่ยอมรับและถูกนำไปใช้ปรับปรุงการสร้างยานอวกาศรุ่นต่อมา

ผลงานเด่น :

– คิดค้นแผนภาพ Feynman Diagram
– คิดค้นเทคนิค Feynman Path Integrals
– รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์

วาทะเด็ด :

– “The first principle is that you must not fool yourself and you are the easiest person to fool.” → หลักการแรกคือคุณต้องไม่หลอกตัวเอง และคุณเป็นคนที่ง่ายที่สุดที่จะหลอก
– “Physics is like sex: sure, it may give some practical results, but that’s not why we do it.” → ฟิสิกส์ก็เหมือนกับเซ็กส์ แน่นอนว่ามันอาจจะให้ผลลัพธ์ที่ใช้งานได้จริง แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่เราทำ

richard-feynman-2

 

6. อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ (Alexander Graham Bell)alexander-graham-bell-1

อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ (ค.ศ. 1847 – 1922) เป็นนักประดิษฐ์และนักวิทยาศาสตร์ชาวสกอตแลนด์-อเมริกันผู้ประดิษฐ์โทรศัพท์และได้รับสิทธิบัตรเป็นคนแรก ผลงานนี้ได้สร้างความเจริญก้าวหน้าในการติดต่อสื่อสารของมนุษย์ชนิดพลิกโลก ทั้งในแง่ความสะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย จนทำให้โทรศัพท์กลายเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดอย่างหนึ่งของมนุษย์ตั้งแต่ตอนนั้นจนถึงปัจจุบัน เบลล์ได้อุทิศเวลาและทุ่มเทความพยายามในการทำวิจัยและทำการทดลองประดิษฐ์เครื่องช่วยฟังเสียงสำหรับคนหูหนวกและการส่งสัญญาณเสียงผ่านเส้นลวดมานานหลายปี ในที่สุดเขาก็สามารถสร้างสิ่งประดิษฐ์ในฝันของคนสมัยนั้นได้เป็นผลสำเร็จและได้รับสิทธิบัตรเป็นคนแรกในปี 1876

เบลล์ได้ก่อตั้งบริษัทเอทีแอนด์ที (AT&T Inc.) เพื่อให้บริการระบบโทรศัพท์ที่เขาเป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้นซึ่งต่อมากลายเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมของสหรัฐอเมริกาและของโลก นอกจากนี้เบลล์ยังได้ประดิษฐ์โทรศัพท์แบบไร้สายซึ่งส่งสัญญาณผ่านลำแสงที่เรียกว่า Photophone เขายังเป็นผู้พัฒนาเครื่องตรวจจับโลหะ (Metal Detector) รุ่นแรกๆ รวมทั้งประดิษฐ์เรือไฮโดรฟอยล์ (Hydrofoil) ที่เคยเป็นเจ้าของสถิติโลกความเร็วทางน้ำนาน 2 ทศวรรษอีกด้วย หน่วยวัดระดับความดังของเสียงซึ่งเดิมเรียกว่า Transmission Unit (TU) ได้ถูกปรับเปลี่ยนและเรียกชื่อใหม่เป็นเดซิเบล (Decibel – dB) ตามชื่อของเบลล์เพื่อเป็นเกียรติแก่ยอดนักประดิษฐ์คนเก่งผู้นี้

ผลงานเด่น :

– ประดิษฐ์โทรศัพท์

วาทะเด็ด :

– “The achievement of one goal should be the starting point of another.” → ความสำเร็จของเป้าหมายหนึ่งควรเป็นจุดเริ่มต้นของอีกเป้าหมายหนึ่ง

alexander-graham-bell-2

 

7. ราเชล คาร์สัน (Rachel Carson)rachel-carson-1

ราเชล คาร์สัน (ค.ศ. 1907 – 1964) เป็นนักชีววิทยาทางทะเลและนักอนุรักษ์ชาวอเมริกันผู้สร้างแรงกระตุ้นผ่านทางหนังสือของเธอทำให้เกิดการรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมอย่างกว้างขวางไปทั่วประเทศสหรัฐอเมริกาและทั่วโลก คาร์สันเริ่มเขียนหนังสือตั้งแต่ยังเป็นนักชีววิทยาที่สำนักประมงสหรัฐ ผลงานเล่มแรก Under the Sea Wind ที่เขียนถึงพฤติกรรมของปลาและนกทะเลยังไม่ค่อยได้รับความนิยม แต่เล่มถัดมา The Sea Around Us ที่เขียนเกี่ยวกับชีววิทยาทางทะเลตั้งแต่ยุคแรกเริ่มถึงล่าสุด กลายเป็นหนังสือขายดีติดอันดับและได้รับรางวัลหนังสือแห่งชาติประจำปี 1952 และส่งผลให้หนังสือเล่มแรกเป็นหนังสือขายดีไปด้วย และยังตามมาด้วยหนังสือเล่มที่สาม The Edge of the Sea ซึ่งเป็นหนังสือขายดีเช่นกัน

คาร์สันใช้เวลาหลายปีในการศึกษาวิจัยผลกระทบและอันตรายที่เกิดจากการใช้สารเคมีกำจัดแมลงและศัตรูพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฉีดสเปรย์ DDT ซึ่งกำลังเป็นที่นิยม จากนั้นเธอได้เขียนหนังสือเล่มสำคัญที่สุด Silent Spring ซึ่งได้อธิบายจนเห็นภาพชัดถึงอันตรายของสารเคมีที่ใช้กำจัดศัตรูพืชแต่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ต่อสัตว์อื่นที่ไม่ใช่เป้าหมายการกำจัด รวมทั้งต่อมนุษย์เองด้วย หนังสือเล่มนี้ทำให้เกิดการโต้เถียงครั้งใหญ่ของผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายและก่อให้เกิดกระแสต่อต้านการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช จนรัฐบาลสหรัฐได้ก่อตั้งหน่วยงาน EPA ขึ้นมาเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของประเทศ และทำให้เกิดการรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมอย่างกว้างขวางทั่วโลก ผลงานของคาร์สันนับว่าได้สร้างคุณประโยชน์ต่อชาวโลกอย่างมาก

ผลงานเด่น :

– เขียนหนังสือ Silent Spring ที่กระตุ้นให้เกิดการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทั่วโลก
– เขียนหนังสือเกี่ยวกับชีววิทยาทางทะเลหลายเล่ม

วาทะเด็ด :

– “But man is a part of nature, and his war against nature is inevitably a war against himself.” → แต่มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ, และการทำสงครามกับธรรมชาติของมนุษย์ก็คือการทำสงครามกับตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

rachel-carson-2

 

8. สองพี่น้องตระกูลไรต์ (Wright Brothers)wright-brother-1

สองพี่น้องตระกูลไรต์ ได้แก่ ออวิลล์ ไรต์ (ค.ศ. 1867 – 1912) และ วิลเบอร์ ไรต์ (ค.ศ. 1871 – 1948) เป็นนักบิน วิศวกร และนักประดิษฐ์ชาวอเมริกันผู้ประดิษฐ์เครื่องบินและนำขึ้นบินสำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก สองพี่น้องตระกูลไรต์ที่เรียนจบแค่ชั้นมัธยม ไม่ได้รับประกาศนียบัตรด้วยซ้ำ ใช้เวลาว่างจากอาชีพการเป็นเจ้าของโรงพิมพ์และโรงงานจักรยานมาทำให้ความฝันอันยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติที่ต้องการบินไปในอากาศได้อย่างนกมาตลอดหลายศตวรรษกลายเป็นจริง ด้วยความกล้าหาญและมานะพยายามพวกเขาได้ทำการศึกษาอย่างจริงจัง สร้างเครื่องบินต้นแบบหลายรุ่น ทำการทดลองบินนับพันครั้ง ผ่านการล้มเหลวมากมายเสียจนเกือบท้อ จนในที่สุดในปี 1903 พวกเขาก็สามารถนำเครื่องบิน Flyer I ขึ้นบินได้สำเร็จเป็นครั้งแรกด้วยระยะการบินแค่ 37 เมตรในเวลา 12 วินาที

สองพี่น้องตระกูลไรต์ปรับปรุงเครื่องบินของเขาเรื่อยมาจนถึงปี 1905 พวกเขาใช้เครื่องบิน Flyer III บินในอากาศได้ไกลถึง 39 กม.ในเวลา 38 นาที เมื่อรัฐบาลสหรัฐยอมรับและให้พวกเขาจดสิทธิบัตรรวมทั้งยังสั่งซื้อเครื่องบินจากพวกเขา หลังจากนั้นก็เป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจการบินที่แพร่กระจายไปทั่วโลกและทำให้การเดินทางด้วยเครื่องบินโดยสารเป็นการเดินทางที่รวดเร็วและปลอดภัยที่สุด ออวิลล์และวิลเบอร์ตั้งบริษัทผลิตเครื่องบินและโรงเรียนสอนนักบินซึ่งน่าจะเติบโตเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ได้ แต่น่าเสียดายที่วิลเบอร์ป่วยเป็นไข้ไทฟอยด์เสียชีวิตในปี 1912 ด้วยวัยเพียง 45 ปี ส่วนออวิลล์ซึ่งไม่ถนัดการทำธุรกิจจึงขายบริษัทแล้วไปเป็นคณะกรรมการการบินแห่งชาติ (NACA) ที่ต่อมากลายเป็นองค์การนาซานานถึง 28 ปี

ผลงานเด่น :

– ประดิษฐ์เครื่องบิน
– นำเครื่องบินขึ้นบินได้สำเร็จเป็นครั้งแรก

วาทะเด็ด :

– “If birds can glide for long periods of time, then… why can’t I?” → ถ้านกสามารถเหินบินเป็นเวลานานได้, แล้ว … ทำไมผมถึงจะทำไม่ได้?

wright-brother-2

 

9. อี โอ วิลสัน (E. O. Wilson)e-o-wilson-1

อี โอ วิลสัน (ค.ศ. 1929 – ปัจจุบัน) เป็นนักชีววิทยาชาวอเมริกันผู้เชี่ยวชาญเรื่องมด, ชีววิทยาสังคม และความหลากหลายทางชีวภาพ วิลสันเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดนาน 40 ปี ศึกษาวิวัฒนาการของมดและการพัฒนาไปสู่สปีชีส์ใหม่ เขาเป็นผู้คนพบวิธีการติดต่อสื่อสารของมดด้วยสารฟีโรโมน วิลสันศึกษาวิจัยและพัฒนาทฤษฎีเกี่ยวกับชีวภูมิศาสตร์และทฤษฎีด้านระบบนิเวศวิทยา เขามีผลงานการศึกษาด้านชีววิทยาสังคมทั้งของสัตว์และมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับยีนส์

ผลงานของวิลสันที่สร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างคือการเขียนหนังสือ เขาตีพิมพ์หนังสือจากผลงานการค้นคว้าวิจัยของเขาจำนวนมาก ได้แก่ The Theory of Island Biogeography, Sociobiology: The New Synthesis รวมทั้งหนังสือเล่มดัง On Human Nature ที่เขียนเกี่ยวกับบทบาทของชีววิทยาในวิวัฒนาการของวัฒนธรรมของมนุษย์และ The Ants ที่เขียนเกี่ยวกับพฤติกรรมของมดซึ่งทำให้เขาได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ (Pulitzer Prizes) ถึง 2 ครั้ง วิลสันยังมีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการรณรงค์ห้ามตัดไม้ทำลายป่าเพื่อรักษาระบบนิเวศและความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต วิลสันได้รับยกย่องเป็น “บิดาแห่งชีววิทยาสังคม” และ “บิดาแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ”

ผลงานเด่น :

– วิวัฒนาการและพฤติกรรมของมด
– ทฤษฎีชีวภูมิศาสตร์และนิเวศวิทยา
– รางวัลพูลิตเซอร์ 2 ครั้ง

วาทะเด็ด :

– “Nature holds the key to our aesthetic, intellectual, cognitive and even spiritual satisfaction.” → ธรรมชาติกุมหัวใจสำคัญของความพึงพอใจในด้านสุนทรียศาสตร์, ภูมิปัญญา, ความรู้ความเข้าใจ และแม้กระทั่งจิตวิญญาณของพวกเรา

e-o-wilson-2

 

10. เจมส์ วัตสัน (James Watson)james-watson-1

เจมส์ วัตสัน (ค.ศ. 1928 – ปัจจุบัน) เป็นนักอณูชีววิทยาชาวอเมริกันหนึ่งในผู้ค้นพบโครงสร้างโมเลกุลของดีเอ็นเอของสิ่งมีชีวิต วัตสันทำการศึกษาหาโครงสร้างของดีเอ็นเอร่วมกับ Francis Crick โดยอาศัยข้อมูลสำคัญในภาพถ่ายจากเครื่องวิเคราะห์การเลี้ยวเบนของรังสีเอ็กซ์ของ Rosalind Franklin ผู้กำลังศึกษาเรื่องเดียวกันอยู่กับ Maurice Wilkins วัตสันกับ Crick คิดค้นจนได้ข้อสรุปว่าดีเอ็นเอมีโครงสร้างเป็นสายพันกันเป็นเกลียวคู่ (double helix) เวียนขวาตามเข็มนาฬิกา โดยมีคู่เบสเชื่อมยึดระหว่างสาย มีลักษณะคล้ายบันไดเวียน ผลงานนี้ทำให้วัตสันและ Crick ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ และเป็นจุดเปลี่ยนทางวิทยาศาสตร์เมื่อความเข้าใจของมนุษย์เกี่ยวกับพื้นฐานของชีวิตมีการเปลี่ยนแปลง ถือเป็นการเริ่มต้นยุคใหม่ของชีววิทยา

นอกเหนือจากผลงานการทำวิจัยในฐานะนักอณูชีววิทยาแล้ววัตสันยังมีผลงานที่โดดเด่นคือการเขียนหนังสือ เขาตีพิมพ์หนังสือหลายเล่มที่ประสบความสำเร็จอย่างมากคือหนังสือ The Double Helix ซึ่งได้รับการยกย่องเป็นหนังสือยอดเยี่ยมลำดับต้นๆแห่งศตวรรษที่ 20 วัตสันยังมีบทบาทสำคัญในโครงการจีโนมมนุษย์ซึ่งเป็นการจัดทำแผนที่ของจีโนมหรือดีเอ็นเอทั้งหมดของมนุษย์อย่างละเอียด อีกทั้งจีโนมของตัววัตสันเองยังได้รับการเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ตเป็นคนแรกๆอีกด้วย วัตสันเป็นอีกคนหนึ่งที่ได้สร้างประโยชน์ให้กับวงการชีววิทยาเป็นอย่างมาก

ผลงานเด่น :

– ค้นพบโครงสร้างโมเลกุลดีเอ็นเอ
– รางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์
– หนังสือ The Double Helix

วาทะเด็ด :

– “Knowing “why” (an idea) is more important than learning “what” (the fact).” → การรู้ว่า “ทำไม” (ความคิด) สำคัญกว่าการเรียนรู้ว่า “อะไร” (ความจริง)

james-watson-2

 

ข้อมูลและภาพจาก   wikipedia, biography, britannica

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *